ชี้ช่องโอกาสสินค้าและบริการกลุ่ม hospitality ไทยในโปรตุเกส เหตุท่องเที่ยวและอสังหาฯ ร้อนแรงไม่หยุด ดึงดูดนักท่องเที่ยวนักลงทุนทั่วโลก
ที่ผ่านมาโปรตุเกสมีความโดดเด่นในด้านคุณภาพชีวิต ความเงียบสงบ และความเป็นอยู่โดยรวม ซึ่งมาพร้อมกับภาพจำเดิมๆ คือ “จน และ แก่” แต่วันนี้เศรษฐกิจของโปรตุเกสพลิกผันไปอย่างมาก พัฒนามาเติบโตไม่แพ้ประเทศในสหภาพยุโรปอื่นๆ หลายแห่ง โดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน Paul Krugman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ได้กล่าวไว้ว่า โปรตุเกสมี “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ” อย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีหนี้น้อยที่สุดในสหภาพยุโรป (ปี 2566) เห็นได้ชัดว่าโปรตุเกสเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยว และ “ผู้ต้องการถิ่นฐานในยุโรป” ซึ่งส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของโปรตุเกสเป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะในรูปแบบของบ้านหลังที่สอง การเปิดตัวของอพาร์ทเมนต์ โรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ
ปัจจัยหนุน
- การเติบโตของ GDP : ข้อมูล GDP เบื้องต้นที่เผยแพร่โดยสถาบันสถิติแห่งชาติระบุว่าเศรษฐกิจโปรตุเกสขยายตัว 2.3% ในปี 2566ไตรมาสสุดท้ายมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสและ 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสที่ 4 การฟื้นตัวของการเติบโตรายไตรมาสได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ในขณะเดียวกัน อุปสงค์จากต่างประเทศก็ลดสัดส่วนเชิงลบต่อการเติบโตของ GDP เนื่องจากการส่งออกบริการที่ดี โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว
- การลงทุนจากต่างประเทศ ดันอสังหาริมทรัพย์โต : เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสมาคมอสังหาริมทรัพย์ในโปรตุเกสคาดการณ์แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในโปรตุเกสว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2567 เนื่องจากชาวต่างชาติยังคงมองว่าโปรตุเกสเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการลงทุนและอยู่อาศัย และเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในปี 2567 ในด้านสมาคมการท่องเที่ยวและรีสอร์ทที่อยู่อาศัยของโปรตุเกส (APR) ก็มี “ความคาดหวังอย่างสูง” จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันนักลงทุนหลักมาจาก สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ รวมถึงจีนและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ขณะเดียวกัน ก็ปรากฎความสนใจที่เพิ่มขึ้นจากประเทศต่าง ๆ เช่น บราซิล สหรัฐอเมริกา แคนาดา และ แม้แต่ประเทศในตะวันออกกลาง ด้วยจุดแข็งคือ “คุณภาพชีวิต ความปลอดภัย สภาพอากาศที่ไม่รุนแรงและวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของโปรตุเกสในฐานะประตูสู่ยุโรป”กรรมการผู้จัดการ APR กล่าว
- การท่องเที่ยวทุบสถิติ นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก : ในด้านการท่องเที่ยว รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว การค้า และบริการ Nuno Fazenda ของโปรตุเกสรายงานว่าปี 2566 ที่ผ่านมา โปรตุเกสทำรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 25 พันล้านยูโร เทียบกับ 21.1 พันล้านยูโรในปีก่อนหน้า ขณะที่การพักค้างคืนเพิ่มขึ้น 10.5% จากปีที่แล้ว “มันเป็นปีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวในโปรตุเกส” Fazenda กล่าวเสริม “ในปี 2024 เราจะเติบโตมากกว่าปี 2023” นักท่องเที่ยวจากฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดหลักของโปรตุเกส ช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศยุโรปตอนใต้ โดยชาวอังกฤษเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ยังมีนักเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐอเมริกาและบราซิล โดยเขาได้เรียกมันว่า “มันไม่ใช่การท่องเที่ยว (Tourism) หากแต่มันเป็นอนาคต (Futourism)” จุดมุ่งหมายคือการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นตลอดทั้งปี
- นโยบายรัฐบาล : นโยบายสำคัญที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ คือ “Golden Visa” หรือ วีซ่าโปรตุเกสสีทอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2551 ถึง 2552 วีซ่านี้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศนับตั้งแต่เปิดตัว ดึงดูดนักลงทุนได้ 12,718 รายจากทั่วโลก และดึงดูดเงิน 7.318 พันล้านยูโร ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่นักลงทุนชาวจีน บราซิล อเมริกัน ตุรกี แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ ช่วยให้ผู้ถือครองเข้าถึงการมีถิ่นที่อยู่ในโปรตุเกสได้โดยเส้นทางการลงทุนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่ผ่านมา คือ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นร้อยละ 90 ของมูลค่าทั้งหมดที่ Golden Visa นำมาสู่เศรษฐกิจระหว่างปี 2555 ถึงกันยายน 2566 แม้ว่าปัจจุบันเส้นทาง Golden Visa ผ่านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ก็ได้ทิ้งร่องรอยพัฒนาการและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญและกว้างขวางต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ส่วนเส้นทางอื่นๆ สำหรับวีซ่าประเทศนี้ยังคงดำเนินต่อไป อาทิ ได้อีกต่อไป ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ก็ยังมีทางเลือกเส้นทางอื่นๆ สำหรับวีซ่าพิเศษนี้ อาทิ การบริจาคสำหรับการลงทุนด้านศิลปะ 250,000 ยูโร (หรือ 200,000 ยูโร หากลงทุนในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นต่ำ) การลงทุนในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 500,000 ยูโร เป็นต้น
ที่มา :
Bloomberg
Ciaxa Bank
https://www.portugalresident.com
https://www.essential-business.pt
Global Citizen Solution
ข้อคิดเห็นของ สคต.
โอกาส
- พัฒนาการที่ดีของตลาดโปรตุเกสเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ภาคบริการร้านอาหาร โดยสามารถเจาะไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะยาวชาวยุโรปเหนือ อเมริกา และจีน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีความคุ้นเคยและนิยมอาหารไทย ประกอบกับเป็นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง พร้อมจับจ่าย
- อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ คือ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่สามารถตอบโจทย์การเจริญเติบโตของกลุ่มโปรเจคและภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ดี โดยเฉพาะเขต Lisbon Porto และ Algarve ซึ่งเป็นบริเวณที่ผู้บริโภคกำลังซื้อสูงนิยมย้ายถิ่นฐานไปพำนักหรือใช้เวลาพักผ่อนระยะยาว โดยผู้ประกอบการไทยมีจุดแข็งด้านฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ คุณภาพ ราคา บริการ และความยืดหยุ่นในการออกแบบและการสั่งซื้อ ขณะที่โปรตุเกสเองไม่ได้เป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หลักของโลก จึงไม่ได้มีคู่แข่งจากภายใน
ข้อควรระวัง
- อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยปัจจุบันโปรตุเกสยังนับเป็นตลาดใหม่ จึงจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบ ช่องทางการเข้าตลาดให้ถ่องแท้ โดย สคต. ตั้งเป้าบุกเจาะและผลักดันสินค้าบริการไทยสู่ตลาดโปรตุเกสเชิงรุก และสม่ำเสมอมากขึ้นผ่านช่องทางที่เหมาะสมสำหรับแต่ละสินค้าบริการ พร้อมทั้งวางแผนศึกษาตลาดเชิงลึกเพื่อเข้าถึงข้อมูลและพฤติกรรมของตลาดด้วย
- ในระยะสั้นถึงกลาง สคต. กำหนดแผนการผลักดันสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ของตกแต่งบ้าน (HORECA) ไปยังกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงบนผ่านช่องทางเฉพาะพิเศษ หรือ ณ ห้างสรรพสินค้าหลัก หรือร้านค้าเฉพาะทาง อีกทั้งกำหนดแผนการผลักดันสินค้าและบริการ ตลอดจนครัวไทยผ่านการประชาสัมพันธ์และยกระดับภาพลักษณ์อาหารไทยผ่านตรา Thai SELECT นอกจากนี้ เล็งผลักดันสินค้าที่ไทยมีความโดดเด่น อาทิ สินค้าอัตลักษณ์ไทย สินค้าท้องถิ่นไทย และสินค้ากลุ่ม BCG ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างยิ่งขึ้นในตลาดโปรตุเกส ในงานเทศกาลไทยซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน ในเดือนมิถุนายน ของทุกปี
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด
กุมภาพันธ์ 2567