หวั่นวิกฤตทะเลแดงยืดเยื้อดันราคาสินค้าในตะวันออกกลางพุ่ง

บริษัทวิจัย BMI ในเครือบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Solutions ชี้หากวิกฤตในทะเลแดงยังคงดําเนินต่อไปอีกสองเดือน จะเห็นราคาสินค้าในตะวันออกกลางแพงขึ้น

นับตั้งแต่ที่กลุ่ม Houthi ในเยเมนโจมตีและยึดเรือสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอล ซึ่งแล่นผ่าน ช่องแคบ Bab-el-Mandeb ในทะเลแดง เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2566 โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ แสดงการต่อต้านอิสราเอลที่ทำสงครามในฉนวนกาซา

  • การโจมตีของ Houthi ทําให้ค่าขนส่งสูงขึ้น
  • 82% ของการนําเข้าในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความเสี่ยง
  • ภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนสินค้า

การเดินเรือทะเลขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าของโลกร้อยละ 30 โดยประมาณผ่านทะเลแดง อีกทั้ง    ยังเป็นช่องทางเดินเรือส่งออกสินค้าสำคัญ ของประเทศที่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเกือบทั้งหมดในตะวันออกกลาง ขณะนี้ประมาณร้อยละ 90 ของเรือเหล่านั้นกําลังเปลี่ยนเส้นทางใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในช่องแคบ Bab Al Mandeb ระหว่างประเทศเยเมนและประเทศจิบูตี  เพราะเป็นเส้นทางสําคัญสําหรับเรือในการเข้าถึงคลองสุเอซและขนส่งสินค้าระหว่างยุโรปและเอเชีย

ทะเลแดง (Red Sea) เป็นเส้นทางเดินเรือที่สําคัญของโลกและประเทศตะวันออกกลาง ที่ต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางจากคลองสุเอซมาใช้เส้นทางแหลม Good Hope ในแอฟริกา ที่เพิ่มระยะทางเวลาขนส่งประมาณ 10-15 วัน และค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น 1.89-2.42 เท่า อนาคตอันใกล้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นการปรับราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่อาศัยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศสมาชิก GCC

BMI กล่าวว่าสัดส่วนร้อยละ 81.6 (ประมาณ 229 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ของการนําเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคในตะวันออกกลาง ต้องเผชิญกับการหยุดชะงักของการขนส่งในทะเลแดง เนื่องจากสินค้าเหล่านั้นถูกขนส่งโดยใช้ทางลัดคลองสุเอซที่สําคัญระหว่างตลาดเอเชียและยุโรป ดังนั้นตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากราคาอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น เนื่องจากวิกฤตทะเลแดงทําให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักและผลักดันต้นทุนการขนส่งให้สูงขึ้น

นาง Jordan Poulter นักวิเคราะห์ผู้บริโภคอาวุโสของ BMI กล่าวว่าวิกฤตนี้นํามาซึ่งความเสี่ยงหลักสองประการของผู้บริโภค ประการที่หนึ่ง คือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลมาจากค่าขนส่งที่สูงขึ้นในทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ต้นทุนต่ำ และทําให้บริษัทต่างๆ เปลี่ยนไปใช้วิธีการขนส่งทางเลือก หรือแม้แต่เปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ความเสี่ยงประการที่สองคือการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเส้นทางการเดินเรือที่ยาวขึ้น ทําให้เกิดความล่าช้าและปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน การชะลอตัวของการผลิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงตรุษจีนสองสัปดาห์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ จะส่งผลกระทบต่อความพร้อมของผลิตภัณฑ์เช่นกัน ทําให้ราคาสุดท้ายสูงขึ้น

สอดคล้องกับนาย Jan Hoffmann หัวหน้าฝ่าย Trade Logistics  ของ UNCTAD แถลงต่อสื่อมวลชนผ่านทางวิดีโอจากนครเจนีวา ว่าการหยุดชะงักในทะเลแดงยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้กับการขนส่งทางทะเล ในขณะที่เส้นทางขนส่งผ่านทะเลดำได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน ส่วนคลองปานามาก็กำลังเผชิญวิกฤตระดับน้ำต่ำอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้ราคาผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้น “เรากังวลว่าเหตุโจมตีในทะเลแดงจะยิ่งซ้ำเติมการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว การหยุดชะงักเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของการค้าโลก”

UNCTAD ระบุว่า   การขนส่งสินค้าทางทะเลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของการค้าทั่วโลก และสัดส่วนนี้สูงขึ้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งกำลังเผชิญกับค่าขนส่งทางทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น   วิกฤตในทะเลแดงส่งผลให้การขนส่งธัญพืชและสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญจากยุโรป รัสเซีย และยูเครน เกิดการหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น และเสี่ยงกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากยุโรปและบริเวณทะเลดำ

ผลกระทบต่อประเทศในตะวันออกกลาง

  • ทำให้เกิดผลกระทบวิกกฤตเกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าพวกน้ำมันดิบ ธัญพืช และสินค้าอื่นๆที่จะส่งออกไปกลุ่มประเทศอเมริกาและยุโรป
  • ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ปาเลสไตน์ อิสราเอล อิรัก เยเมน และเลบานอน
  • ประเทศที่ได้รับผลกระทบปานกลาง ได้แก่ อียิปต์ จอร์แดน และ อิหร่าน
  • ประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มประเทศ GCC  ตุรเคีย มอร็อคโค และปากีสถาน
  • ผู้นำเข้าสินค้าในยูเออี ทำการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าจากผู้ส่งออกจากกลุ่มประเทศในยุโรป

และสหรัฐฯ พยายามต่อรองล็อกค่าขนส่งสินค้า และสต็อกสินค้าไว้ขาย เพื่อจัดส่งให้ลูกค้าในเดือน Ramadan และเทศกาล EID Al Fitr ช่วงประมาณวันที่ 9 มี.ค.-11 เม.ย 2567

ผลกระทบการส่งออกไทยไปตะวันออกกลาง

  • ภาพรวมการส่งออกสินค้าไปตลาดตะวันออกกลาง 15 ประเทศ ในปี 2566 มีมูลค่า 1,1167 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.6 ประเทศหลักที่ส่งออกตามลำดับสัดส่วน ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  20%  ซาอุดีอาระเบีย 23.9%  ตุรเคีย 13.8%  อิรัก 8.0%  อิสราเอล 6.9%  โอมาน 3.9%  คูเวต 3.7%  กาตาร์ 2.9%  เยเมน 2.0%  จอร์แดน 1.8%  บาห์เรน 1.5%  อิหร่าน 1.2%  เลบานอน 1.2%  ซีเรีย 0.2% และปาเลสไตน์ 0.02%  โดยสินค้าส่งออกหลักจะเป็น รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้ากสิกรรม อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ปลากระป๋อง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และสิ่งทอ
  • การส่งออกสินค้าไทยไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น จอร์แดน อิสราเอล อียิปต์และปาเลสไตน์ ผ่านเส้นทางทะเลแดงและคลองสุเอซคิดเป็นสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 10  ส่วนประเทศอื่นที่เหลือ เช่น กลุ่ม GCC (6ประเทศ) อิหร่าน เยเมน และอิรัก  จะขนส่งผ่านทะเลอาหรับ ( Arabian Sea) บริเวณทางเหนือของมหาสมุทรอินเดีย ผ่านเข้าอ่าวอาหรับ และผ่านท่าเรือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังประเทศ    ในตะวันออกกลางอื่นๆ  ดังนั้นภาพรวมการส่งออกไปตะวันออกกลาง น่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากนัก
  • ผู้ประกอบการของไทยที่ส่งออกสินค้าไปตะวันออกกลาง อาจได้รับโอกาสมากขึ้นในการขายสินค้า เนื่องจากผู้ส่งออกในยุโรปติดปัญหาเรื่องค่าขนส่ง การจัดส่งสินค้าไปยูเออีและประเทศตะวันออกกลาง  อาจทำให้ผู้นำเข้าหันมาสั่งสินค้าจากประเทศไทยทดแทน

 

—————————————————————————–

 

thThai