ตลาดขนมขบเคี้ยวกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยขนมที่ถูกบรรจุในถุงหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ขนมซอง (bagged snacks)” มียอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่คงที่ ซึ่งความนิยมที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากการขยายตัวของบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ เช่น Netflix ซึ่งทำให้ขนมทานเล่นกลายเป็นเพื่อนรู้ใจที่ขาดไม่ได้ขณะดูซีรีส์แบบมาราธอน ในยุคการระบาดของ COVID-19

จากการสำรวจโดย Statista คาดการณ์ว่า ตลาดขนมทานเล่นทั่วโลกจะเติบโตขึ้นอีกร้อยละ 7.2 ในปี 2567 เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 5.78 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดขนมทานเล่นในเกาหลีใต้กำลังตามกระแสตลาดโลกมาติดๆ และแสดงให้เห็นสัญญาณของการเจริญเติบโตอย่างชัดเจน ข้อมูลจากผู้ผลิตอาหารและขนมรายใหญ่ของเกาหลี บริษัท SPC Samlip จำกัด พบว่า ขนมพายสไตล์อิตาลี NUNEDDINE ขนมปังกระเทียมอบกรอบ และ คุกกี้ยักกวา (ขนมหวานพื้นเมืองของเกาหลี) มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ซึ่งการขยายตัวของตลาดขนมทานเล่นในโลกส่งผลให้การส่งออกของบริษัทขยายตัวถึงร้อยละ 10 สินค้าอาหารทานเล่นจึงขึ้นแท่นเป็นสินค้าที่มีกำไรงาม

เทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงในเกาหลีใต้ ที่จะเน้นทั้งความชอบ (Pleasure) โดยใส่ใจถึงสุขภาพ (Healthy)  ไปพร้อมกัน หรือเรียกสั้นๆ ว่า Healthy Pleasure กำลังเข้ามามีบทบาทในการขยายตัวของยอดขายอาหาร บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารหลายแห่งกำลังพัฒนาสินค้าขนมทานเล่นที่เพิ่มโปรตีน เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เป็นตั้งแต่รุ่นเด็กไปสู่ผู้สูงอายุ

Pulmuone แบรนด์สินค้าอาหารรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ได้เปิดตัวแบรนด์ขนมเพื่อสุขภาพชื่อ Soya Snack ในปี 2566 และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากใช้วัตถุดิบในประเทศมาผลิตเต้าหู้และสารสกัดน้ำนัตโตะ เช่นเดียวกับ Hatai Confectionery ที่กำลังบุกตลาด Healthy Pleasure โดยออกผลิตภัณฑ์ขนมถั่วลันเตาอบกรอบ Snack Pea Crisp และกำลังประสบความสำเร็จในกลุ่มผู้รักสุขภาพ

ด้วยเหตุดังกล่าว ร้านสะดวกซื้อในเกาหลีจึงใช้โอกาสจากแนวโน้มการขยายตัวการบริโภคขนมขบเคี้ยวและของทานเล่นที่เพิ่มขึ้น ออกสินค้าหลากหลายชนิดที่พัฒนาร่วมกับบริษัทต่างๆ ในการนี้ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับขนมและของทานเล่นเป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 10 – 20 ปี ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ของเกาหลี ร้าน G25 ได้ร่วมมือกับ Netflix เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 จำหน่ายสินค้าป๊อปคอร์นรสเห็ดทรัฟเฟิล (Netflix Truffle Popcorn) ซึ่งสินค้านี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และมียอดขายถึง 300,000 ซองภายในหนึ่งเดือนหลังจากที่เริ่มออกวางจำหน่ายครั้งแรก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา สินค้าที่สามารถเติบโตสวนกระแสตลาดสินค้าอื่นๆ คือ สินค้าอาหาร ซึ่งรวมถึงสินค้าอาหารประเภทขนม แม้ ขนมขบเคี้ยวและของทานเล่นจะไม่ทำให้อิ่มท้องและมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เทียบเท่ากับอาหารมื้อหลัก และที่ผ่านมา อาจจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพเท่าไหร่นัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ติดการบริโภคขนมทานเล่นและของขบเคี้ยวดังกล่าว จึงมีผู้ผลิตเกาหลีใต้หลายรายที่จับเทรนด์ดังกล่าว โดยพัฒนาขนมทานเล่นให้อร่อยและใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงทำความร่วมมือกับคู่ค้ารายใหม่ๆ ในการพัฒนาสินค้าร่วมกัน

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าอาหารมาเกาหลีใต้ ควรที่จะติดตามเทรนด์สินค้าอาหาร และแนวโน้มการบริโภคของคนเกาหลี ซึ่งได้แก่ สินค้าขนมขบเคี้ยว ขนมเพื่อสุขภาพ หรือสินค้าอาหารที่แคลอรี่ต่ำแต่ยังคงรสชาติอร่อย และเทรนด์ดูแลสุขภาพแบบ Healthy Pleasure เป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยควรรีบพัฒนาเพื่อจะได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเกาหลี และอาจพิจารณาใช้ช่องทางร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ที่เข้าถึงทุกกลุ่มอายุ โดยร่วมมือกับพัฒนาสินค้าและจัดจำหน่ายในร้านดังกล่าวด้วย

thThai