แว่นตาได้แสดงบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ไม่ว่าในด้านการเรียน การทำงาน กิจกรรมกีฬา หรือบันเทิง ปัจจุบัน แว่นตาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยปรับแก้การมองเห็น ยังเป็นหนึ่งในเครื่องประดับแฟชั่น และสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ที่แสดงถึงวิถีชิวิตที่ทันสมัยของผู้บริโภค
ตลาดแว่นตาของจีนได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มความต้องการด้านการบริโภคแว่นตาของชาวจีนมีการเปลี่ยนแปลง โดยได้เน้น “ความหลากหลาย” และ “ความเป็นลักษณะส่วนบุคคล” (Personalization) มากขึ้น ประเภทแว่นตาของยุคปัจจุบัน นอกจากแว่นสายตาสั้น แว่นสายตายาว แว่นกันแดดแล้ว ยังมีคอนแทคเลนส์ ซึ่งมีความหลายหลาย และมีสไสตล์ที่แตกต่างกัน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
iimedia Research ได้เปิดเผยข้อมูล และสถิติการบริโภคแว่นตาในปี 2566 ของชาวเน็ตจีนดังนี้
1) สำหรับประเภทแว่นตาที่เคยซื้อ มีร้อยละ 59.81 เคยสั่งซื้อคอนแทคเลนส์ ร้อยละ 58.46 เคยสั่งซื้อแว่นสายตาสั้น ร้อยละ 54.26 เคยสั่งซื้อแว่นกันแดด และร้อยละ 11.37 เคยสั่งซื้อแว่นสายตายาว
2) สำหรับการเลือกซื้อเลนส์ของแว่นสายตาสั้น มีร้อยละ 59.72 เลือกซื้อเลนส์เรซิน ร้อยละ 37.27 เลือกซื้อเลนส์ PC ร้อยละ 30.79 เลื้อซื้อเลนส์กระจก ร้อยละ 25.93 เลือกซื้อเลนส์ไนลอน และร้อยละ 23.38 เลือกซื้อเลนส์ MR แว่นสายตาสั้นได้แสดงบทบาทสำคัญในการปรับแก้การมองเห็นของตา คุณภาพของแว่นเหล่านี้จะมีผลกับความสบาย และความแข็งแรงของตา โดยเลนส์ที่ใช้ นอกจากต้องมีบทบาทพื้นฐาน เช่น ต้านรังสียูวี แสงสีฟ้า เป็นต้น ยังต้องสอดคล้องกับความต้องการอื่นๆ ของลูกค้า เช่น ต้องเป็นแว่นที่น้ำหนักเบา ดูดี ทนทาน เป็นต้น
3) สำหรับความชอบของการเลือกกรอบแว่นตา มีร้อยละ 64.35 เลือกกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบเรซิน ร้อยละ 47.45 เลือกกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบที่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ ร้อยละ 30.09 เลือกกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบผสม ร้อยละ 29.86 เลือกกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบที่เป็นพลาสติก ร้อยละ 22.22 เลือกกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบกระจก
4) ในด้านการเลือกแว่นกันแดด ความถี่ของการซื้อแว่นกันแดด ร้อยละ 41.4 ซื้อปีละ 1 ครั้ง ร้อยละ 20.70 ภายใน 2-3 ปี ซื้อ 1 ครั้ง ร้อยละ 17.20 ซื้อครึ่งปี 1 ครั้ง ร้อยละ 6.73 จะซื้อตอนกรณีแว่นเก่าสิ้นสภาพ ร้อยละ 4.24 ซื้อทุกๆ 3 เดือน 1 ครั้ง หรือมากกว่า 1 ครั้ง
สำหรับสไตล์แว่นกันแดดที่ชาวเน็ตของจีนนิยม มีร้อยละ 50.37 นิยมรุ่นที่เปลี่ยนสีได้ ร้อยละ 48.63 นิยมรุ่นที่ดาราใส่ ร้อยละ 42.64 นิยมรุ่นที่มีสีธรรมชาติ ร้อยละ 36.41 นิยมรุ่นคลาสสิก และร้อยละ 30.17 นิยมรุ่นสไตล์เก่า แว่นกันแดดเป็น 1 ในเครื่องประดับแฟชั่น การออกแบบและรุ่นของแว่นเหล่านี้จะเปลี่ยนตามฤดูกาลและแนวโน้มความต้องการของตลาด ซึ่งทุกๆ ปี แบรนด์แฟชั่นและนักออกแบบต่างๆ จะเปิดตัวแว่นกันแดดรุ่นใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านแฟชั่นของผู้บริโภค
5) การเลือกใช้คอนแทคเลนส์ ระยะเวลาการใช้คอนแทคเลนส์ มีร้อยละ 60.18 เปลี่ยนเดือนละครั้ง ร้อยละ 53.85 เปลี่ยนสัปดาห์ละครั้ง ร้อยละ 33.03 เปลี่ยนตามรายไตรมาส ร้อยละ 26.24 เปลี่ยนวันละครั้ง และ ร้อยละ 16.06 เปลี่ยนทุกๆ ครึ่งปี ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับการใส่แว่น การใส่คอนแทคเลนส์ช่วยเสริมภาพลักษณ์ และไม่เกิดแรงกดกับจมูกและหู นอกจากนี้ ราคาถูก และไม่จำเป็นต้องใช้ซ้ำ เนื่องจากมีการเปลี่ยนใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อน้อย ดังนั้น คอนแทคแลนส์จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ซึ่งการเลือกซื้อคอนแทคเลนส์ ต้องเลือกที่เหมาะกับค่าสายตา ดังนั้น เมื่อซื้อคอนแทคเลนส์ ผู้บริโภคจะพิจารณาถึงหลากหลายปัจจัย เช่น ค่าการแพร่ผ่านออกซิเจน (Oxygen transmissibility) ปริมาณของน้ำ ระยะเวลาการใช้งาน ราคา และแบรนด์สินค้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แว่นตา เป็นหนึ่งในสินค้าแฟชั่นในปัจจุบัน และจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและทางนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้สามารถเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคให้มากขึ้น ในอนาคตอุตสาหกรรมแว่นตาจะพัฒนาไปทิศทางที่มีความเป็นเฉพาะบุคคลมากขึ้น และมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมแว่นตาจึงจำเป็นต้องเริ่มหันมาใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรีไซเคิลได้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ความเห็นจากสคต.เซี่ยเหมิน : ข้อมูลสถิติจากศุลกากรจีน ประมวลโดย Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่า ปี 2566 ที่ผ่าน จีนนำเข้าแว่นตาชนิดต่างๆ รวมทั้งส่วนประกอบจากทั่วโลก มีมูลค่าทั้งสิ้น 751.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่ารวมของสินค้าในพิกัดศุลกากร 90013000,90031100,90031910,90031920,90031990,90039000,90049090) ลดลงร้อยละ 0.01 (YoY) โดยนำเข้าจากเขตไต้หวันของจีนมากสุดเป็นอันดับที่ 1 (คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 28.75 ของการนำเข้าทั้งหมด) รองลงมา ได้แก่ ไอร์แลนด์ จีนแผ่นดินใหญ่ (ในรูปแบบ Re-Import) อิตาลี และญี่ปุ่น ทั้งนี้ สำหรับการนำเข้าแว่นตาและส่วนประกอบจากไทยของจีน มีมูลค่านำเข้าเป็น 3.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 142.79 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.44 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยมณฑลกว่างตุ้งได้เป็นด่านนำเข้าสินค้าดังกล่าวมากที่สุดจากไทย คิดเป็นร้อยละ 95.87 ของการนำเข้า นอกจากนี้ จากการเข้าเยี่ยมคารวะสำนักงานพาณิชย์เมืองเซี่ยเหมิน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สินค้าแว่นตา รวมถึงแว่นตาแฟชั่นเป็นกลุ่มสินค้าศักยภาพของเมืองเซี่ยเหมินที่สำนักงานต้องการผลักดันสู่ตลาดสากลเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาเมืองเซี่ยเหมินได้จัดงานแสดงสินค้าแว่นตาโดยเฉพาะ โดยมีเนื้อที่จัดแสดงถึง 60,000 ตารางเมตร ซึ่งมีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงาน
แว่นตาเป็นสิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในปัจจุบัน จุดแข่งขันของตลาดแว่นตาจะไม่เพียงเป็นเฉพาะด้านราคากับรุ่นสินค้า ยังคงจะขึ้นกับด้านอื่นๆ เช่น การออกแบบและน้ำหนักของแว่นตา และความบางของเลนส์ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของตลาด
ที่มา
https://www.iimedia.cn/c1077/98173.html
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
23 กุมภาพันธ์ 2567