ตลาดเครื่องประดับจีนปี 2566 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ดึงดูดทั้งแบรนด์จีนและต่างชาติ

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสามารถจำแนกได้เป็นเครื่องประดับต่างๆเช่น เครื่องประดับตกแต่งภายในบ้าน เครื่องประดับเสื้อผ้า เครื่องประดับรถยนต์ ทั้งนี้ เครื่องประดับตกแต่งเสื้อผ้าจะสามารถจำแนกออกเป็น ต่างหู เครื่องประดับศีรษะ สร้อยคอ นาฬิกาข้อมือ กำไล แหวน เป็นต้น ปัจจุบันพฤติกกรรมผู้บริโภคชาวจีนด้านการบริโภคเครื่องประดับแฟชั่นหรือจิวเวลรี่เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน ซึ่งอ้างอิงจาก iiMedia Research  ได้รายงานยอดค้าปลีกสินค้าเครื่องประดับจิวเวลรี่ปี 2566 มูลค่าสะสมอยู่ที่ 47.2 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 จากปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ เป็นมูลค่าขายปลีกสะสมของ ทองคำ เงิน และเครื่องประดับมีมูลค่า  331,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 โดยยอดขายปลีกสินค้าทอง เงิน และเครื่องประดับคิดเป็นร้อยละ 0.7 ของยอดการขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด ตลาดผู้บริโภคในอุตสาหกรรมเครื่องประดับจิวเวลรี่ในประเทศจีนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

      แนวโน้มพฤติกรรม กลุ่มเป้าหมาย การเลือกบริโภคเครื่องประดับของชาวจีน

 

ปัจจัยที่ผู้บริโภคจีนตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องประดับจิวเวลรี่ จะพิจารณาจากคุณภาพสินค้าเป็นอันดับแรก คิดเป็นร้อยละ 39.1 ของผู้บริโภคชาวจีน ตามมาด้วย ปัจจัยด้านการออกแบบของผลิตภัณฑ์ ราคา และส่วนลด ในขณะที่ การใช้ ผู้มีชื่อเสียงบอกต่อมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคน้อยที่สุด ด้านการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องประดับที่มีแบรนด์ ผู้บริโภคมากกว่าครึ่งหนึ่งให้ความสำคัญกับการออกแบบ รูปลักษณ์ และคุณภาพของเครื่องประดับ ตามมาด้วยการลดราคา ทั้งนี้  ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้ออย่างมีเหตุผลมากขึ้น การนำไปใช้งานจริง ความสวยงาม และความสามารถในการซื้อ ได้กลายเป็นเป้าหมายหลักของผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์ และสำหรับกลุ่มผู้บริโภคในอุตสาหกรรมเครื่องประดับได้ปรับเปลี่ยนโดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ช่วงคนวัยทำงานเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มขยายไปสู่กลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุน้อยลง ผู้บริโภคหลังยุค 90 รวมถึงคนยุคมิลเลนเนียลได้ค่อยๆ กลายเป็นผู้บริโภคหลักที่ให้ความสนใจในการซื้อเครื่องประดับทองด้วยเช่นกัน ในช่วงปีที่ผ่านมา (2566)  แบรนด์เครื่องประดับแฟชั่นต่างๆ ได้ใช้กลยุทธ์การร่วมมือทางการตลาดระหว่างเกมเอนิเมชั่นและการ์ตูนยอดนิยมซึ่งจะออกแบบสินค้าให้เข้ากับเทรนด์และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหล่านี้เป็นเทคนิคการตลาดที่สามารถดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่ ทำให้ผู้บริโภคในช่วงยุคมิลเลนเนียลมีความสนใจ หลงใหลกับสินค้าได้ง่ายเพิ่มขึ้น นับเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์เครื่องประดับจิวเวลรี่ และด้วยการก้าวเข้ามาของกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่มากขึ้น การร่วมแบรนด์ (Co-Branding ) จะเป็นกลยุทธ์ขยายโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมต่อไป     จากการพัฒนาเศรษฐกิจและการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของชาวจีนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นส่งผลให้ความต้องการของการบริโภคของชาวจีนในการซื้อเครื่องประดับยังคงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่ง iiMedia Research แสดงผลความต้องการเครื่องประดับของผู้บริโภคชาวจีนอยู่ที่ 1.05 พันล้านคนในปี 2564 เพิ่มขึ้น      ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ จุดประสงค์หลักที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความนิยมในการซื้อเครื่องประดับเนื่องจากต้องการสร้างภาพลักษณ์ในสังคม โดยผู้บริโภคเลือกซื้อต่างหูมากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องประดับผม และ เครื่องประดับหน้าอก ตามลำดับ และ สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20.2 ของผู้บริโภคที่เลือกซื้อนาฬิกาเพื่อเหตุผลทางสังคมเป็นหลัก นอกจากนี้การเลือกซื้อเครื่องประดับเพื่อเป็นการรำลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญในชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยในการบริโภคเครื่องประดับเช่นกัน  ทั้งนี้ ประเทศ 5 อันดับแรกที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมเลือกซื้อแบรนด์เครื่องประดับ ได้แก่ จีน สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี และเกาหลีใต้ ซึ่งในจำนวนนี้ผู้บริโภคมากกว่าครึ่งหนึ่งเลือกซื้อแบรนด์ของจีนเอง (ร้อยละ 57.6)  โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา           แบรนด์เครื่องประดับของจีนได้ริเริ่มการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและการออกแบบสไตล์ประจำชาติ          ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนเช่นกัน ตัวอย่างแบรนด์ดังที่ประสบความสำเร็จในตลาดจีน อาทิ Pandora ซึ่งเน้นดีไซน์ที่ทันสมัย ตัวเลือกหลากหลาย ราคาจับต้องได้ แบรนด์ Chow Tai Fook และ Chow Tai Seng เป็น แบรนด์จีนที่มีชื่อเสียงยาวนาน ผสมผสานวัฒนธรรมดังเดิมกับดีไซน์ทันสมัย เป็นต้น

 

     ออนไลน์ ไลฟ์สตรีมมิ่งการทำการตลาดที่ยังคงเติบโต

 

ช่องทางการจำหน่ายของอุตสาหกรรมเครื่องประดับในจีน เป็นไปในทิศทางตามการเติบโตของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีน ซึ่งการจำหน่ายทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของจีน ณ เดือนมิถุนายน 2566 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนอยู่ที่เกือบ 1.08 พันล้านคน คาดว่าภายในปี 2570 ตลาดอีคอมเมิร์ซสตรีมมิ่งสดของจีนจะเกิน 6 ล้านล้านหยวน ชี้ให้เห็นถึงช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นพลังสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนี้และมีทิศทางจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

     ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ปี 2566 ไทยส่งออกเครื่องประดับและอัญมณีเป็นสินค้าอันดับ 3 คิดเป็นมูลค่า 14,787.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.15 ตลาดส่งออก 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ตามลำดับ ส่วนตลาดส่งออก 5 อันดับแรกของไทย (ไม่รวมทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป) ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ จากตัวเลขสถิติกระทรวงพาณิชย์ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทำรายได้สูงสุดของไทย โดยจุดเด่นของไทยคือการออกแบบผสมผสานเครื่องประดับงานฝีมือของไทยเป็นที่ได้รับความพอใจต่อนานาประเทศ และจากการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Bangkok Gems and Jewelry Fair หรือ BGJF ครั้งที่ 69 ในวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คาดการณ์สามารถสร้างมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 3.85 พันล้านบาท และในงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เยี่ยมชมงานจากจีนมากเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย ภายในงานมีอินฟลูเอนเซอร์จีนจำนวนไม่น้อยเดินทางเข้าไปร่วมงานและไลฟ์สตรีมมี่งจำหน่ายเครื่องประดับอันเป็นการใช้การตลาดช่องทางใหม่ๆ มายังตลาดจีน โดยได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมพร้อมการค้าแบบไลฟ์สตรีมมิ่งเพื่อปรับตัวให้ทันต่อการรูปแบบการค้าสมัยใหม่และรวดเร็วให้ทันเหตุการณ์ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศ

 

                    ที่มา

https://www.iimedia.cn/c400/99156.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

8 มีนาคม 2567

 

thThai