ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มณฑลซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มุ่งบ่มเพาะโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการใช้ในการอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน โดยปัจจุบันมีการสร้างโครงการทั้งสิ้น 44 โครงการ สามารถกลั่นน้ำทะเลได้ 603,200 ตันต่อวัน ตั้งเป้ากำลังการผลิตกว่า 200 ล้านตันต่อปี

 

ในการนี้ กรมทรัพยากรน้ำมณฑลซานตงร่วมกับ 6 หน่วยงาน ได้ออกมาตรการต่างๆ ในการดำเนินการปรับปรุงนโยบายจูงใจในการประหยัดน้ำ และคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลซานตงร่วมกับ 9 หน่วยงาน ได้ออกแผนปฏิบัติการเพื่อการปฏิรูปกลไกราคาน้ำเชิงลึก  ส่งเสริมการอนุรักษ์ และการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเคร่งครัด ซึ่งล้วนเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแยกเกลือออกจากน้ำทะเล นอกจากนี้ ยังได้มีการก่อตั้งสถาบันวิจัยแยกเกลือออกจากน้ำทะเลและการใช้ประโยชน์แห่งมณฑลซานตงขึ้น มุ่งเน้นสร้างห่วงโซ่การวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และยังได้จัดตั้ง Jiaodong Economic Circle Seawater Desalination and Comprehensive Utilization Industry Alliance จัดตั้งแพลตฟอร์มนวัตกรรมแบบบูรณาการ และจัดตั้งสมาคมประยุกต์ใช้น้ำทะเลกลั่นในมณฑลซานตง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว

 

การประยุกต์ใช้น้ำทะเลได้กลายเป็นวิธีการที่สำคัญในการขจัดปัญหาการขาดแคลนน้ำทั่วโลก โดยจีนเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่ขาดแคลนน้ำ โดยมีการครอบครองทรัพยากรน้ำจืดต่อหัวเพียงร้อยละ 25 ของค่าเฉลี่ยของโลก ในฐานะที่เป็นโครงการมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ในการรับประกันแหล่งน้ำจืดของจีน จึงคาดการว่าอุตสาหกรรมการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลจะได้รับการพัฒนาอย่างเฟื่องฟู

 

สถานการณ์อุตสาหกรรมแยกเกลือออกจากน้ำทะเลของโลก

 

น้ำเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิต เป็นเส้นชีวิตของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าและไม่สามารถทดแทนได้ของมนุษยชาติ บนโลกมีปริมาณน้ำจืดเพียงร้อยละ 2.5 และมีน้ำทะเลร้อยละ 97.5 สืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนทรัพยากรน้ำจืดได้กลายเป็นปัญหาสำคัญ โดยพบว่าปัจจุบันประชากรโลกร้อยละ 33.33 กำลังประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำในชีวิตประจำวัน และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีประชากรโลกถึงร้อยละ 66.66 ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ ดังนั้น การนำน้ำทะเลมาแปรสภาพเป็นน้ำจืดจึงเป็นแนวทางการแก้ไขที่ดีที่สุดของวิกฤติการณ์น้ำในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นโครงการที่สำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากร และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมสูงมาก

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็พัฒนาความสามารถในการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลเพิ่มขึ้น โดยเมื่อปี 2543 ทั่วโลกสามารถแยกเกลือออกจากน้ำทะเลปริมาณไม่ถึง 30 ล้านตันต่อวัน และต่อมาในปี 2563 ได้พัฒนาความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านตันต่อวัน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี นอกจากนี้ ต้นทุนในการแยกเกลือจากน้ำทะเลลดลง จากช่วงปี 2513 – 2522 อยู่ที่ 10 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงเหลือไม่ถึง 1 เหรียญสหรัฐต่อตันในปัจจุบัน

 

ปัจจุบัน มีประชากรประมาณ 300 ล้านคนจากกว่า 160 ประเทศ ใช้น้ำจากการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลมาเป็นเวลานาน ยกตัวอย่าง ประเทศในตะวันออกกลาง อย่างซาอุดิอาระเบีย และอิสราเอล ร้อยละ70 ของแหล่งน้ำจืดมาจากการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลเช่นกัน จากรายงานการใช้น้ำทะเลในจีนปี 2564 เปิดเผยว่า ในปี 2564 จีนมีโครงการกลั่นน้ำทะเลทั้งสิ้น 144 โครงการ สามารถผลิตน้ำได้กว่า 1.85 ล้านตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเป็นปริมาณ 205,350 ตันต่อวัน ซึ่งตามแผนการดำเนินงานมีการระบุอย่างชัดเจนว่าในปี 2568 จีนจะมีความสามารถในการแยกเกลือจากน้ำทะเลได้ถึง 2.9 ล้านตันต่อวัน

 

เป้าหมายอุตสาหกรรมแยกเกลือออกจากน้ำทะเลของจีน

 

จีนมีการนำน้ำที่ได้จากการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลมาใช้ทั้งในอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน ในที่นี้ การใช้น้ำแยกเกลือ ฯ ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ที่พื้นที่ชายฝั่งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ใช้ในอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำสูงอย่างเช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้า ปิโตรเคมี และเหล็กกล้า เป็นต้น โดยในปี 2564 มีอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำแยกเกลือ ฯ เพิ่มขึ้นมาคือ อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมไฟฟ้า เป็นต้นสำหรับการใช้น้ำแยกเกลือ ฯ ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ใช้ในเกาะและภาคเหนือ นครเทียนจิน และเมืองชิงต่าว โดยในปี 2564 มณฑลที่ใช้น้ำแยกเกลือ ฯ เพิ่มขึ้นมา คือ มณฑลกวางตุ้ง เกาะที่ขาดแคลนน้ำในมณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลเจ้อเจียง เพื่อป้องกันภัยแล้งฉุกเฉิน

 

ในแผนปฏิบัติการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564 -2568) ระบุว่าจะมีการมุ่งเน้นการส่งเสริมขนาดการใช้ประโยชน์จากการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล โดย

 

1) ยกระดับความมั่นคงในการผลิตน้ำประปาจากการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ขาดแคลนน้ำจะต้องใช้น้ำจากการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลเป็นแหล่งเสริมในชีวิตประจำวัน เทศบาลต้องเพิ่มน้ำประปาและแหล่งน้ำสำรองฉุกเฉิน ปรับปรุงสัดส่วนการกำหนดค่าของน้ำจากการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลในแหล่งน้ำทุกปี รวมทั้งการสร้างเมืองนำร่องและโครงการสาธิตการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล

2) ขยายสัดส่วนปริมาณการใช้น้ำจากการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลในนิคมอุตสาหกรรม สนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำสูงในพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้ความสำคัญกับการใช้น้ำแยกเกลือ ฯ รวมถึงสร้างเขตนำร่องอุตสาหกรรมที่นำน้ำแยกเกลือ ฯ มาใช้

3) เพิ่มความสามารถในการใช้น้ำบนเกาะและเรือให้สูงขึ้น โดยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการกลั่นน้ำทะเลบนเกาะ และสนับสนุนให้เรือประมงทะเลติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องกลั่นน้ำทะเล

4) ขยายพื้นที่ในการประยุกต์ใช้น้ำจากการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล เป็นต้น

 

การสร้างความมั่นคงในการผลิตน้ำจืดเป็นเป้าหมายเร่งด่วนของจีน

— จีนได้เริ่มมีการวิจัยการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลตั้งแต่ช่วงปี 2493 – 2502 ซึ่งมีการวิจัยต่อเนื่องมาเกือบ 60 ปี นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติจีน ฉบับที่ 10 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมการแยกเกลือจากน้ำทะเลมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 70 ต่อปี อย่างไรก็ตาม คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของโลก ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรจีนที่คิดเป็นร้อยละ 20 ของโลก และเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้น การสร้างความมั่นคงในการผลิตน้ำจืด เพื่อรับประกันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน จึงเป็นภารกิจที่สำคัญและเร่งด่วนของจีน

— อย่างไรก็ดี จีนกำลังเผชิญกับการขาดแคลนพื้นที่ในการปรับสภาพน้ำ ราคาที่สูงของการผันน้ำจากใต้ขึ้นมาสู่เหนือ จึงต้องเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล และรับประกันความปลอดภัยของน้ำ

— ในการนี้ วิธีการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลแบบดั้งเดิมโดยวิธีกลั่น มักมีปัญหาการกัดกร่อนและตะกรันอย่างรุนแรง อีกทั้งยังจำเป็นต้องร่วมมือกับโรงไฟฟ้าที่มีการปล่อยความร้อนเหลือทิ้ง การสร้างและการดำเนินงานมีตุ้นทุนที่สูง คุณภาพน้ำที่ปล่อยออกมาก็ยังค่อนข้างต่ำ จึงไม่นิยมใช้ เทคโนโลยีการ Reverse Osmosis จึงเป็นวิธีการหลักในการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลในปัจจุบัน โดยเริ่มจากระบบดึงน้ำทะเล กรองแบบหยาบลดความขุ่นของน้ำทะเล จากนั้นใช้ปั๊มแรงดันสูง นำน้ำทะเลเข้าสู่เมมบรอนออสโมสิสย้อนกลับ โดยวิธีนี้ปริมาณเกลือจะลดลงอย่างมาก การผลิตน้ำจะถูกป้อนลงในถังเก็บน้ำแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และคุณภาพของน้ำเป็นไปตามข้อกำหนดของน้ำในจีน (มาตรฐานสุขาภิบาลแห่งชาติสำหรับน้ำดื่มในจีน GB5749-2006) การแยกเกลือออกจากน้ำทะเลเป็นกระบวนการกำจัดเกลือและแร่ธาตุอื่น ๆ เพื่อให้เหมาะสำหรับการดื่มหรือการชลประทาน น้ำเกลือเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการนี้สามารถใช้แปรรูปเป็นเกลือทะเลได้ และในพื้นที่ที่น้ำดื่มธรรมชาติมีจำกัด สามารถผลิตน้ำจืดสำหรับชุมชนได้

 

ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

 

ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จึงทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นในแต่ละประเทศทั่วโลก จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงได้มีการผลักดันโครงการการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันของประชากรจีนและผลักดันการใช้ในพื้นที่อุตสาหกรรมให้มากขึ้น โครงการดังกล่าวถือเป็นอีกโครงการตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยที่มักประสบกับปัญหาภัยแล้งในปัจจุบัน นอกจากนี้ เทคโนโลยีการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลยังสามารถใช้ในการผลิตน้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง เช่น น้ำบริสุทธิ์พิเศษสําหรับการเตรียมวัสดุเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกมาก การแยกเกลือออกจากน้ำทะเลไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณานำมาศึกษาและมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในส่วนของการอุตสาหกรรม ชีวิตประจำวัน การเกษตร และสำรองในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

 

แหล่งที่มา https://it.chinairn.com/news/20230719/174721170.html

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

 

thThai