ในโอกาสที่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารทีมประเทศไทยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดย เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ นางอุรษา มงคลนาวิน เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ณ เมือง Gdansk เมืองท่าสำคัญทางตอนเหนือของโปแลนด์ และอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายพาณิชย์) ณ กรุงวอร์ซอ นางเมทินี ศิริสวัสดิ์ พร้อมด้วย หัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทยที่มีพื้นที่ความรับผิดชอบครอบคลุมโปแลนด์/ยูเครนเข้าร่วมการประชุมด้วย อาทิ ผู้ช่วยทูตฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงลอนดอน ผู้ช่วยทูตฝ่ายอุตสาหกรรม ณ กรุงเวียนนา ผู้ช่วยทูตฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ กรุงบรัสเซลส์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์ ผู้อำนวยการสำนักงาน BOI ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต และผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. ณ กรุงปราก

Team Thailand ฝ่าอากาศหนาว เยี่ยมชมท่าเรือกดัญสก์ (Port of Gdansk)

ที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับโปแลนด์ในสาขาต่างๆ เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการศึกษา รวมทั้งการเตรียมการประชุมหารือทวิภาคีไทย-โปแลนด์ ครั้งที่ 3 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นอกจากนี้ คณะทีมประเทศไทยนำโดยเอกอัครราชทูตฯ อุรษา มงคลนาวินยังได้เข้าเยี่ยมชมท่าเรือกดัญสก์ (Port of Gdansk) ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญอันดับ 1 ของโปแลนด์ อีกด้วย

Team Thailand ฝ่าอากาศหนาว เยี่ยมชมท่าเรือกดัญสก์ (Port of Gdansk) Team Thailand ฝ่าอากาศหนาว เยี่ยมชมท่าเรือกดัญสก์ (Port of Gdansk)

ท่าเรือกดัญสก์ (Port of Gdansk) ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำมอตลาวา ด้านใต้ของอ่าวกดัญสก์ ในทะเลบอลติก เป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโปแลนด์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของสหภาพยุโรป และอันดับที่ 20 ของโลก จึงทำให้ท่าเรือกดัญสก์เป็นท่าเทียบเรือที่สำคัญของยุโรปและเขตทะเลบอลติกท่าเรือหนึ่ง จากการจัดอันดับท่าเทียบเรือในยุโรป ท่าเรือกดัญสก์ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีสินค้าผ่านท่าจาก 48 ล้านตัน หรือลำดับที่ 18 ในปี 2563 และเลื่อนขึ้นเป็นลำดับที่ 13 (68.2 ล้านตัน) ในปี 2565 และลำดับที่ 8 (81 ล้านตัน) ในปี 2566

 

ท่าเรือกดัญสก์สามารถให้บริการรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ เพราะนอกจากท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป และตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ยังมีท่าเทียบเรือเฉพาะ อีกอย่างน้อย 7 ท่า ได้แก่ ท่าเทียบเรือสินค้าธัญพืช ท่าเทียบเรือ Ro/Ro ท่าเทียบเรือสินค้าถ่านหิน สินค้าเชื้อเพลิงเหลว (LPG) แร่ธรรมชาติ และปุ๋ย การให้บริการของท่าเรือส่วนใหญ่ เป็นสินค้านำเข้าร้อยละ 80 และสินค้าส่งออกร้อยละ 20 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ท่าเรือกดัญสก์มีตู้สินค้าผ่านถึง 2,050,287 TEU สินค้าที่ทำการขนถ่ายในท่าเรือกดัญสก์ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงเหลว (ร้อยละ 47) สินค้าทั่วไป (ร้อยละ 28) ถ่านหิน (ร้อยละ 17) ธัญพืช (ร้อยละ 4) และอื่นๆ (ร้อยละ 4)

 

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อคิดเห็นของสคต.

1. ท่าเรือกดัญสก์อยู่ระหว่างการขยายท่าเรือเพื่อยกระดับการให้บริการและเพิ่มขีดความสามารถ (capacity)
ให้พอเพียงกับการให้บริการตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับนำเอาระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารงานที่ท่าเรือ ซึ่งจะทำให้คุณภาพของบริการสูงขึ้นและยกระดับความสำคัญของท่าเรือเพื่อแข่งขันกับท่าเรือขนาดใหญ่อื่นๆ
ในสหภาพยุโรปในอนาคต

2. นอกจากการเป็น 1 ใน 10 ท่าเรือท่าเรือขนาดใหญ่ของสหภาพยุโรป ท่าเรือกดัญสก์ยังเป็นท่าเรือขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ในน่านน้ำทะเลบอลติก เป็นรองเพียงแค่ท่าเรือ Ust-Luga ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินและวัตถุดิบด้านพลังงานของรัสเซีย และด้วยความที่ท่าเรือกดัญสก์มีการขนส่งสินค้าหลากหลายประเภทและอยู่ในพื้นที่ของสหภาพยุโรป จึงทำให้ท่าเรือกดัญสก์กลายเป็นตัวเลือกสำคัญของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในการเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลกับการขนส่งทางบกในภูมิภาคยุโรปกลางยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศบอลติก และกลุ่มประเทศนอร์ดิก รวมไปถึงยูเครน

 

ที่มา: www.portgdansk.pl

thThai