ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีกําลังขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน รัฐบาลกระจายเศรษฐกิจอื่นๆเพื่อหลุดพ้นจากการพึ่งพาน้ำมัน ให้ความสำคัญสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ผ่านข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ( CEPA) กับต่างประเทศ ที่จะช่วยส่งเสริมเป้าหมายทางเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนทวิภาคี ด้วยแนวทางที่ยืดหยุ่นและปฏิบัติได้จริง รัฐบาลยูเออีตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการค้าที่ไม่ใช่น้ำมันไว้ที่มูลค่า 1.08 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2574
ตามรายงานของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) มูลค่าการค้าต่างประเทศที่ไม่ใช่น้ำมัน ของยูเออี ปี 2566 เกินกว่า 953,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือขยายตัวร้อยละ 26 เทียบกับปีที่ผ่านมา
Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktum รองประธานาธิบดีและเจ้าผู้ปกครองรัฐดูไบ ให้ความสำคัญมากกับข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุม(CEPA) และกล่าวว่าปี 2566 เป็นปีที่ยูเออีได้เชื่อมความร่วมมือใหม่ผ่าน CEPA มากมาย มูลค่าการค้าต่างประเทศที่ไม่ใช่น้ำมันปี 2566 ก็สูงเป็นประวัติการณ์
การค้าระหว่างประเทศ
การค้าต่างประเทศของยูเออีกับคู่ค้า 10 อันดับแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ตุรกีเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 103 เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
จีนยังคงรักษาสถานะเป็นคู่ค้าหลักของยูเออี ตามด้วยอินเดีย สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบียและตุรเคีย ประเทศอื่นที่อยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรก ได้แก่ อิรัก สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และโอมาน
สำนักประชาสัมพันธ์ยูเออีแถลงว่า การเติบโตของการค้าต่างประเทศที่ไม่ใช่น้ำมัน สามารถชนะความท้าทายท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก ในปี 2566 มูลค่าการส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่ามากกว่า 441 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มร้อยละ 16.7 เทียบปีกับปี 2565 มูลค่าการส่งออกต่อ (re-exports สินค้าไม่ใช่น้ำมันเพิ่มขึ้นเช่นกัน ที่มูลค่า 188 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับปี 2565 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 เมื่อเทียบกับปี 2564
การนำเข้า
การนําเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 38 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยสินค้านำเข้ากลุ่ม 10 อันดับแรกขยายตัวร้อยละ 20.9 เมื่อเทียบกับปี 2565 สินค้าที่เหลือขยายตัวร้อยละ 6.3 สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ ทองคำ โทรศัพท์ น้ำมันปิโตรเลี่ยม รถยนต์ และเพชร
การส่งออก
การค้าที่ไม่ใช่น้ำมันของยูเออีปี 2566 มี พันธมิตรด้านการส่งออก 10 อันดับแรกเติบโตขึ้นอย่างมาก อาทิ การค้ากับตุรเคียสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 5.1 ของยอดส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นร้อยละ 103.7 อัตราขยายตัวสูงที่สุดในบรรดา 10 อันดับแรก ซึ่งเป็นผลหลังจากที่ยูเออีและตุรเคียได้ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (CEPA)ระหว่างกันในเดือนกันยายน
ประเทศอื่นที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวโดดเด่น ได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ร้อยละ 47.9) ซึ่งขณะนี้อยู่ในอันดับที่แปดในบรรดาคู่ค้าสิบอันดับแรกของยูเออี สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 20.1) และจีน (ร้อยละ 4.2) การค้ากับอินเดียซึ่งมีข้อตกลง CEPA ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ขยายตัว
ร้อยละ 3.9 สัดส่วนคิดเป็นกว่าร้อยละ 7.6 ของการค้าทั้งหมด
สินค้าบริการ
ในปี 2566 ยูเออีเกินดุลการค้าบริการจากปี 2564 มูลค่า 26.21 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 56.36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2566 แสดงให้เห็นว่าส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในการส่งออกบริการทั่วโลก โดยมีภาคส่วนสำคัญในการเติบโตนี้ ได้แก่ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริการระดับมืออาชีพและการเงิน การศึกษา การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ บริการทางการเงินอิสลาม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และโลจิสติกส์
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแรงหนุนสำคัญที่รัฐบาลยูเออีให้ความสำคัญ โดยได้ลงทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างหนักมาเป็นเวลานาน และเติบโตอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐดูไบได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ โดยมีสนามบินและสายการบินระดับโลกอย่างเอมิเรตส์เชื่อมต่อเมืองสู่จุดหมายปลายทางทั่วโลก ในปี 2566 มีผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินดูไบ 87 ล้านคนหรือขยายตัวร้อยละ 31.7 แซงหน้าระดับก่อนเกิดโรคระบาดที่มีจำนวนผู้โดยสาร 86.4 ล้านคน นอกจากนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของยูเออีส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง สนับสนุนภาคส่วนอื่นๆมากมาย เช่น การขนส่ง การโรงแรม และการค้าปลีก และยังสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ เช่น โรงแรม รีสอร์ท สวนสนุก โดยรวมแล้วการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวของยูเออี ได้ช่วยกระจายเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาน้ำมัน เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของความพยายามในการกระจายความเสี่ยงของยูเออี และมีส่วนสําคัญต่อ GDP คาดว่าการท่องเที่ยวจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต
การค้ากับประเทศไทย
ยูเออีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นคู่ค้าอันดับที่ 23 ของไทย ในตลาดโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของไทยในตะวันออกกลาง ในปี 2566 การค้าระหว่างไทย-ยูเออี รวม 3,230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 3.4% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย การส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 1.1% ของการส่งออกรวม (ขยายตัว -6.23%) และการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 5.6% ของการนำเข้ารวม (ขยายตัว -3.4%)
– การส่งออก ไทยส่งออกสินค้าไปยูเออีมูลค่า 3,230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) เครื่องใช้ไฟฟ้า 3) เครื่องอิเลคโทรนิกส์ 4) อัญมณีและเครื่องประดับ 5) ผลิตภัณฑ์ไม้
– การนำเข้า ไทยนำเข้าสินค้าจากยูเออีมูลค่า 16,283 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าร้อยละ 95 คือน้ำมันดิบน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ ที่เหลือประมาณร้อยละ 5 ได้แก่ สินแร่โลหะและผลิตภัณฑ์ อัญมณีเงินแท่ง/ทองคำ และเคมีภัณฑ์