“เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP12 เรื่อง Walmart ปรับกลยุทธ์บุกตลาดค้าปลีกสหรัฐฯ 

Walmart ปรับกลยุทธ์บุกตลาดค้าปลีกสหรัฐฯ

 

บริษัท Walmart เป็นผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Bentonville รัฐอาร์คันซอ  สหรัฐอเมริกา นอกจากห้าง Walmart จะมีสาขาในสหรัฐฯ มากถึงราว 4,700 สาขาแล้ว ยังมีสาขากระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกกว่า 500 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเป็นเจ้าของห้าง Sam’s Club ผู้จำหน่ายสินค้าส่งในระบบสมาชิกซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้นราว 600 สาขาทั่วโลกอีกด้วย

 

ทั้งนี้ หากมองในเชิงของยอดจำหน่าย บริษัท Walmart ยังถือเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากข้อมูลสมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งชาติ หรือ National Retail Federation พบว่าในปี 2566 บริษัท Walmart มีรายได้ทั้งสิ้น 585,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าบริษัท Amazon ที่ตามมาเป็นอันดับสองอย่าง มียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 352,700 ล้านดอลลาร์

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะยอดจำหน่ายในส่วนของช่องทางตลาดออนไลน์ในสหรัฐฯ บริษัท Amazon ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในสหรัฐฯ คิดเป็น37.6% ในขณะที่ห้าง Walmart มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 6.4% ในช่วงที่ผ่านมาห้าง Walmart ได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการปรับกิจการเพื่อแข่งขันในตลาดค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งมีศักยภาพในการขยายตัวสูง ตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบัน

 

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ห้าง Walmart ได้ประกาศแผนในการเพิ่มจำนวนสาขาอีกทั้งสิ้น 150 แห่งในสหรัฐฯ และมีแผนที่จะปรับขยายห้างค้าปลีกขนาดเล็กในรูปแบบ Neighborhood Stores ให้เป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ครบวงจร หรือ Supercenters ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ซึ่งสวนทางกับแนวนโยบายชะลอการขยายตัวของบริษัทก่อนหน้านี้

 

โดยแผนการดังกล่าวส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าห้างค้าปลีก Supercenters ของบริษัทฯ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการจัดส่งและกระจายสินค้าในส่วนของคำสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด

 

จากข้อมูลบริษัท Coresight Research ระบุว่า ปัจจุบันผู้บริโภคในตลาดสนใจหันไปเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านมากขึ้นภายหลังจากภาวะการแพร่ระบาด ทำให้ผู้ค้าปลีกในตลาดหันไปให้ความสำคัญในการขยายกิจการจำหน่ายปลีกผ่านช่องทางหน้าร้านมากขึ้น อีกทั้ง ผู้ประกอบการในตลาดยังเลือกใช้ห้างค้าปลีกเป็นศูนย์ในการจัดส่งและกระจายสินค้าสำหรับคำสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วย ทำให้ในช่วงสองปีทีผ่านมาร้านค้าปลีกที่เปิดใหม่มีจำนวนมากกว่าร้านค้าปลีกที่ปิดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ทั้งนี้ ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดค้าปลีกออนไลน์ผ่านช่องทางออนไลน์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด (ยกเว้น ในปี 2552 ที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจทางการเงินทำให้ยอดจำหน่ายปรับตัวลดลงเล็กน้อย)

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระหว่างปี 2562 – 2566  ตลาดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์สหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 83% จากมูลค่า 752,514 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 เป็นมูลค่า 1,377,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566

 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญทำให้ตลาดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์สหรัฐฯ ขยายตัว ได้แก่

    1. ปัจจัยด้านพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคมากขึ้นในปัจจุบัน
    2. ปัจจัยด้านความสะดวกสบายและประหยัดเวลา ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้แทบจะทุกที่ทุกเวลา
    3. ปัจจัยด้านตัวเลือกที่หลากหลาย ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการและสามารถเปรียบเทียบราคา คุณภาพสินค้า และรีวิวสินค้าได้ก่อนการตัดสินใจซื้อได้
    4. ปัจจัยด้านบริการจัดส่งและรับคืนสินค้าฟรี ผู้จำหน่ายปลีกในตลาดปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะเสนอบริการจัดส่งสินค้าฟรีหากมีมูลค่าคำสั่งซื้อสินค้าตามกำหนดขั้นต่ำ อีกทั้ง ยังสามารถคืนสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยจึงทำให้ผู้บริโภคในตลาดสนใจเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นต่อเนื่อง

 

แม้ว่าปัจจัยด้านภาวะการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ จะปรับตัวดีขึ้น ผู้บริโภคในตลาดสนใจออกไปเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางร้านค้าปลีกแบบที่มีหน้าร้านมากขึ้น แต่โดยรวมตลาดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ในสหรัฐฯ ยังคงน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงน่าจะยังคงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกสินค้าผ่านแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในตลาด เช่น www.amazon.com และ www.walmart.com ที่ปัจจุบันมีให้บริการวางจำหน่ายสินค้าสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มตลาดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นและมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคในตลาดเพิ่มมากขึ้น จึงมีความพยายามจากทางหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มงวดผ่านมาตรการเพิ่มความรับผิดชอบจากกลุ่มผู้ให้บริการวางจำหน่ายสินค้ามากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่หากการผลักดันของรัฐบาลสหรัฐฯ เกิดเป็นรูปธรรมจะทำให้มาตรการการวางจำหน่ายสินค้ามีความเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดดังกล่าวจึงควรที่จะให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าและการรับประกันคุณภาพสินค้าเพื่อให้สามารถทำตลาดในสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในอนาคต

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/hbGdLQXIXJQ

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

thThai