อาเซียน-แคนดานับได้ว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีในทุกมิติมายาวนาน ทั้งนี้ จากอดีตแคนาดาจะไม่ค่อยมีบทบาททางการค้ากับอาเซียนมากนัก จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมามักพบเห็นทั้งสองฝ่ายเจรจาทำความตกลงการค้ามุ่งเพิ่มความร่วมมือระดับทวิภาคีรอบด้านบ่อยครั้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นด้านการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากปมขัดแย้งทางการเมืองระหว่างแคนาดาและชาติยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ซึ่งปัจจุบันนำไปสู่ผลกระทบการค้าและการลงทุนสำหรับนักธุรกิจและผู้ประกอบการในประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

นาย Wayne Farmer ผู้นำสภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในประเทศอยู่ในสถานการณ์คลุมเครือต่อทิศทางการค้าและส่งออก แต่ก็เริ่มมีความหวังกับโอกาสขยายตัวเศรษฐกิจกับกลุ่มสมาชิกอาเซียนมากขึ้น ซึ่งด้วยจากความพยายามของภาครัฐเมื่อนางสาวแมรี่ อิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของแคนาดา มีกำหนดการเยือนประเทศมาเลเซียและเวียดนามในเดือนมีนาคม 2567 จากนั้นจะเดินทางเยือนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ในช่วงปลายปี วัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและเจรจาเร่งเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการค้าแคนาดา ส่งผลให้ภาคเอกชนพร้อมรับที่จะปรับตัวกับโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนที่ผ่านมาแคนาดามีความพยายามที่จะหันกลับมาสานสัมพันธ์ที่ดีกับจีนอีกครั้ง เพื่อหวังพลิกฟื้นมูลค่าการค้าระหว่างสองชาติให้กลับมา เนื่องจากจีนถือเป็นคู่ค้าลำดับต้นๆ ของแคนาดามาโดยตลอด แต่ทว่า ความคืบหน้าในการทบทวนเจรจาดังกล่าวกลับไม่มีความชัดเจนที่จะทำให้นักธุรกิจนักลงทุนเดินหน้าทำการค้าได้อย่างมั่นใจ

 

แคนาดาและอาเซียนเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ถือเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญที่จะทำให้เกิดโอกาสในสาขาต่างๆ อย่างมากมาย โดยที่ผ่านมาสมาชิกในกลุ่มอาเซียนและแคนาดาได้หารือถึงการเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดากันหลายครั้ง จนเมื่อต้นปีนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นพร้อมที่จะผลักดันให้การเจรจาบรรลุผลภายในปีพ.ศ. 2568 เพราะอย่างน้อยถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจในการเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน พร้อมกับช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของทั้งสองภูมิภาคให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

 

ในขณะที่การปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อโอกาสการค้าที่กำลังขยายตัว เพราะทุกวันนี้ตลาดอาเซียนมีความโดดเด่นทางด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 ซึ่งกำลังแซงหน้าประเทศจีนอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้รัฐกลาง รัฐบาลท้องถิ่น รวมไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในประเทศพร้อมที่จะผลักดันธุรกิจและการลงทุนของแคนาดาสู่ตลาดอาเซียนมากขึ้น โดยเมื่อปลายปี 2565 รัฐบาลกลางได้จัดสรรงบประมาณสำหรับยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกระยะ 5 ปี ไว้ที่ 2,300 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 62,000 ล้านบาท) โดยครอบคลุมทั้งในด้านความมั่งคั่ง เศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งแคนาดาได้ยกย่องอาเซียนเป็นศูนย์กลางของอินโด-แปซิฟิกอีกด้วย

 

นอกจากนั้น สำนักงานส่งเสริมการลงทุนรัฐบาลท้องถิ่นรัฐอัลเบอร์ตายังมีการจัดตั้งสำนักงานต่างประเทศแห่งแรกของอาเซียนในสิงคโปร์ เพื่อเน้นส่งเสริมการค้าการลงทุนด้านกิจกรรมพลังงาน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขับเคลื่อนหลักของรัฐอัลเบอร์ตาและแคนาดา โดยตั้งเป้าที่จะขยายการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไปประเทศฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และอื่นๆในบริเวณใกล้เคียง สำหรับภาคอุตสาหกรรมอาหาร แคนาดาถือได้ว่ามีศักยภาพด้านเทคโนโลยีอาหารโดยพร้อมที่จะผลักดันธุรกิจ AgriFood นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนไปสู่ตลาดอาเซียน ดังนั้น รัฐบาลกลางจึงได้เปิดสำนักงานด้านการเกษตรและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนอาหารในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์อีกเช่นกัน

 

ในปี 2566 การค้าระหว่างอาเซียนและแคนาดามีมูลค่า 28,652 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปแคนาดามูลค่า 22,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากแคนาดามูลค่า 6,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญไปแคนาดา ได้แก่ เครื่องจักรกลไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และรองเท้า และสินค้านำเข้าสำคัญจากแคนาดา ได้แก่ ธัญพืช เครื่องจักรกล ปุ๋ย เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และเครื่องจักรกลไฟฟ้า

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มสมาชิกอาเซียนแต่ละชาติต่างก็มีความโดดเด่นทางด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่างกัน และมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เวียดนามมีความโดดเด่นในการขยายตัวการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าชาติอื่นในกลุ่มอาเซียนปัจจัยสนับสนุนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเป็นสมาชิกความร่วมมือ CPTPP ที่ส่งผลให้การค้าเวียดนามและแคนาดาต่างได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดที่เปิดกว้างพร้อมการลดภาษีตามกฎระเบียบ จากการที่สคต. ได้หารือกับผู้นำเข้าสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งในแคนาดารายหนึ่ง พบว่า ปัจจุบันนี้มีการนำเข้าสินค้าอาหารทะลจากเวียดนามแทนที่จากไทยเพิ่มขึ้น เพราะสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่เอื้อต่อการนำเข้าและราคาสินค้าอย่างมาก สำหรับไทยนั้นถือเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของแคนาดารายหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ไทยและแคนาดายังไม่มี FTA ระหว่างกัน ทั้งนี้ หากทั้งสองเห็นพ้องดำเนินการได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าไทยและแคนาดา ในเวลาเดียวกัน หากความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนและแคนาดา ซึ่งกำลังเจรจากันอยู่บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จาก FTA ดังกล่าว

 

ที่มา: Canada’s promised Indo-Pacific trade representative to be based in Jakarta: Mary Ng – BNN Bloomberg

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

thThai