นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวนอกรอบก่อนการประชุมสุดยอดของ (World Government Summit) WGS 2024’s Eighth Arab Fiscal Forum ที่เน้นถึงความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างโลกอาหรับและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ แม้จะมีความไม่แน่นอน แต่ “เศรษฐกิจโลกมีความยืดหยุ่นอย่างน่าประหลาดใจ”  และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะลดลงในปี 2567 ส่วน แนวโน้มการเติบโตทั่วโลกในระยะกลางยังคงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาที่ร้อยละ 3.8 และกล่าวเน้นถึงความสําคัญของภูมิภาคตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้นในภูมิทัศน์โลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยได้คาดการณ์การเติบโต GDP ปี 2567 ของกลุ่มประเทศ MENA จะสูงถึงร้อยละ 2.9 แต่ก็ยังต่ำกว่าที่ประมาณการในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา

การประชุม WGS 2024 ครั้งนี้ภายใต้หัวข้อ “การสร้างรัฐบาลในอนาคต”  (Shaping the Future Government) ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ในรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 4,000 คนจากหลายภาคส่วน เพื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงโต้ตอบ 110 Sessions การประชุมมีวิทยากร 200 คน จาก 80 องค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคและระหว่างรัฐบาล

เศรษฐกิจ GCC

                   นาย Samy Chaar หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ธนาคาร Lombard Odier private bank ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ มองภาพรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคอ่าวอาหรับหรือ GCC ปี 2567 พร้อมที่จะฟื้นตัวเล็กน้อยประมาณร้อยละ 3  ทั้งนี้ การลดการผลิตน้ำมันในบางประเทศในกลุ่ม GCC ประกอบกับการลดอัตราดอกเบี้ย อาจผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 ในปี 2567   

ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัว และอุปทานที่เพียงพอ ธนาคาร Lombard Odie คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปีนี้จะอยู่ในกรอบ 80-90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และมีความเสี่ยง             ที่จะปรับตัวลดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก่อนที่จะเข้าใกล้ช่วงกลางปี

 

อัตราเงินเฟ้อ

นาย Chaar ให้ความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคนี้คาดว่าจะลดลงตามวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หน่วยงานด้านการเงินของภูมิภาคนี้อาจเข้าแทรกแซงตลาดเงิน    เพื่อจํากัดการบีบสภาพคล่องที่ไม่ต่อเนื่อง และทางการยูเออีพร้อมที่จะปรับกฎระเบียบของภาคอสังหาริมทรัพย์       แทนนโยบายการเงิน เพื่อจํากัดความเสี่ยงด้านลบของราคาอสังหาริมทรัพย์ในดูไบที่มีแนวโน้มว่าจะเห็นผลกระทบ    ด้านลบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ธนาคาร Lombard Odier คาดการณ์ว่าการกระจายความเสี่ยงนอกเหนือจากการผลิตน้ำมันและก๊าซจะเป็นกุญแจสําคัญในอนาคตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และวิสัยทัศน์แห่งชาติจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสําหรับ            การประสานงานการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ เช่น ในซาอุดิอาระเบียการลงทุนในอุตสาหกรรม          การท่องเที่ยวและความบันเทิงจะเร่งตัวต่อไปใน ปี 2573  ในขณะที่ยูเออีเป็นผู้นําในภูมิภาคในการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และมีการลงทุนของภาครัฐในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การค้าของไทยกับตะวันออกกลาง

                    การส่งออกไทยไปตะวันออกกลาง 15 ประเทศ ในปี 2566  มูลค่า 11,167  ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการเติบโตขยายตัว 1.6% เทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัดส่วน (28.9%) ซาอุดีอาระเบีย (23.9%)           ตุรกี (13.8%) อิรัก (8.0%) อิสราเอล (6.9%) โอมาน (3.9%) คูเวต (3.7%) กาตาร์ (2.9%) เยเมน (2.02%) จอร์แดน (2.0%)

หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกรายสินค้า มีสินค้าสำคัญ 10 รายการแรกได้แก่ ยานพาหนะ  เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ปลากระป๋อง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สิ่งทอ และ เคมีภัณฑ์

                        ปัจจัยสนับสนุนในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจตะวันออกกลางมีแนวโน้มขยายตัวในปี 2567 จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาค Non-oil เช่น การค้าปลีก การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ บริการทางการเงิน และ การดูแลสุขภาพ   อีกทั้งในระยะกลาง     ยังได้รับอานิสงส์จากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ   และในกลุ่มประเทศ GCC         มีทรัพยากรน้ำมัน   สำหรับปัจจัยกดดันในระยะข้างหน้า ปัญหากบฏฮูตี วิกฤตทะเลแดง และความขัดแย้งทาง   ภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น

 

thThai