การใช้สัตว์ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงด้านจริยธรรมมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปีตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากสัตว์ที่ใช้ในการทดลองได้รับความเจ็บปวดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องยึดหลักการสากลที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะเกิดกับสัตว์ทดลอง ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง การจะผลิตเครื่องสำอางออกมาจำหน่ายได้ จะต้องได้รับการรับรองว่าได้มาตรฐานและสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์นำมาทดลองว่าเครื่องสำอางเหล่านั้นปลอดภัยไหมก็คือ สัตว์ อย่างไรก็ดี หลายประเทศเริ่มมีการออกกฎระเบียบยกเลิกการใช้สัตว์ในการทดลอง เช่น เม็กซิโก เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น
ในส่วนของชิลี มีการออกกฎหมาย หมายเลข 13.966-11 ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมในนาม “Te Protejo” และ “Humane Society International” ซึ่งเสนอให้มีการยกเลิกการใช้สัตว์ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง รวมถึง การไม่อนุญาตให้ขาย/จำหน่าย การนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางที่มีการใช้สัตว์ในการทดลอง โดยวุฒิสภาของชิลีให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ต่อกฎหมาย หมายเลข 13.966-11 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 และได้มีการประกาศต่อสาธารณะภายใต้กฎหมาย หมายเลข 21646 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ซึ่งทำให้ชิลีเป็นประเทศในลำดับที่ 4 ของภูมิภาคลาตินอเมริกา และลำดับที่ 45 ของโลก ที่มีการออกกฎหมายห้ามการใช้สัตว์ในการทดลอง โดยครอบคลุมการห้ามการผลิต การนำเข้า การจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางที่ใช้สัตว์ในการทดลอง ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับภายใน 12 เดือน หลังจากการเผยแพร่/ประกาศต่อสาธารณะ หรือมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือมกราคม 2568 อย่างไรก็ดี สินค้าเครื่องสำอางที่มีการวางจำหน่ายในตลาดก่อนการประกาศบังคับใช้กฎหมายจะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ สาระของกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้ส่วนผสม ที่มาของส่วนผสมสำหรับการผลิตเครื่องสำอางจะต้องไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของชิลี หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ซึ่งเงื่อนไขการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะมีผลเฉพาะกับสินค้าเครื่องสำอางที่เข้าสู่ตลาดชิลีภายหลังจากกฎหมายมีผลใช้บังคับ
อย่างไรก็ดี สินค้าเครื่องสำอางบางผลิตภัณฑ์ยังคงจำเป็นต้องใช้สัตว์ในการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยสูงที่สุดของผู้บริโภค ยังคงเป็นที่ยอมรับได้โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขและหลักการสากลของ ISP หรือ OECD ในขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการทดสอบความปลอดภัยของสินค้าเครื่องสำอางในสัตว์จะมีสร้างความปลอดภัยสูงสุดต่อมนุษย์
บทลงโทษ สำหรับผู้ที่ละเมิดกฎหมายการห้ามใช้สัตว์ในการทดลอง ได้แก่
- การปรับ
- การระงับการให้บริการของสถานประกอบการหรือธุรกิจ หรือการเพิกถอนใบอนุญาต และ
- การยึด การทำลาย สินค้าต้องสงสัยว่าจะมีการละเมิดกฎหมาย
การละเมิดกฎหมายโดยการใช้สัตว์ในการทดลองเพื่อการผลิตหรือการตลาดสินค้าเครื่องสำอางถือเป็นการกระทำผิดทางอาญา มีโทษจำคุกเป็นระยะเวลา 61 วัน – 3 ปี
ผู้ผลิตสินค้าสามารถจัดทำฉลากติดบนบรรจุภัณฑ์แจ้งข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าจากผู้ผลิตปราศจากใช้สัตว์ในกระบวนการผลิต “cruelty-free” หรือ “not tested on animals” อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตสินค้าไม่สามารถติดฉลากดังกล่าวบนบรรรจุภัณฑ์ หากมีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (1) ส่วนผสม วัตถุดิบของส่วนผสม การทดสอบขั้นสุดท้ายมีการใช้สัตว์ในการทดลอง (2) มีการใช้ข้อมูลหลักฐานยืนยันถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ โดยผ่านการทดสอบจากสัตว์
กฎหมายห้ามการใช้สัตว์ในการทดสอบความปลอดภัยของสินค้าเครื่องสำอางของชิลี มิได้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าผู้ผลิตสินค้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศไม่มีการใช้สัตว์ในการทดสอบกับสินค้าเครื่องสำอางที่ผลิตเพื่อจัดจหน่ายในประเทศอื่น[1]
บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
ผู้บริโภคชาวชิลีส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองชีวิตสัตว์ และมีแนวโน้มต่อค่านิยมดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ความต้องการสินค้าที่ปราศจากการใช้สัตว์ในการทดลองหรือทดสอบความปลอดภัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ สินค้าที่มีภาพลักษณ์ที่ดีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมจะได้รับความสนใจเป็นลำดับต้น
องค์กรนานาชาติหลายแห่ง เช่น PETA (People for the Ethical Treatment on Animals), CCIC (Coalition for Consumer Information on Cosmetics), CCF (Choose Cruelty Free), Cruelty Free International และ Te Protejo (เป็นองค์ในภูมิภาคลาตินอเมริกา) มีการให้ตราสัญลักษณ์รับรองสินค้าเครื่องสำอางนั้น ๆ ว่าไม่มีการใช้สัตว์ในการทดลองผลิตภัณฑ์ทุกขั้นตอน โดยสัญลักษณ์จะเป็นรูปกระต่ายที่มีลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น Leaping Bunny Certified, Cruelty Free PETA Bunny และ Choose Cruelty Free Bunny เนื่องจากกระต่ายมีผิวหนังที่ไวต่อสารต่าง ๆ ได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น และมีผิวหนังที่ใกล้เคียงมนุษย์ที่สุด จึงมักจะถูกนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลองเครื่องสำอาง เพื่อทดสอบความปลอดภัยก่อนนำมาใช้กับมนุษย์
ผู้ผลิตเครื่องสำอางรายสำคัญของโลกหลายรายได้ยกเลิกการใช้สัตว์ในการทดลองหรือการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องสำอาง โดยทดแทนด้วยการใช้แบบจำลองผ่านคอมพิวเตอร์ และการทดลองโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์ หรือการทดลองกับมนุษย์ ผ่านการอาสาสมัครในการทดลอง ซึ่งจะต้องถูกทดลองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง แต่ก็ยังมีหลายแบรนด์ที่ยังใช้สัตว์ในการทดสอบอยู่ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งานของมนุษย์ ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางส่วนใหญ่จะมีการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยกับสัตว์ก่อน โดยการทดสอบหลัก ๆ ได้แก่[1]
- Skin Irritation Test : การทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนัง
- Phototoxicity Test : การทดสอบความเป็นพิษเมื่อเจอแสง
- Ocular Irritation Test : การทดสอบการระคายเคืองต่อดวงตา
- Transdermal Permeability Test : การทดสอบความสามารถในการซึมซาบเข้าสู่ผิวหนัง
การยกเลิกการนำสัตว์มาใช้ในการทดลองสำหรับยา วัคซีน เครื่องสำอางบางประเภท เวชภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้กับมนุษย์ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำเป็นต้องมีความปลอดภัยสูงสุดจึงจะนำมาใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ถ้าไม่ทดลองก็ไม่สามารถใช้อะไรได้เลย เพราะไม่รู้ว่าจะปลอดภัยกับมนุษย์หรือไม่
องค์กรที่มีการรับรอง Cruelty Free มากที่สุด ได้แก่ PETA, Te Protejo และ Leaping Bunny ตามลำดับ และร้านค้าปลีกที่มีการจัดจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีการรับรอง Cruelty Free มากที่สุด ได้แก่ ร้าน Preunic, DBS และ Sally ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่ได้รับการรับรอง Cruelty Free มากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า ตามลำดับ ทั้งนี้ ชิลีและเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีแบรนด์สินค้าเครื่องสำอางที่ได้รับใบรับรอง Cruelty Free มากที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยมีจำนวน 249 และ 227 แบรนด์ตามลำดับ[1] รองลงไป คือ บราซิล (113 แบรนด์) โคลอมเบีย (70 แบรนด์) เปรู (67 แบรนด์) และอาร์เจนตินา (35 แบรนด์)
หากพิจารณาภาพรวมตลาดเครื่องสำอางในชิลี จากข้อมูลของ ReportLinker[2] พบว่า ตลาดมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี และคาดว่าตลาดเครื่องสำอางชิลีในปี 2567 จะมีมูลค่าประมาณ 282.97 ล้านเหรียญสหรัฐ และภายในปี 2572 จะมีมูลค่าประมาณ 319.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.45 ต่อปี (ระหว่างปี 2567 – 2572) ตลาดเครื่องสำอางในชิลีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยกลุ่มผู้บริโภคในชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังขับเคลื่อนการขยายตัวของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ สินค้าที่ได้รับความนิยมและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นสินค้าเครื่องสำอางที่ผลิตจากวัตถุธรรมชาติ และปลอดสารพิษ ระดับการแข่งขัน
ในตลาดมีค่อนข้างสูงระหว่างผู้ผลิตเครื่องสำอางภายในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้บริโภคเริ่มหันมาให้การสนับสนุนผู้ผลิตเครื่องสำอางภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีการใช้วัตถุจากธรรมชาติและราคาไม่แพง ในขณะที่เครื่องสำอางที่นำเข้าจากต่างประเทศจะเน้นจัดจำหน่ายให้แก่กลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง – บน โดยประเภทของเครื่องสำอางที่ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มขยายตัวสูงที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าในกลุ่มชะลอวัย และป้องกันรังสียูวี รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่คุณสมบัติหลากหลายในผลิตภัณฑ์เดียว และในส่วนของเครื่องสำอางสำหรับสุภาพบุรุษที่ได้รับความนิยม คือ ผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผม หนวดและเครา อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดเครื่องสำอางชิลีจะมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี แต่ผู้ประกอบการในประเทศยังคงประสบปัญหาความไม่แน่นอนของราคาวัตถุธรรมชาติ และการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาด การประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้รับความนิยมและสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเครื่องสำอางที่เพิ่มสีสัน
การขยายตัวของความต้องการเครื่องสำอางจากวัตถุดิบธรรมชาติจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศชิลี โดยผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องพิจารณาให้ความสำคัญต่อ (1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เลือกใช้วัตถุดิบหลักจากธรรมชาติ (2) การไม่ใช้สัตว์ในขั้นตอนการผลิตและการทดสอบผลิตภัณฑ์ (3) การให้ความสำคัญต่อการกำหนดราคาที่แข่งขันได้ และ (4) การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี (Thailand-Chile Free Trade Agreement: TCFTA) ในการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางจากไทยไปยังชิลี
________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มีนาคม 2567
[1] Latin American non-governmental organization – https://ongteprotejo.org/mx/marcas-cruelty-free/
Latin American non-governmental organization – https://ongteprotejo.org/marcas-cruelty-free/
[2] ReportLinker, Cosmetics in Chile Market Overview 2023-2027, https://www.reportlinker.com
[1] https://tonkit360.com/81246
[1] Local online newspaper – https://www.elmostrador.cl/revista-jengibre/mascotas/2024/01/02/prohibicion-del-testeo-de-cosmeticos-en-animales-un-avance-sustancial-para-chile/#:~:text=Si%20bien%20en%20Chile%20no,gran%20avance%20para%20el%20pa%C3%ADs.
The Chilean Senate – https://www.senado.cl/prohibicion-para-el-testeo-en-animales-de-productos-cosmeticos-ya-es-una