เมืองเซี่ยเหมินขึ้นแท่นได้รับการจัดอันดับเป็น “เมืองซอฟต์แวร์ของจีน”

 

เมืองเซี่ยเหมิน เมืองท่าชายฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน กำลังกลายเป็นดาวรุ่งในวงการซอฟต์แวร์ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้ประกาศผลการจัดอันดับให้เมืองเซี่ยเหมินเป็นหนึ่งใน “เมืองซอฟต์แวร์ของจีน” (China Software City) ประจำปี 2566 โดยมี 14 เมืองเข้ารอบ รายละเอียดตามดารางต่อไปนี้

ลำดับ เมือง หมายเหตุ
1 เมืองเซินเจิ้น(มณฑลกว่างตง)  

เมืองซอฟต์แวร์ระดับ 3 ดาว

2 เมืองหางโจว(มณฑลเจ้อเจียง)
3 กรุงปักกิ่ง
4 เมืองหนานจิง(มณฑลเจียงซู)  

 

 

 

เมืองซอฟต์แวร์ระดับ 2 ดาว

5 นครเซี่ยงไฮ้
6 เมืองเฉิงตู (มณฑลเสฉวน)
7 เมืองจี่หนาน (มณฑลซานตง)
8 เมืองอู่ฮั่น (มณฑลหูเป่ย)
9 เมืองกว่างโจว (มณฑลกว่างตง)
10 เมืองซูโจว (มณฑลเจียงซู)
11 เมืองชิงต่าว (มณฑลซานตง)
12 เมืองเซี่ยเหมิน (มณฑลฝูเจี้ยน)
13 นครฝูโจว (มณฑลฝูเจี้ยน)
14 เมืองอู๋ซี (มณฑลเจียงซู)

 

เมืองซอฟต์แวร์”(China Software City) หมายถึงเมืองที่มีความโดดเด่นและความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ขนาดผลกำไร และคุณภาพทางการพัฒนาอยู่ในระดับชั้นนำ ในขณะเดียวกัน สามารถเป็นผู้นำและแบบอย่างในด้านนวัตกรรม การประยุกต์ใช้แอพพลิเคชั่นแบบบูรณาการ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับธุรกิจ เมื่อผ่านมาตรฐานต่างๆ ที่กําหนดแล้ว จึงสามารถรับการประเมินเป็นเมืองซอฟต์แวร์ของจีนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

ปัจจุบัน เมืองเซี่ยเหมินเป็นเมืองที่มีการรวมตัวของบริษัทด้านซอฟต์แวร์ระดับชั้นนำของจีนหลายแห่ง โดยเน้นผลิตแอพพลิเคชั่นต่างๆ อย่าง บริษัท Meiya Pico Information จำกัด บริษัท Meitu จำกัด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองที่เป็นที่ตั้งของบริษัท Xiamen Reconova Information and Technology จำกัด ซึ่งเทคโนโลยีการจดจำภาพใบหน้า (Facial Recognition Technology) ของบริษัทฯ ถูกนำไปใช้ใน 1 ใน 3 ของ     ท่าอากาศยานในจีน รวมทั้ง ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง (Beijing Capital International Airport) ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งต้าซิง (Beijing Daxing International Airport) ท่าอากาศยานนานาชาติเซินเจิ้นเป่าอัน(Shenzhen Bao’an International Airport) เป็นต้น เทคโนโลยีดังกล่าวได้ครอบคลุมไปถึงการขนส่งทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ

 

เมืองเซี่ยเหมินได้ค้นพบเส้นทางการพัฒนาที่ไม่เหมือนใคร โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นแนวทางหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จีนได้ออกมาตรการและนโยบายอํานวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ เศรษฐกิจดิจิทัล ซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมเกิดใหม่ นอกจากนี้ สวนอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์มณฑลฝูเจี้ยน สาขาเซี่ยเหมิน (Xiamen Branch of Fujian Province Artificial Intelligence Industrial Park) ได้ตั้งขึ้นในสวนซอฟต์แวร์ Phase 3 ของเมืองเซี่ยเหมิน โดยจะอาศัยระบบการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ “4+4+6” ของเมืองเซี่ยเหมิน ซึ่งเป็นกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ มุ่งพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่รวมทั้งอุตสาหกรรม  ไร้คนขับ การรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ การขนส่งอัจฉริยะ การแพทย์อัจฉริยะ เป็นต้น

 

   ความเห็นจากสคต.เซี่ยเหมิน: เมืองเซี่ยเหมินเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านซอฟต์แวร์ในจีน โดยปี 2566 ที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทด้านซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ (มีรายได้ประจำปีกว่า 20 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 (YoY) มีจำนวนบริษัทซอฟต์แวร์ที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รวม 75 แห่ง ในบรรดาบริษัท Hi-tech ระดับชาติ มีร้อยละ 15 เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งรายได้จากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เซี่ยเหมินปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 136,880 ล้านหยวน เติบโต 10.27% และนับจนถึงเดือนกันยายน 2566 มีบริษัทซอฟต์แวร์กว่า 15,000 แห่ง (รวมบริษัททั้งหมดที่ตั้งในสวนซอฟต์แวร์เมืองเซี่ยเหมิน เฟส 1-3) ได้ปักหลักในสวนซอฟต์แวร์ของเซี่ยเหมิน ( Xiamen Software Park) ทั้งนี้ เมืองเซี่ยเหมินสร้างสวนซอฟต์แวร์เฟสแรก ในปี 1998 ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะเซี่ยเหมิน และปัจจุบันได้ขยายเพิ่มเป็น 3 เฟส เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ดึงดูดบริษัทลงทุน บ่มเพาะบุคลากร วิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรม

 

รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมินยังคงจะออกนโยบายและมาตรการสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยนอกจากจะสนับสนุนทางด้านการเงิน ด้านการวิจัยทางเทคโนโลย และด้านอื่นๆ แล้ว ยังส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเมืองเซี่ยเหมินให้มากขึ้น เช่น ในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดเทศกาลการ์ตูนนานาชาติ การประชุมประจำปีของอุตสาหกรรม Animation การประชุม Asian Metaverse Industry Conference  เป็นต้น ซึ่งได้แสดงความสามารถและภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของเซี่ยเหมิน นอกจากนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของเมืองเซี่ยเหมินยังสามารถเชื่อมโยงกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Creative ผสมผสานกับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่รวมทั้ง ภาพยนตร์ เกมส์ เอนิเมชั่น เป็นต้น ซึ่งหากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยและเซี่ยเหมินได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน และร่วมมือในอุตสาหกรรมดังกล่าว จะสามารถนำประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย

 

ที่มา

https://mp.weixin.qq.com/s/LeMVYV_ZR3vjjCvnZ3ULsQ

http://zgt.china.com.cn/v2/content/2024-01/12/content_48930.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

15 กุมภาพันธ์ 2567

thThai