มูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) เป็นสถาบันวิจัยและการศึกษาแบบอนุรักษ์นิยมที่ใหญ่ที่สุด และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางที่สุดในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี 2516 ได้ประกาศ “ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ประจำปี 2567” (2024 Economic Freedom Index) โดยพิจารณานโยบายและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจใน 184 ประเทศ ผลปรากฏว่าประเทศโอมาน มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเสรี (Moderately free) ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 56 (ขยับขึ้น 39 อันดับ) จากอันดับที่ 95 เมื่อปี 2566 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประชาคมโลกชื่นชมความพยายามของ รัฐบาลโอมานในการผลักดันให้เปิดเสรี ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มความซื่อตรง ในภาครัฐ และประสิทธิภาพของกระบวนยุติธรรม จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
ทุกปี The Heritage Foundation จะเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Freedom Index) โดยวัดจากปัจจัยใน 4 มิติ (ระบบกฎหมาย ขนาดของรัฐบาล ประสิทธิภาพในการควบคุมดูแล และการเปิดเสรีของตลาด) และดัชนีอีก 12 ตัว (สิทธิในทรัพย์สิน ประสิทธิภาพกระบวนยุติธรรม และความซื่อตรงในภาครัฐ เป็นต้น) ปีนี้โอมานได้คะแนนรวม 62.9 คะแนน จาก 100 คะแนน ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 56 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 จาก 14 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ( MENA) โดยได้รับการจัดหมวดหมู่ทางเศรษฐกิจเพิ่มจากเศรษฐกิจที่ค่อนข้างไม่เสรี (mostly not free) เป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเสรี (Moderately free)
กลุ่ม MENA 14 ประเทศ นำโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ในอันดับ 22 ของโลกได้รับ 71.7 คะแนน อิสราเอลอันดับที่ 26 เฉลี่ย 70.1 คะแนน กาตาร์อันดับที่ 28 เฉลี่ย 68.8 คะแนน และบาห์เรนอันดับที่ 54 เฉลี่ย 63.4 คะแนน
เศรษฐกิจโอมาน
รายงานของ Heritage Foundation กล่าวถึงเศรษฐกิจยุคใหม่ของโอมาน รัฐบาลกำลังสร้างความเป็นทันสมัย (Modernization) ดําเนินการเพื่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการพัฒนาให้กว้างขึ้นและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อนุมัติแผนบริหารงบประมาณระยะกลาง 5 ปี เร่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากน้ำมัน เพื่อปรับสมดุลงบประมาณและลดภาระหนี้สินของรัฐบาล ปฎิรูประบบภาษี โดยในปี 2564 มีมาตรการสําคัญที่ถูกจับตามองอย่างมาก คือการจัดเก็บภาษี VAT เก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีนิติบุคคล (corporate tax) สําหรับบริษัทมีรายได้สูง และพยายามสร้างรายได้จากภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรและประมง เหมืองแร่ พลังงาน โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และภาคการผลิต โดยใช้กลยุทธดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในหลายด้าน แม้ว่ากระบวนการอนุมัติอาจใช้เวลานาน
ความก้าวหน้าของโอมานอาจเกิดจากหลายปัจจัย จากข้อมูลของ Financial Data & Economic Indicators (CEIC) แสดงให้เห็นว่าในปี 2565 หนี้สาธารณะโอมานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.2 ของ GDP ซึ่งลดลง อย่างมากจากปี 2564 ที่ร้อยละ 62.3 ในขณะที่ข้อมูลของกระทรวงการคลังแสดงงบประมาณเกินดุลของโอมาน ในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าในปี 2567 จะเกินดุลได้อีกครั้ง ทั้งนี้ Fitch Ratings คาดว่าในปี 2567 จะเกินดุลร้อยละ 1.8
โอมานกำลังพยายามที่จะนำประเทศติด 1 ใน 40 อันดับของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ 2583 (Vision 2040) ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายต่างๆ เช่น สร้างความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจ การกระจายความเสี่ยงของเศรษฐกิจน้ำมัน พัฒนาและจัดการทุนมนุษย์ (human capital) และได้ทยอยเปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจและการปฏิรูปหลายชุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้เมื่อปี 2563 กระทรวงการคลังของโอมานได้นำเสนอแผนทางการเงินระยะกลางเพื่อให้บรรลุความสมดุลทางการคลังที่ยั่งยืนภายในปี 2567 นี้
ในรายงานของ Arab Gulf States Institute ในกรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ชื่นชมความก้าวหน้าในการกําหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มั่นคง รวมทั้งการดำเนินงานของภาคการเงินอย่างต่อเนื่อง สร้างความต้านทานต่อความผันผวนของราคาพลังงาน และสร้างให้ประเทศเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ แต่ทั้งนี้ โอมานจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคได้นั้นจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้น
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
กลุ่มประเทศ GCC กำลังให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และอาจเป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องเตรียมพร้อมปรับตัวตามกระแสโลก ขณะที่ เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนผ่านจากการฟื้นตัวไปสู่ภาวะชะลอตัว บางเขตเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากภาวะการเงินที่ตึงตัว ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ
เมื่อประเทศโอมานต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ เต็มได้ด้วยความผกผัน การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการบรรลุเป้าหมาย Vision 2040 รวมไปถึงความท้าทายรูปแบบใหม่ในยุคหลังโควิด – 19 รัฐบาลโอมานได้มุ่งมั่นผลักดันการยกระดับนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดจนคำนึงถึงความยุติธรรมและเท่าเทียมในสังคม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่ดีให้แก่ภาคธุรกิจ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาพรวมไปพร้อมกัน
การค้าของไทยกับโอมาน
เศรษฐกิจโอมานปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนภาครัฐบาลอย่างต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนการที่เพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับโอมานล่าสุดเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 101.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-53.5%) ส่งออกไปโอมาน 43.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (+3.1%) และนำเข้า 57.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-67.10%)
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง และปลากระป๋อง
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากโอมาน คือ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสดแช่แข็ง ปุ๋ย/ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ และเศษโลหะและผลิตภัณฑ์