เนื้อหาสาระข่าว: “ส้มโอ” ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างกว้างขว้างสำหรับชาวเอเชีย มีถิ่นกำเนิดมาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส้มโอจัดว่าเป็นหนึ่งในผลไม้ในพืชตระกูลส้ม (Citrus) แม้ว่าส้มโอจะเป็นผลไม้อันเป็นที่รู้จักอย่างดีในโซนเอเชีย แต่สำหรับในฝั่งสหรัฐอเมริกานั้นจะไม่คุ้นเคยกับส้มโอมากสักเท่าไหร่ ซึ่งโดยมากแล้วชาวอเมริกันจะรู้จักเกรฟฟรุ๊ต (Grapefruit) มากกว่า ทั้งที่ในความจริงแล้วนั้นเกรฟฟรุ๊ตไม่ใช่ผลไม้ที่มีอยู่แต่เดิมแล้วในธรรมชาติ แต่ทว่าเกิดจากการผสมสายพันธุ์กันระหว่างส้มโอ (Pomelo) และส้มหวาน (Sweet Orange) อย่างไรก็ตาม ส้มโอเป็นผลไม้ที่พบได้ในพื้นที่ลาตินอเมริกาบางประเทศ อาทิ เม็กซิโก เปรู และโคลอมเบีย เช่นกัน ทว่าลักษณะเนื้อในส้มโอของทางลาตินอเมริกานั้นแตกต่างจากส้มโอของเอเชีย โดยเนื้อข้างในจะมีเนื้อสีแดงเข้มขณะที่ส้มโอของบ้านเราจะมีสีเหลืองอ่อน-เหลืองทอง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามผลักดัน “ส้มโอไทย” เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ผ่านการร่วมกันพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าส้มโอ ระหว่างกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และประเทศไทย ซึ่งผลของการทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี ทำให้ในที่สุดสินค้าส้มโอจากไทยได้ผ่านการตรวจสอบเชิงคุณภาพความปลอดภัยจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลไม้ชนิดที่ 8 ที่ได้รับอนุญาตกระบวนการตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งออก (Preclearance Program) มายังสหรัฐฯ ทำให้ในปัจจุบันมีสินค้าผลไม้ไทยที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งออก ได้แก่ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด เงาะ สัปปะรด แก้วมังกร และส้มโอ เป็นผลไม้ชนิดล่าสุด
Marc Gilkey เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำหน่วยงานบริการจรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service: APHIS) สังกัดกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หนึ่งในบุคคลที่มีส่วนดำเนินงานภารกิจครั้งนี้ได้ระบุถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันอันแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯและไทย ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นการอาศัยความร่วมมือประสานงานกันผ่านช่องทางต่าง ๆ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จของ “การทูตส้มโอ” ในฐานะตัวแทนความร่วมมือตลอดระยะเวลากว่า 190 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ โดยในโอกาสนี้คุณ Marc ได้อธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของ APHIS ที่เขาได้มีส่วนดำเนินงานในส่วนของ APHIS ในภาพรวมของการค้าสินค้าทางการเกษตร (Agricultural Trade) มีหน้าที่ตรวจสอบในทางกีฏวิทยา (Entomology) โรคพืชวิทยา (Plant Pathology) และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) นอกจากนี้ต้องควบคุมในเรื่องของวัชพืช (Pest Risk Analysis) และกระบวนการสำคัญอย่างการใช้รังสีไอออไนซ์ (Ionizing Radiation) สำหรับกระบวนการทำหมันแมลง (Sterile Insect Technique) ซึ่งนับว่าเป็นเทคโนโลยีควบคุมแมลงศัตรูพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงหรือศัตรูพืชเล็ดรอดผ่านพาหะผลไม้เข้าสู่ประเทศสหรัฐฯ
คุณ Marc ยังได้กล่าวอีกด้วยว่าส้มโอถือเป็นผลไม้ที่มีความพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขามีส่วนร่วมในการผลักดันความสำเร็จครั้งนี้อย่างแข็งขัน ทั้งนี้ตัวของเขาเองมีความต้องการที่จะนำเสนอส้มโอเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯให้มากขึ้น และตั้งเป้าหมายให้สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกส้มโอที่สำคัญจากประเทศไทยต่อไป
บทวิเคราะห์ และข้อคิดเห็น: จากการสืบค้นข้อมูลประเทศผู้ผลิและส่งออกสินค้าส้มโอทั่วโลก Tridge ได้รายงานว่าในปัจจุบันจีนเป็นประเทศผู้ผลิตส้มโอมากที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่งอยู่ที่ 5.2 ล้านตัน/ปี ตามด้วยเวียดนามมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน/ปี และเม็กซิโกอยู่ที่ 4.9 แสนตัน/ปี ขณะที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตมากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก อยู่ที่ 2.7 แสนตัน/ปี และสหรัฐฯเองมีกำลังการผลิตส้มโออยู่ที่ 3.4 แสนตัน/ปี เป็นอันดับที่ 5 ของโลก ทั้งนี้ ข้อมูลเป็นการนับปริมาณตาม HS Code 080540 ซึ่งนับรวมระหว่างส้มโอและเกรฟฟรุ๊ต
แผนภาพที่1: แสดงสัดส่วนการนำเข้าสินค้าส้มโอจากประเทศต่าง ๆ ของสหรัฐฯในปี 2023
หมายเหตุ ข้อมูลเป็นการนับปริมาณตาม HS Code 080540 ซึ่งนับรวมระหว่างส้มโอและเกรฟฟรุ๊ต
ข้อมูลจากแผนภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่าในปีที่ผ่านมาประเทศแอฟริกาใต้เป็นผู้ส่งออกสินค้าส้มโอมายังสหรัฐฯรายใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าประมาณ 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 40 ของทั้งหมด ตามด้วยเวียดนามซึ่งสหรัฐฯนำเข้าส้มโอมูลค่าประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 17 ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่เม็กซิโกและอิสราเอลมีมูลค่าการส่งออกส้มโอมายังสหรัฐฯใกล้เคียงกัน โดยมีมูลค่าห่างกันหลักแสนเหรียญสหรัฐฯ ในส่วนของประเทศไทยนั้นในปีที่ผ่านมานั้นมีการส่งออกสินค้าส้มโอมายังสหรัฐฯเพียง 3,372 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.15 เท่านั้น ทั้งนี้ การที่ปรากฏข้อมูลมูลค่าและปริมาณการนำเข้าที่น้อยเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงว่าสินค้าส้มโอไทยพึ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนตามกระบวนการที่กล่าวไปก่อนหน้าช่วงกลางปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ควรทราบคือสินค้าส้มโอจากเวียดนามนั้นพึ่งได้รับการอนุญาตขึ้นทะเบียนในลักษณะเดียวกันกับกรณีสินค้าส้มโอไทยเมื่อช่วงปลายปี 2022 นั่นหมายความว่าข้อมูลมูลค่าการส่งออกส้มโอเวียดนามมายังสหรัฐฯในปีเดียวกันนั้นมูลค่าก็ค่อนข้างต่ำ (มูลค่าประมาณ 30,000 เหรียญสหรัฐฯ) ทำนองเดียวกันกับข้อมูลของส้มโอไทยในข้างต้น ทว่าเมื่อพิจารณาข้อมูลการนำเข้าส้มโอของเวียดนามในปีถัดมาก็ถือว่าเติบโตแบบพุ่งกระฉูดมาอยู่ที่อันดับที่ 2 ของการนำเข้าทั้งหมด แซงหน้าประเทศที่ส่งออกส้มโอมายังสหรัฐฯ ประจำอย่างเม็กซิโก และแม้กระทั่งประเทศจีนแบบทิ้งห่างอย่างมีนัยยะสำคัญ
ในรูปการณ์ลักษณะนี้อาจเปรียบเทียบข้อมูลที่ใกล้เคียงกันได้ว่า ด้วยความที่สินค้าส้มโอไทยและเวียดนามนั้นมีความใกล้เคียงกันทางสายพันธุ์ เป็นไปได้มากน้อยเพียงใดว่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของมูลค่าการส่งออกส้มโอมายังสหรัฐฯของเวียดนามตามข้อมูลที่ปรากฎข้างต้นนั้น จะสะท้อนถึงความต้องการสินค้าส้มโอในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกันภายในตลาดสหรัฐฯ (ไม่ว่าผู้บริโภคจะเป็นคนกลุ่มไหนก็ตาม) ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลของสคต. ณ เมืองไมอามีพบว่าสินค้าผลไม้จากประเทศเขตร้อน อาทิ ลาตินอเมริกา และเอเชีย ชาวอเมริกันมักจะรู้จักและเรียกโดยรวมว่า ผลไม้เมืองร้อน (Tropical Fruit) ซึ่งสำหรับหมวดหมู่สินค้าผลไม้ดังกล่าวนี้ สินค้าผลไม้จากประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในเชิงคุณภาพที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อพิจารณาปัจจัยที่กล่าวไปนั้น สินค้าส้มโอจากประเทศไทยมีโอกาสแข่งขันทางการตลาดและการค้ากับสินค้าส้มโอเวียดนามได้มากแค่ไหนและรูปแบบใด อาจเป็นโจทย์ที่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกสินค้าส้มโอประเทศไทยที่เล็งเห็นโอกาสทางการค้าในตลาดสหรัฐฯจะต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ เพื่ออาศัยประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการทูตสู่โอกาสทางการค้าที่ตอบสนองต่อศักยภาพของประเทศไทยต่อไป
*********************************************************
ที่มา: American Foreign Service Association (The Foreign Services Journal)
เรื่อง: “Pomelo Diplomacy: How a favorite Thai fruit advances U.S trade ties”
โดย: Marc Gilkey
สคต. ไมอามี /วันที่ 7 มีนาคม 2567