เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP14 เรื่อง สหรัฐฯ เรียกคืนอบเชยปนเปื้อนสารตะกั่ว
อบเชยหรือซินนามอนเป็นเครื่องเทศที่เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยโดยทั่วไปมาเป็นรยะเวลานาน ชาวอเมริกันนิยมนำอบเชยซึ่งเป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวไปปรุงอาหาร ขนม และเครื่องดื่มหลากหลายเมนู เช่น หมูแฮมอบ เนื้อตุ๋น ซินนามอนโรล พายแอปเปิ้ล และกาแฟคาปูชินโน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S. FDA) ได้ตรวจพบสินค้าอาหารเด็ก รสซอสแอปเปิ้ลบรรจุถุง ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ มีสารตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงในระดับระหว่าง 2,300 – 5,100 ส่วนต่อล้านส่วน (PPM) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคและก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่ว (Lead Poisoning) จึงได้สั่งเรียกเก็บสินค้าดังกล่าวและดำเนินการการสอบสวนจนพบว่าอบเชยผงที่ใช้ในการผลิตสินค้าที่มีปัญหาทั้งหมดเป็นวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศเอกวาดอร์
นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ยังได้ขยายการสืบสวนจนล่าสุด ได้ผลการตรวจพบสินค้าอบเชยผงที่จำหน่ายปลีกในตลาดสหรัฐฯ มีสารโลหะหนักทั้งสารตะกั่วและสารโครเมียมในปริมาณสูงระหว่าง 2 – 3.4 ส่วนต่อล้านส่วน (PPM) ซึ่งแม้ว่าจะไม่สูงเท่ากับสินค้าอาหารเด็กที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ แต่การบริโภคสินค้าดังกล่าวก็ยังอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ จึงได้ออกคำแนะนำให้ผู้ผลิตเรียกคืนสินค้าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งสินค้าที่ตรวจพบมีทั้งสิ้น 6 แบรนด์ ได้แก่
-
-
- แบรนด์ La Fiesta วางจำหน่ายที่ห้าง La Superior SuperMercados
- แบรนด์ Marcum วางจำหน่ายที่ห้าง Save A Lot
- แบรนด์ MTCI จำหน่ายที่ห้าง SF Supermarket
- แบรนด์ Swad จำหน่ายที่ห้าง Patel Brothers
- แบรนด์ Supreme Tradition จำหน่ายที่ห้าง Dollar Tree และ ห้าง Family Dollar
- แบรนด์ El Chillar จำหน่ายที่ห้าง La Joya Morelense
-
ทั้งนี้ ผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคสารตะกั่วขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งอายุของผู้บริโภค ปริมาณที่บริโภค และความต่อเนื่องในการบริโภค โดยอาจจะส่งผลกระทบตั้งแต่ทำให้เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ระบบประสาทและความสามารถทางด้านความจำลดลง ไปจนถึงขั้นภาวะความดันโลหิตสูง ไตวาย และสมองเสื่อมได้
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
แม้ว่าไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าอบเชยไปยังตลาดสหรัฐฯ ไม่มากนัก ในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออกอบเชยไปสหรัฐฯ เพียง 9.8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ เท่านั้น โดยในปี 2566 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าอบเชยเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 145.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 24.73 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีแหล่งนำเข้าหลักจากอินโดนีเซีย (ร้อยละ 42.79) รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม (ร้อยละ 34.73) ศรีลังกา (ร้อยละ 17.38) อินเดีย (ร้อยละ 2.43) และจีน (ร้อยละ 0.81) ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ไทยก็ยังมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องเทศไปตลาดสหรัฐฯ พอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขมิ้นชัน และพริกไทย ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 8.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 แบ่งเป็นมีมูลค่าส่งออกขมิ้นชั้น ประมาณ 5.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ พริกไทยประมาณ 2.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ การตรวจสอบคุณภาพสินค้าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการควบคุมกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ให้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคอย่างเข้มงวด ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ จึงควรให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตามกำหนดเพื่อลดโอกาสในการเกิดการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าในอนาคต
ซึ่งในส่วนของกลุ่มสินค้าอาหารองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้แนะนำให้สินค้ามีสารตะกั่วปนเปื้อนได้ในระดับที่ไม่เกิน 5 – 20 ส่วนต่อพันล้านส่วน (PPB) ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/FeXVHhNMpug
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก