“ตลาดอียูในตอนนี้อิ่มตัวมากถึง 70-80% และเริ่มน่าเบื่อแล้ว” เป็นมุมมองนาย Murat Kolbasi ประธานสภาธุรกิจการค้าตุรกี-ฮ่องกง “ตลาดเอเชียโดยเฉพาะกลุ่ม RCEP เป็นตลาดที่น่าให้ความสำคัญและเข้าหามากยิ่งขึ้น”
การเติบโตอย่างจำกัดของการค้าระหว่างตุรกีกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วแสดงให้เห็นถึงอนาคตที่ดูจะยากขึ้นสำหรับการค้ากับกลุ่มประเทศอียูของตุรกีซึ่งตามปกติแล้วพึ่งพาการส่งออกไปยังยุโรปมากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ตลาดที่เริ่มอิ่มตัว รวมทั้งกฎระเบียบเงื่อนไขที่เพิ่มมากขั้น ทำให้การส่งออกไปยังยุโรปไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกต่อไป
โดยในปี 2567 นี้ ตุรกีตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกไว้ที่ 402 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นภาคการส่งออกสินค้า 267 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากภาคธุรกิจบริการอีก 135 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น การหาแผนสำรองโดยการหาตลาดใหม่ๆ เพื่อชดเชยตลาดที่อิ่มตัวไปแล้วก็เป็นเรื่องที่จำเป็น
นาย Murat Kolbasi ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของสภาธุรกิจการค้าตุรกี-เอเชียแปซิฟิกมาแล้ว 3 สมัย และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาธุรกิจการค้าตุรกี-ฮ่องกง ได้พยายามดึงความสนใจของผู้ประกอบการตุรกีไปยังตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่ลงนามในความตกลงทางการค้า RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือด้านการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้ โดยมีสมาชิกรวม 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศในเอเชีย และอีก 5 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมประชากรของประเทศในกลุ่มประเทศ RCEP แล้วมากถึง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรโลก
นาย Murat ย้ำว่า เราควรเริ่มมองหาตลาดและโอกาสใหม่ๆ ได้แล้ว ผู้ส่งออกของเราส่งออกสินค้าและบริการไปยังอียูมากถึง 50-55% แต่ตอนนี้ตลาดอียูดูจะอิ่มตัวไปแล้วกว่า 70-80% ด้วยเหตุผลนี้การมองหาตลาดใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน ความร่วมมือ RCEP ซึ่งได้มีการลงนามของประเทศสมาชิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า การค้าระหว่างประเทศในเอเชียเติบโตอย่างมากอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้เอเชียมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จากข้อมูลสถิติ คาดการณ์ว่าในปี 2573 นั้น GDP ของโลกมากกว่า 50% จะ มาจากกลุ่มประเทศ RCEP และด้วยความตกลงนี้จะทำให้ภายในปี 2573 GDP ของประเทศจีนจะโตขึ้น 0.5% เกาหลีใต้ซึ่งไม่เคยเข้าร่วมกรอบความตกลงใดมาก่อนจะโตขึ้น 1.4% และญี่ปุ่นคาดว่าจะโตขึ้น 1.3% และสำหรับผลจากความตกลงดังกล่าวที่อาจมีให้เห็นบ้างแล้วคือ การลงทุนด้านสินค้าเสื้อผ้าพร้อมใส่ที่เพิ่มขึ้นในประเทศกัมพูชา ลาว พม่า รวมทั้งเวียดนาม
การค้าระหว่างประเทศสมาชิก RCEP จะมีมูลค่ามากถึง 45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในจำนวนนี้ ราว 17-20 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะมาจากประเทศที่อยู่ในความร่วมมือดังกล่าว ส่วนอีก 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้น จะมาจากประเทศที่อยู่นอกความร่วมมือ ซึ่งว่ากันว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความร่วมมือ RCEP นี้คือชาติตะวันตกทั้งหลาย และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดยุโรปอิ่มตัวด้วยเช่นกัน
การส่งออกของตุรกีไปสหภาพยุโรปนั้นได้มาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว นาย Murat กล่าว โดยเขายังเสริมอีกว่า ตุรกียังไม่เคยลงมาเล่นในตลาดเอเชียอย่างจริงจังเลยสักครั้ง และขณะนี้ก็ถึงเวลานั้นแล้ว เขายังเสริมว่า ในปี 2565 ตุรกีเสียดุลการค้าให้กว่า 17 ประเทศ รวมเป็นเงินกว่า 77 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และสำหรับปี 2566 ที่ตัวเลขการค้ายังไม่ออกมานั้น เขาก็เชื่อว่าตัวเลขการขาดดุลก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก ตุรกีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นมูลค่ามากถึง 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในขณะที่ทุกฝ่ายหันไปสนใจจีน อีกครึ่งหนึ่งของการขาดดุลการค้านั้นมาจาก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย ผู้ประกอบการของเราที่เคยนำเข้าจากตลาดเหล่านี้ถึงเวลาที่ต้องส่งออกบ้างแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ นาย Murat ยังย้ำว่าตุรกีนั้นมีข้อตกลงการค้าเสรีอยู่กับบางประเทศในกลุ่มความร่วมมือ RCEP ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ซึ่งจะย่อมทำให้การเข้าถึตลาดประเทศเหล่านี้ง่ายกว่า
สำหรับมุมมองด้านการลงทุนนั้น นาย Murat กล่าวว่า กลุ่ม RCEP ก็น่าสนใจเช่นกัน ตลาดจะเข้าถึงได้ง่ายดายรวมถึงเรื่องต้นทุนด้วยนั้น การทำความร่วมมือกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเขาได้ยกตัวอย่างของ บริษัท Evyap ของตุรกี ที่เข้าไปลงทุนในมาเลเซียด้วยมูลค่าที่สูงถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่สร้างความได้เปรียบอย่างมากที่จะเข้ามาลงเล่นในตลาดนี้
ตุรกีได้เคยระบุถึง 18 ประเทศในแผ่นยุทธศาสตร์การต่างประเทศระยะไกล ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น แคนาดา มาเลเซีย เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ชิลี ไทย และเวียดนาม ซึ่งจะเห็นได้ว่า 10 ประเทศ จากรายชื่อทั้งหมดดังกล่าวอยู่ในกลุ่ม RCEP ซึ่งถือเป็น “ประเทศเป้าหมาย” ที่ภาครัฐได้ให้ความสนับสนุนเพื่อพัฒนาการส่งออกอยู่แล้ว ที่ผ่านมาตุรกีให้ความสำคัญกับสหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด นาย Murat กล่าว ด้วยเหตุนี้เราถึงยังไม่ได้มีโอกาสเข้ามาลงเล่นในตลาดของเอเชียสักที “เมื่อพูดถึงเอเชีย เรากลับมองว่ามันอยู่ไกลมาก บินไปเอเชียใช้เวลา 8 ชั่วโมง ในขณะที่บินไปสหรัฐอเมริกาใช้เวลา 10 ชั่วโมง เราไม่เคยเรียกตะวันตกไกล แต่เรากลับเรียกตะวันออกไกล ดังนั้นก่อนอื่นเลย เราต้องทำให้พวกเขาเข้ามาใกล้เราก่อน”
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
ตุรกีถือเป็นศูนย์กลางทางการค้าของทั้งสองฝั่งทวีป (ยุโรปและเอเชีย) มาช้านาน โดยเป็นทั้งแหล่งผลิต ศูนย์รวมและกระจายสินค้า และเส้นทางการค้าสำคัญมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ความสนใจในภูมิภาคเอเชียของผู้ประกอบการตุรกีโดยส่วนใหญ่ยังคงค่อนข้างจำกัดอยู่ไม่เกินแถบตะวันออกกลาง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะฝั่งเอเชียที่อยู่ไกลกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ หรือกลุ่มอาเซียน ซึ่งชาวตุรกีเรียกรวมๆ ว่าตะวันออกไกล มีระยะทางค่อนข้างห่าง และมีวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยคุ้นเคย ประกอบกับหลายประเทศมีความแข็งแกร่งในการผลิต และเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าชนิดที่ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว ทั้งสินค้าอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง
อย่างไรก็ตาม ด้วยมูลค่าการค้าและจำนวนประชากรที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าตลาดเอเชียมีขนาดใหญ่และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่จับตามองและได้รับความสนใจจากหลายๆ ประเทศรวมทั้งตุรกี ซึ่งหากมองแง่ของโอกาสที่จะสามารถยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสนอจัดทำความตกลงทางการค้าระหว่างกันเพิ่มเติมทั้งในแบบพหุภาคีหรือแบบทวิภาคี ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้าแก่ผู้ประกอบการของทั้งสองฝ่ายในอนาคตต่อไป
ที่มา: https://www.dunya.com/ihracat/avrupa-pazari-doydu-asyada-topa-girme-zamani-haberi-718128