ตลาดผู้บริโภคของอินเดียมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และจีน ภายในปี 2570 โดยคาดว่าตลาดจะมีมูลค่าถึง 1.41 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2569 จากการขยายตัวของชนชั้นกลาง รวมถึงจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดผู้บริโภคในปี 2566 ประกอบด้วย อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ความทุกข์ยากของภาคการเกษตร (Agricultural distress) พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง (Downtrading) การเลือกซื้อตามใจตัวเอง (Aspirational buying) และการเลือกใช้สินค้าคุณภาพดี (Premiumisation) โดยตลาดในเมืองเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ตลาดผู้บริโภคในอินเดียขยายตัวในปี 2566 ผ่านช่องทางจากห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และอีคอมเมิร์ซ
จากภาพรวมของการบริโภค พบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อต่ำจะลังเลในการจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ และความเดือดร้อนในชนบท บริษัทในกลุ่มสินค้า FMCG อาทิ สินค้าประเภทบิสกิต สบู่ แชมพู และน้ำหอม ไม่สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าเนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในกลุ่มนี้ไม่เป็นไปตามที่คาด ทั้งนี้ พื้นที่ชนบทมีสัดส่วนตลาด FMCG ร้อยละ 40 ของภาพรวมตลาด FMCG ทั้งหมด โดยในปี 2566 จะสังเกตุเห็นได้ว่าความต้องการของตลาดส่วนนี้ลดลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ และจากภัยธรรมชาติในพื้นที่ เช่น มรสุม ขณะที่ความต้องการในตัวเมืองยังคงที่เนื่องจากรายได้ ในเมืองสูงกว่าและมีเสถียรภาพมากกว่า ซึ่งจากสถิติยอดขายสินค้า FMCG ในชนบท ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2566 พบว่ามีการขยายตัวร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายในตัวเมืองกลับเติบโตที่ร้อยละ 8 ซึ่งตรงข้ามกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิดที่ตลาดชนบทมีการเติบโตเร็วกว่าตลาดในเมืองถึงสองเท่า ส่งผลให้บริษัทต่างๆ หันมามุ่งเน้นตลาดพรีเมี่ยมมากขึ้น และไม่ลงทุนในการผลิตสินค้ากลุ่ม Mass ทั้งนี้ผู้บริโภคที่มีรายได้ 1,000,000 – 1,500,000 รูปีอินเดียต่อปี หรือประมาณ 11,000 – 17,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของสัดส่วนตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคก็ตาม ซึ่งมีการเจริญเติบโตลดลง
ในทางกลับกัน กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงมีการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มสินค้าระดับพรีเมี่ยม อพาร์ทเมนท์หรู รถยนต์ราคาแพง สินค้าระดับบนมียอดขายดีในปี 2566 ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารมีการใช้บริการหนาแน่น ห้องพักโรงแรมมีราคาสูงขึ้นและมีความต้องการเข้าพักเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดมากนัก ได้อานิสงส์จากการเติบโตของตลาดหุ้นที่มีทิศทางบวกจึงช่วยขับเคลื่อนการบริโภคระดับบนได้ ด้านกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุน้อยกว่าที่มีการกู้ยืมสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อสำหรับอุปโภคบริโภคก็ช่วยขับเคลื่อนความต้องการ ในการบริโภคได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง
สำหรับทิศทางตลาดในปี 2567
คาดการณ์ว่าภาพรวมของตลาดการบริโภคในปี 2567 จะสดใส เนื่องจากการลดลงของอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่ลดลงเป็นปัจจัยให้ความต้องการตลาดฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปีที่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป จึงมีแนวโน้ม ที่จะมีการอัดฉีดค่าใช้จ่ายไปยังมือประชาชนก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ทั้งนี้ คาดว่าแคมเปญการใช้จ่าย จะช่วยฟื้นฟูความต้องการบริโภคทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2567 โดยตลาดชนบทและสินค้ากลุ่ม Mass เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวให้เห็นแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าในกลุ่มไลฟ์ไสตล์และเครื่องแต่งกายยังคงชะลอตัว แม้ว่จะมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าร้อยละ 50-65 ก็ตาม โดยคาดว่าความต้องการกลุ่มสินค้านี้จะชะลอตัวต่อเนื่องอีกไตรมาสและจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากเดือนเมษายนเป็นต้นไป
โดยปัจจัยในการเลือกใช้สินค้าคุณภาพดีมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2567 คาดว่าการเลือกซื้อสินค้าจากราคาจะลดลง และเกิดการจับจ่ายผ่านการซื้อประสบการณ์เพิ่มขึ้น เช่น การพักผ่อน การท่องเที่ยว ก่อนนำไปสู่การซื้อสินค้าต่อไป
ด้านบริษัท FMCG ตั้งเป้าอัตราการขยายตัวเป็นเลขสองหลักในปี 2567 หลายบริษัทเพิ่มความมีนวัตกรรมและ ความมีคุณภาพในสินค้า รวมถึงมุ่งเน้นที่จะกระจายสินค้าไปยังชนบทเพิ่มมากขึ้น
ด้านการค้าออนไลน์กำลังเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าในปี 2566 การค้าแบบออฟไลน์จะดำเนินการได้เต็มรูปแบบแล้ว แต่มากกว่าร้อยละ 50 ของการขายมาจากการค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2565 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 45
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นมากขึ้นในปี 2567 จากการที่อัตราเงินเฟ้อลดลงและราคาวัตถุดิบต่ำ ส่งผลให้แบรนด์ระดับท้องถิ่นและภูมิภาคเติบโตต่อเนื่อง ที่จะขึ้นมาแข็งขันกับแบรนด์ต่างชาติได้
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองเจนไน
อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมากและมีความหลากหลาย การเข้าตลาดอินเดียแม้จะมีโอกาสอยู่มากแต่ก็มีความท้าทายสูงเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าตลาดอินเดียควรมีการศึกษาข้อมูลตลาด ลักษณะพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อวางแผนกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการตลาด และวางตำแหน่งทางการตลาดให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถเจาะตลาดอินเดียบรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยทั่วไปสินค้าในอินเดียจะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ สินค้า Mass สำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่มีรายได้ต่ำ และสินค้า Premium สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง-สูง อย่างไรก็ดี การทำตลาดสำหรับสินค้า Mass ในอินเดียจะมีความท้าทายในเรื่องการแข่งขันทางราคาสูง และสินค้าไทยซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจะมีข้อเสียเปรียบทางด้านราคา เนื่องจากต้นทุนทางการขนส่งสินค้าและอัตราภาษีการนำเข้า โดยในกรณีทำตลาด Mass การเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานหรือร่วมทุนผลิตในอินเดียโดยใช้วัตถุดิบในประเทศจะเป็นประโยชน์มากกว่าในระยะยาว ขณะที่กลุ่มสินค้าพรีเมี่ยมสำหรับผู้บริโภครายได้ปานกลาง-สูงที่มีกำลังซื้อ อาจใช้วิธีการส่งออกได้โดยใช้ประโยชน์จากความตกลง ASEAN-India FTA ในการลดอัตราภาษีนำเข้า โดยผู้ประกอบการไทยสามารถตรวจสอบรายการสินค้า HS Code ที่ได้รับการลดภาษีภายใต้ความตกลงดังกล่าว พร้อมขอใช้สิทธิ Form AI ได้เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน 1385
แหล่งที่มา:
- ‘Inside the 2024 shopping bag: Where is the Indian consumer headed?’, Economic Times, 2nd January 2024
https://economictimes.indiatimes.com/ - ‘India’s Consumer Industry: Transformations, Challenges & Future Expectations’, Indian Retailer, 9th January 2024
https://www.indianretailer.com/
- ‘Retailers in a fix as discounts fail to draw buyers’, Economic Times, 18 January 2024
https://economictimes.indiatimes.com/