สืบเนื่องจากความตระหนักในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มของชาวจีนที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญต่อคุณค่าโภชนาการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แห้งจึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยผักผลไม้แห้งมีวัตถุดิบที่สดใหม่ ดีต่อสุขภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบกับการพัฒนาและเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงพบผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แห้งที่หลากหลายชนิดในตลาด อาทิ ผักผลไม้แห้ง ผลไม้แช่อิ่ม/ดอง แยมผลไม้ และผักผลไม้ผสมอบแห้ง และพายผักผลไม้ เป็นต้น
ด้วยผลไม้แห้งมีคุณสมบัติที่ปลอดภัย มีคุณค่าโภชนาการ ดีต่อสุขภาพและสะดวกจึงได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคจำนวนมาก ผลไม้แห้งใช้เทคโนโลยีการปิดผนึกและการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูง จึงสามารถรับประกันความปลอดภัยของอาหารได้ นอกจากนี้ ยังสามารถคงสี กลิ่น รส รูปร่างเดิมของวัตถุดิบ อีกทั้งยังมีโภชนาการสูงถึงร้อยละ 97 ขึ้นไป สามารถเก็บไว้เป็นเวลานานในสภาพอุณหภูมิปกติ
แม้ว่าปัจจุบันชาวจีนบริโภคน้ำผลไม้เฉลี่ยเพียงร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยของโลก และเป็นร้อยละ 2.5 ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งถือเป็นอัตราที่ไม่สูงนัก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้การบริโภคผลไม้แห้งได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีบทบาทหลักในตลาดเครื่องดื่ม ซึ่งคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 10 ขึ้นไป ซึ่งยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะการใช้ผลไม้เมืองร้อนเป็นวัตถุดิบ โดยหากพิจารณาการนำเข้าผลไม้แห้งของจีน พบว่าในปี 2566 มีการนำเข้าปริมาณ 163,618 ตัน ลดลงร้อยละ 19.42 โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2564-2566) ส่วนใหญ่จีนมีการนำเข้าผลไม้แห้งชนิดอื่น ๆ (พิกัด HS 081340) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76 73 และ 57 ตามลำดับ โดยจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากไทยคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดของไทยร้อยละ 97.51 92.20 และ 92.45 ตามลำดับ รองลงมา ได้แก่ เมียนมา เวียดนาม คีร์กีซสถาน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ขนาดตลาดผลไม้แห้ง/ผลไม้เชื่อมอบแห้งของจีน ในปี 2565 มีมูลค่า 110,200 ล้านหยวน ( 551,000 ล้านบาท) สืบเนื่องจากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมมีการยกระดับ ผู้บริโภคชื่นชอบและมีอัตราการซื้อซ้ำสูง โดยเฉพาะพายพุทราวอลนัทที่มีการเติบโตที่ดี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้งกลายเป็นแนวโน้มใหม่ของตลาด ในปี 2568 คาดว่าขนาดตลาดจะมีมูลค่าถึง 256,000 ล้านหยวน (1.23 ล้านล้านบาท) อุตสาหกรรมผลไม้แห้งจะนำพาโอกาสใหม่ในการเติบโตของตลาด
เมื่อพิจารณาจากภูมิภาคในประเทศจีน มณฑลเจ้อเจียง มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ คือ แหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของจีน ทำให้ผู้ประกอบการผลไม้แห้งในมณฑลดังกล่าวมีจำนวนมาก ซึ่งในที่นี้มณฑลฝูเจี้ยนมีมากที่สุด ขณะที่ในส่วนตอนเหนือของจีนผู้ประกอบการผลไม้แห้งจะกระจุกตัวอยู่ที่มณฑลซานตง และมณฑลเหอเป่ย์
เทคโนโลยีการอบผลไม้แห้ง แบ่งได้ 2 ประเภท คือ อบแห้งด้วยความร้อนกับฟรีซดราย ซึ่งเทคโนโลยีฟรีซดรายมีการประยุกต์ใช้แรกเริ่มในผลิตภัณฑ์อาหารอวกาศ โดยหลังจากที่เก็บผลไม้สดมาก็นำมาแช่แข็งทันทีในอุณหภูมิ -40 องศา และใช้เทคโนโลยีคายน้ำสูญญากาศให้ความชื้นระเหิดโดยตรงไม่ผ่านของเหลว เสร็จสิ้นกระบวนการคายน้ำทางกายภาพ ทำให้ยังคงสี รส กลิ่น รูปร่างไว้ และยังคงรักษาคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้มากกว่าร้อยละ 97 ไม่มีสารกันบูด สามารถเก็บไว้เป็นเวลานานในสภาพอุณหภูมิปกติ อร่อยและสด เมื่อพิจารณาจากมุมการเก็บรักษาสารอาหารและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีการอบแห้งแบบฟรีซดรายจึงเหนือกว่ารูปแบบการอบแห้งแบบดั้งเดิม
กลุ่มผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ผลไม้แห้ง คือ วัยรุ่นสตรี ทั้งระดับมัธยม มหาวิทยาลัย พนักงานออฟฟิศ และแม่บ้านที่ยังมีอายุน้อย เป็นต้น สำหรับช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลไม้แห้งส่วนใหญ่วางจำหน่ายในร้านอาหารว่าง แฟรนไชส์ และอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น และเมื่อสำรวจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อาทิ Tmall และ JD จะพบว่ามีแบรนด์ผลไม้แห้งเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมจากการสำรวจจากยอดจำหน่าย ได้แก่ แบรนด์ กั่วหลานยูพิ่น แบรนด์ XIAOMEI PUZI แบรนด์ YUSHIYUAN แบรนด์หัวเว้ยเหิง แบรนด์ Bestore แบรนด์ Be & Cheery แบรนด์ Three Squirrels และ แบรนด์ เหยียนจินผู่จือ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผลไม้แห้งเริ่มขยับไปวางจำหน่ายตามช่องทางไฮเปอร์มาเก็ตเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น
วิเคราะห์อุตสาหกรรมผลไม้แห้ง
- แนวโน้มของตลาดผลไม้แห้งค่อนข้างสดใส อัตราการเติบโตของตลาดค่อนข้างสูง มีการคาดการณ์ว่าขนาดตลาดผลิตภัณฑ์ผลไม้แห้งโลกในปี 2570 จะมีมูลค่าถึง 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (576,000 ล้านบาท) มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 5.5 ขนาดตลาดจะขยายใหญ่ขึ้นทุกปี ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างหันมาให้ความสนใจต่อแนวโน้มอาหารเพื่อสุขภาพ
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์จะเริ่มผสมผสานข้ามประเภท เมื่อพิจารณาภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นตลาดในจีนหรือต่างประเทศ อาหารว่างประเภทผักผลไม้ล้วนแต่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วัตถุดิบที่เป็นผลไม้อบแห้ง แต่ยังครอบคลุมผลิตภัณฑ์ชนิดผักและถั่วอบแห้ง อีกด้วย ผลิตภัณฑ์จะมีความหลากหลาย และดูทันสมัยมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภทผลไม้จึงได้รับความนิยม อาทิ มะม่วงอบแห้ง สับปะรดอบแห้ง สตอเบอรี่อบแห้ง กีวีอบแห้ง ทุเรียนอบแห้ง เป็นต้น ขนมขบเคี้ยวประเภทผลไม้จึงผุดขึ้นในตลาดเป็นจำนวนมาก กลายเป็นลูกรักใหม่ของผลิตภัณฑ์อาหารว่าง
- ตลาดที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเช่นกัน การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และแบรนด์คือหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้อบแห้งในอนาคต ตลาดผลไม้แห้งได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคมีความต้องการความสะดวก คุณค่าโภชนาการ และดีต่อสุขภาพ ตลาดผลไม้แห้งในอนาคตจึงยังมีโอกาสอีกมาก ผู้ประกอบการต้องไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ต้องไล่ตามตลาดการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการปรับปรุงเทคโนโลยีแปรรูป คุณภาพผลิตภัณฑ์ และความสามารถในการแข่งขัน
ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
สืบเนื่องจากแนวคิดการบริโภคของชาวจีนที่เปลี่ยนแปลง หันไปตระหนักถึงการรับประทานสิ่งที่ดีมีประโยชน์เพื่อสุขภาพ ผลไม้แห้งจึงกลายเป็นอีกตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยีการแปรรูปสมัยใหม่ที่สามารถทำให้วัตถุดิบยังคงธรรมชาติทั้งรส กลิ่น สี รูปร่าง แถมยังคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ถึง 97% อีกทั้งระยะเวลาในการเก็บรักษาก็ยาวนานกว่าผลไม้สด ผลไม้แห้งจึงได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดมีการเติบโตในทิศทางที่สดใส มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดผลไม้แห้งจึงเป็นอีกตลาดที่น่าจับตาของผู้ประกอบการไทยที่สามารถพิจารณานำเสนอผลไม้อบแห้งของไทยเข้าสู่ตลาดจีน ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจีนมีการนำเข้าผลไม้แห้งเขตร้อนจากไทยเป็นหลัก ส่งผลให้ไทยพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักเช่นกัน ซึ่งแนวโน้มภาพรวมการนำเข้าผลไม้แห้งเมืองร้อนที่ลดลงของจีน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้แห้งของไทยที่ลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีการยกระดับการบริโภคอยู่เสมอ ผู้ประกอบการไทยจึงต้องมีการพัฒนานวัตกรรมของผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ นำเสนอความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณสมบัติที่หลากหลาย คุณภาพดี บรรจุภัณฑ์สะดวกในการรับประทานและพกพา บุกตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมกับการประชาสัมพันธ์สินค้า การเข้าร่วมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในเทศกาลต่างๆบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ/ซูเปอร์มาเก็ตท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อให้การเข้ามาขยายตลาดผลไม้แห้งในจีนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
แหล่งที่มา https://www.chinairn.com/hyzx/20240122/183709711.shtml