Formland เป็นงานแสดงสินค้าของใช้ ของขวัญ ของตกแต่งบ้าน และสินค้าแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของเดนมาร์ก เป็นงานเพื่อการเจรจาธุรกิจ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า MCH Messecenter Herning เมือง Herning เดนมาร์ก ห่างจากกรุงโคเปนเฮเกน 3.30 ชั่วโมงโดยรถยนต์ เป็นแหล่งศูนย์รวมผู้ซื้อ เอเจ้นท์ ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ผู้นำเข้า นักออกแบบ ผู้ผลิต สื่อมวลชน และบุคคลในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากในและต่างประเทศ มีบริษัทผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 350 บริษัทจากหลากหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ของบริษัทผู้เข้าร่วมออกงานเป็นบริษัทผู้ประกอบการจากเดนมาร์ก
กลุ่มสินค้าที่จัดแสดงในงานประกอบด้วย
1) โคมไฟ (32 บริษัท)
2) เฟอร์นิเจอร์ (42 บริษัท)
3) ของตกแต่งบ้าน (116 บริษัท)
4) แฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า อัญมณี และเครื่องประดับ (62 บริษัท)
5) ศิลปะ (42 บริษัท)
6) อาหาร และเครื่องดื่ม (49 บริษัท)
7) สินค้าตกแต่งสวน (61 บริษัท)
8) Seasonal products (78 บริษัท)
งานแสดงสินค้า Formland จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2527 และจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้งคือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (สำหรับคอลเล็คชั่นฤดูใบไม้ผลิ/หน้าร้อน Spring/Summer ของปีถัดไป) และสิงหาคม (สำหรับคอลเล็คชั่นฤดูใบไม้ร่วง/หน้าหนาว Autumn/Winter ของปีถัดไป) ของทุกปี เป็นงานเฉพาะการเจรจาธุรกิจจำนวน 3 วัน ไม่มีการจำหน่ายสินค้าปลีกภายในงาน ผู้เข้าร่วมชมงานสามารถลงทะเบียนผ่านเวปไซต์ www.formland.com เพื่อเข้าร่วมชมงาน โดยมีค่าใช้จ่าย จำนวน 200 โครนเดนมาร์ก/คน (ประมาณ 1,000 บาท) ซึ่งงานแสดงสินค้า Formland ครั้งที่ผ่านมานี้ เป็นการแสดงสินค้าคอลแล็คชั่น Formland Spring 2024 มีผู้เข้าร่วมชมงานประมาณ 8,000 รายตลอดการจัดงาน โดยงานฯ แบ่งการจัดแสดงสินค้าออกเป็น 9 ส่วน ได้แก่
• Hall D และ H: Interior ของตกแต่งบ้าน
• Hall E: Taste ขนม ช็อคโกแลต และอาหารท้องถิ่น
• Hall F: Interior One ของตกแต่งบ้าน
• Hall J1 และ J2: Interior + Seasonal Gifts ของขวัญ และของตกแต่งบ้าน
• Hall J3 และ K: Garden การตกแต่งสวน
• Hall L: Fashion สินค้าแฟชั่น
นอกจากการแสดงสินค้าแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การแสดงสินค้า Trend Zone, Creators Community, Eckmann Studio Workshops, Greenhouse, Workshops in the Taste hall, Circular Formland Days, Danish Decorators และ Speak Up หรือการสัมมนาหัวข้อต่างๆ เช่น เทรนด์แนวโน้มตลาดค้าปลีก (Retail and fun) และแนวโน้มอุตสาหกรรมธุรกิจบริการ และความยั่งยืน (Hospitality and sustainability) เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เวปไซต์ www.formland.com
บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต.:
• จากการเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าพบว่า สินค้าที่จัดแสดงมีทั้งผลิตในประเทศเดนมาร์ก และนำเข้าจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และโปรตุเกส เป็นต้น และมีบริษัทผู้นำเข้าเครื่องประดับเงินจากประเทศไทยเช่นกัน เช่น ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ และเครื่องเงินตั้งโต๊ะ และยังสนใจการนำเข้าร่มจากเชียงใหม่เพิ่มเติม
• ในช่วงปี 2566 สินค้าส่งออกกลุ่มแฟชั่น ของใช้ ของขวัญ ของตกแต่งบ้านส่งออกที่สำคัญของไทยในตลาดเดนมาร์ก คือ อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 54 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 7 รองเท้าและชิ้นส่วน มูลค่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8 เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้านเรือน มูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 39 และเครื่องนุ่งห่ม มูลค่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญติดอันดับ 10 ของไทยในตลาดเดนมาร์ก
• ผู้นำเข้าเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ยังคงต้อนรับสินค้าไทยที่ได้มาตรฐานยุโรป โดยต้องปฏิบัติตามกฎที่เกี่ยวข้อง เช่น Food Contact Materials Directive Directive 84/500/EC และ the amendment Directive 2005/31/EC, General Product Safety Directive, REACH และ Packaging and packaging waste legislation EU Directive 2015/720 เป็นต้น และนอกจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปแล้ว การจัดหาใบรับรองตามมาตรฐานสากลด้านการลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมช่วยให้สร้างความได้เปรียบทางการตลาด ใบรับรองที่ได้รับการยอมรับในตลาดนี้ เช่น FSC® สำหรับผลิตภัณฑ์ทำจากไม้ที่มาจากป่าที่ยั่งยืน, EU Ecolabel, Business Social Compliance Initiative (BSCI), Ethical Trading Initiative (ETI), ISO 14001 และ SA 8000 เป็นต้น
• งานแสดงสินค้า Formland นี้ นับได้ว่าเป็นงานแสดงสินค้ากลุ่มของใช้ ของขวัญ ของตกแต่งบ้าน ที่รวมบุคคลที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมที่สำคัญ หากผู้ประกอบการได้เข้าร่วม หรือเข้าชมงานแสดงสินค้านี้ จะเป็นโอกาสในการรับรู้เทรนด์สินค้าใหม่ๆ ในเดนมาร์ก ตลอดจนพบปะผู้นำเข้า และได้นำองค์ความรู้เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาสินค้าต่อไป โดยกำหนดการจัดงานครั้งต่อไประหว่างวันที่ 17 – 19 สิงหาคม 2567
• เป็นที่สังเกตุได้ว่า ในปี 2567 ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับราคาสินค้าที่ย่อมเยามากขึ้น ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการผลิต สามารถใช้ศักยภาพการเป็น OEM ให้แก่บริษัทต่างๆ โดยการนำเสนอสินค้าราคาย่อมเยาที่สามารถนำไปแข่งขันในตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิกได้ต่อไป
• จากการพบปะพูดคุยกับบริษัทผู้แสดงสินค้าจากเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิก พบว่ามีหลายบริษัทที่นำวัตถุดิบเหลือใช้ (waste) จากประเทศในแถบเอเชีย จากภาคการผลิตในอุตสาหกรรมของใช้ ของขวัญ ของตกแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์นำมาพัฒนาผลิตเป็นสินค้าใหม่ของตนเอง เช่น วัตถุดิบเหลือใช้จากเวียดนาม และอินเดีย เช่น เศษเหล็กและเหล็กกล้า กระป๋องอะลูมิเนียม ลังกระดาษ เศษไม้ ไม้อัด และพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ แนวโน้มการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบเหลือใช้ (Upcycling/Circular Economy) จึงเป็นอีกแนวโน้มหนึ่งที่มีโอกาสในการทำตลาดเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิก

thThai