ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ

 

ภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือกำลังเผชิญปัญหาสภาพภูมิอากาศ ความไม่มั่นคงทางการเมือง และราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น สงครามในยูเครนส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหารในหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าในแอฟริกาเหนือ อาทิ แอลจีเรีย อียิปต์ ลิเบีย โมร็อกโก และตูนิเซีย

 

วิกฤตการณ์ขาดแคลนข้าวสาลี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนพลังงานทั่วโลก กระตุ้นให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายที่สำคัญต่อผลผลิตทางการเกษตรจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอน ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการผลิตอาหาร ความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2563-2565 ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลิเบีย และแอลจีเรีย ที่เผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยโมร็อกโกก็ประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารเช่นกัน โดยการผลิตข้าวสาลีในปี 2564/2565 คาดว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอย่างมากเนื่องจากสภาวะภัยแล้ง

 

โดยในช่วงปี 2564–2565 อียิปต์ ลิเบีย โมร็อกโก และตูนิเซีย ประสบปัญหาราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นถึง 50% นอกจากนี้ สงครามในยูเครนได้กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงแพร่ระบาดของโควิด-19 และทำให้แนวโน้มความเปราะบางเหล่านี้รุนแรงขึ้นอีก เนื่องจากแอฟริกาเหนือพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนและรัสเซีย แม้แต่แอลจีเรียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามเนื่องจากมีการพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซีย

 

ซึ่งความไม่มั่นคงทางการเมืองในแอฟริกาเหนือไม่เพียงแต่เป็นปัญหาในระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาระดับโลกอีกด้วย เหตุผลประการหนึ่งคือความสำคัญของภูมิภาคต่อความมั่นคงด้านพลังงานของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทปัจจุบันที่ยุโรปที่ต้องการจัดหาพลังงานจากแหล่งอื่นนอกจากรัสเซีย

 

ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น

การโจมตีที่ทวีความรุนแรงขึ้นโดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนต่อเรือในทะเลแดงไม่เพียงแต่กระทบเส้นทางการค้าที่สำคัญของโลก ส่งผลให้ค่าขนส่งและการประกันภัยพุ่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อค่าครองชีพในภูมิภาคแอฟริกาเหนือที่สูงขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการแพร่ระบาดรของโควิด-19

วิกฤตทะเลแดงและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ ส่งผลให้เรือขนส่งสินค้าต้องใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น หากความขัดแย้งในฉนวนกาซายืดเยื้อ การหยุดชะงักทางการค้าในทะเลแดงอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นถึง 2% ในขณะที่เรือต่างๆ เริ่มหลีกเลี่ยงเส้นทางผ่านคลองสุเอซ กระทบต่ออียิปต์และทำให้รายได้จำนวนมากหายไป แม้ว่าในปีงบประมาณ 2565-2566         คลองสุเอซสร้างรายได้ให้แก่อียิปต์ถึง 9.4 พันล้านดอลลาร์ วิกฤตที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้รายได้ลดลง 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยังปรากฏชัดในแอฟริกาเหนือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดคือ ราคาอาหารที่สูงขึ้น อาจสร้างความไม่พอใจของประชาชนจากการที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาได้ ซึ่งเป็นชนวนสาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงที่นำไปสู่เหตุการณ์อาหรับสปริงในปี 2553

ประเทศในแอฟริกาตอนเหนือ 1. แอลจีเรีย 2. อียิปต์ 3. ลิเบีย 4. โมร็อกโก 5. ซูดาน 6. ตูนิเซีย และ 7. มอริเตเนีย ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจจากการขาดแคลนสกุลเงินต่างชาติ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่า และหนี้สาธารณสูง จนทำให้เกิดการชำระเงินระหว่างประเทศล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ผู้ประกอบไทยจึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบในส่วนของต้นทุนการขนส่ง และเทอมการชำระเงิน เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น

 

____________________________________

 

ที่มา https://www.iiss.org/publications/armed-conflict-survey/2023/weathering-converging-storms-in-north-africa/

https://northafricapost.com/74836-red-sea-crisis-to-affect-global-trade-fuel-inflation-in-africa-and-beyond.html

thThai