สถานการณ์วิกฤตในทะเลแดงได้ส่งผลกระทบด้านการค้าในอิตาลีแล้ว โดยเฉพาะการชะลอการส่งออกสินค้าของบริษัทอิตาลีที่มีจุดหมายปลายทางไปยังเอเชียและโอเชียเนีย รวมถึงยังมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมในอิตาลีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบและส่วนประกอบพื้นฐานที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้า/ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในกลุ่มอาหารและเกษตร แฟชั่น และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่ต้องขนส่งโดยเรือบรรทุกผ่านคลอง สุเอซ โดยช่วงปลายเดือนมกราคม 2567 ธนาคารแห่งชาติอิตาลี (Banca d’Italia) ได้มีการประเมินว่า การขนส่งสินค้าทางเรือในพื้นที่ดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าเกือบ 16% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าของอิตาลีทั้งหมด
1. ภาคอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร
ปี 2565 อิตาลีส่งออกสินค้าอาหารและเกษตร มีมูลค่า 64 พันล้านยูโร (+6%) ศูนย์วิจัยและการศึกษาด้านการผลิตและการบริโภค (Divulga) ได้ประมาณการว่า วิกฤตการณ์ทะเลแดงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานและสินค้าภาคเกษตร อาหารของอิตาลี ซึ่งมีมูลค่าถึง 5.3 พันล้านยูโร โดยถือเป็นมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรของอิตาลีทุกปีจากเอเชียและโอเชียเนีย โดยผลิตภัณฑ์/สินค้าที่ผู้บริโภคในประเทศรับประทาน มากกว่า 3 ล้านตัน เป็นสินค้าที่ต้องใช้เส้นทางขนส่งผ่านทะเลแดง/คลองสุเอซ หรือคิดเป็น 9% ของวัตถุดิบอาหาร เกษตรที่อิตาลีนำเข้าทั้งหมด โดย Mr. Riccardo Fargione ผู้ประสานงานของ Divulga ให้ข้อมูลว่า สินค้าอาหารที่สำคัญที่อิตาลีนำเข้าโดยต้องใช้เส้นทางผ่านคลองสุเอซ อาทิ ข้าว (สัดส่วน 67%) น้ำมันพืช (สัดส่วน 47%) มะเขือเทศแปรรูป (สัดส่วน 45%) ชาและกาแฟ (สัดส่วน 35%) อาหารทะเลแช่แข็ง (สัดส่วน 14%) ถั่ว ธัญพืช (สัดส่วน 11%) และอาหารสัตว์ (สัดส่วน 10%)
สมาพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ (Coldiretti) ได้เปิดเผยว่า การโจมตีของฮูตีก่อให้เกิดการชะลอการส่งออกไปยังเอเชีย และการปรับขึ้นค่าระวางเรือได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของอิตาลี มีมูลค่าถึง 5.5 พันล้านยูโร โดยในมูลค่าดังกล่าวเป็นการขนส่งทางเรือกว่า 90% โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผักและผลไม้สด มีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านยูโร เนื่องจากเน่าเสียง่าย รองลงมา ได้แก่ พาสต้าและขนมอบ มูลค่า 800 ล้านยูโร ขนมหวาน มูลค่า 400 ล้านยูโร และไวน์ มูลค่า 500 ล้านยูโร โดยอิตาลีถือเป็นประเทศส่งออกไวน์แดงที่สำคัญ 1 ใน 3 ของโลก โดยจีนเป็นตลาดส่งออกไวน์แดงที่สำคัญของอิตาลี (มูลค่า 112 ล้านยูโร) นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารของอิตาลีที่ต้องส่งออกไปยังประเทศในแถบตะวันออกกลาง อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเผชิญกับต้นทุนการขนส่งทางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 10 เซนต์ต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 1,500 เหรียญสหรัฐฯ/ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของอิตาลีกับตลาดคู่แข่งอื่น ๆ
ศูนย์รวมผู้นำด้านการผลิตและการตลาดผักและผลไม้ในอิตาลี (Centro Servizi Ortofrutticoli – Cso) ให้ข้อมูลว่า สินค้าผักและผลไม้ของอิตาลีถือเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากความขัดแย้งในทะเลแดง เนื่องจากข้อจำกัดของอายุการเก็บรักษา (shelf life) โดยอิตาลีส่งออกผักและผลไม้ไปยังตะวันออกกลาง มีปริมาณ 150 พันตัน และเอเชียตะวันออก มีปริมาณ 80 พันตัน หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 300 ล้านยูโร นอกจากนี้ สหกรณ์ด้านอาหารและเกษตรของอิตาลี (Confcooperative Fedagripesca) เปิดเผยว่า จากความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้ระยะเวลาการส่งมอบสินค้าต้องใช้ระยะเวลาเพิ่มขึ้นกว่า 20 วัน ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรที่ลดลงประมาณ 4-5 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือคิดเป็นปริมาณ 100 ตัน/สัปดาห์
2. ภาคอุตสาหกรรมแฟชั่น
จากข้อมูลของธนาคารแห่งชาติอิตาลี ระบุว่า ในบรรดาภาคอุตสาหกรรมของอิตาลีที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความขัดแย้งดังกล่าว คือ ภาคอุตสาหกรรมแฟชั่น เนื่องจาก 1 ใน 3 ของการนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้น เป็นการขนส่งโดยเรือบรรทุกที่ต้องใช้เส้นทางทะเลแดง โดยบรรทุกวัสดุเส้นใย ผ้า ส่วนประกอบซิปที่มาจากญี่ปุ่น อินเดีย และจีน และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ส่วนใหญ่ผลิตจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหอการค้าแฟชั่นแห่งชาติอิตาลี (Camera Nazionale della Moda Italiana) ได้ประมาณการว่า ในปี 2566 การนำเข้าสินค้าแฟชั่นที่ผลิตในอิตาลี (รวมไปถึงเครื่องประดับแฟชั่น และแว่นตา) มีมูลค่าเกิน 5 หมื่นล้านยูโร โดยมีซัพพลายเออร์หลัก คือ จีน ซึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และรองเท้า มีมูลค่า 4.4 พันล้านยูโร ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตหลายรายต้องประสบปัญหาในการจัดส่งสินค้าล่าช้าประมาณ 15 วัน ไปจนถึงมากกว่า 1 เดือน โดยสมาพันธ์แฟชั่นแห่งชาติ (Confindustria Moda) ได้แสดงความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับ ราคาค่าขนส่งจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มายังท่าเรือเจนัว ประเทศอิตาลี ที่เพิ่มสูงขึ้น 3 เท่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 การจัดส่งตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือเนเปิลส์ เจนัว และตรีเยสเต ประเทศอิตาลี ไปยังเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ราคาค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มสูงถึง 231% เช่น ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น การเลือกใช้วิธีการขนส่งที่รวดเร็วกว่าและมีราคาแพงกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการชะงักด้านการผลิต อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดังกล่าวยังคงยืดเยื้ออาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น กระทบไปยังผู้บริโภค (End user) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3. ภาคอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
ในขณะนี้ บริษัทเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ในอิตาลีต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์ในทะเลแดงด้วยท่าทีวิตกกังวล จากข้อมูลตัวเลขของสมาพันธ์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านแห่งชาติ (FederlegnoArredo) พบว่า ปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) อิตาลีนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องผ่านคลองสุเอซ มีมูลค่าประมาณ 1.9 พันล้านยูโร หรือคิดเป็นสัดส่วน 19% ของการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีทั้งหมด ในขณะที่ มูลค่าส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีที่ต้องใช้เส้นทางเดินเรือผ่านคลอง สุเอซ มีมูลค่า 2.5 พันล้าน หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% ของการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีทั้งหมด
Mr. Paolo Fantoni รองประธาน สมาพันธ์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านแห่งชาติ เปิดเผยว่า หากพิจาณาถึงปัญหาของการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์นั้น พบว่าปัญหาของการนำเข้าสินค้า เฟอร์นิเจอร์มีความซับซ้อนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนวัสดุหรือส่วนประกอบบางรายการ ที่ทำให้เกิดการเก็งกำไรและการปรับขึ้นราคา โดยเดือนมกราคม 2567 พบว่า มีการเพิ่มขึ้นของส่วนประกอบประมาณ 10 – 15% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนประกอบที่ใช้สำหรับภาคการออกแบบ ตกแต่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตระดับกลาง-ระดับล่าง ซึ่งเน้นการจัดส่งให้แก่ศูนย์จำหน่ายขนาดใหญ่ ในขณะที่ ผู้ผลิตระดับกลาง – ระดับสูง ยังคงได้รับการสนับสนุนจากห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่น
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
1. เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร แฟชั่น และเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลี ถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทะเลแดงตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือนผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งด้านการนำเข้าและการส่งออกสินค้าที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลเป็นอย่างมาก
2. จากข้อมูลตัวเลข Global Trade Altas พบว่า ปี 2566 (มกราคม – พฤศจิกายน) อิตาลีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกมีมูลค่า 560,390.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-12.43%) โดยอิตาลีนำเข้าสินค้าจากเอเชียและตะวันออกกลาง มีมูลค่า 105,021.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-13.90%) หรือคิดเป็นสัดส่วน 18.74% ของมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลกของอิตาลี โดยจีนถือเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญของอิตาลี อันดับ 2 (สัดส่วน 8.59% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของอิตาลี) มีมูลค่า 48,142.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-15.61%) ในขณะที่ อิตาลีส่งออกไปทั่วโลกมีมูลค่า 594,190.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-1.54%) โดยอิตาลีส่งออกสินค้าไปยังเอเชียและตะวันออกกลาง มีมูลค่า 77,154.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+10.54%) หรือคิดเป็นสัดส่วน 12.98% ของมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลกของอิตาลี โดยจีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอิตาลี อันดับ 7 (สัดส่วน 3.18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอิตาลี) มีมูลค่า 18,902.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+23.42%)
3. ผลกระทบของสถานการณ์การโจมตีเรือขนส่งสินค้าที่ใช้เส้นทางผ่านทะเลแดง/คลองสุเอซ ทำให้ระยะเวลาการส่งมอบสินค้าที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลามากกว่า 1 เดือน อาจก่อให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าเพื่อการบริโภค รวมถึงค่าระวางเรือที่ปรับขึ้นเกือบ 3 เท่า ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ส่งออกไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับสูงขึ้น นำไปสู่แนวโน้มเงินเฟ้อที่จะปรับสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในยุโรป/อิตาลี ที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่อาจส่งผลกระทบ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงทรงตัวระดับสูง และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ (ค่าไฟฟ้า ค่าแรง) ซึ่งอาจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยมายังอิตาลี
——————————————————————-
ที่มา: 1. https://www.ilsole24ore.com/art/crisi-mar-rosso-freno-importazioni-mette-sotto-scacco-made-italy-AFLYMUUC 2. https://www.ilsole24ore.com/art/crisi-mar-rosso-rischio-55-miliardi-export-agroalimentare-AFVn4yTC และ 3. https://www.ilsole24ore.com/art/ortofrutta-blocco-canale-suez-mette-rischio-mercato-300-milioni-AFjd7uOC
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 0 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 6218354 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ