เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP15 เรื่อง เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพในสหรัฐฯ

เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพในสหรัฐฯ

 

ปัจจุบันในหลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกามักจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มประชาชนหรือผู้บริโภคบ ซึ่งกลุ่มหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเฉลิมฉลองดังกล่าวก็มักจะร่วมจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนและการเป็นกระบอกเสียงส่วนหนึ่ง รวมถึงการสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นในกลุ่มประชาชนหรือผู้บริโภค โดยการเฉลิมฉลองที่เป็นที่สนใจและรู้จักเป็นวงกว้างในกลุ่มชาวอเมริกันในสหรัฐฯ เช่น Black History Month ในเดือนกุมภาพันธ์ Asian American and Pacific Islander Heritage Month ในเดือนพฤษภาคม และ LGBT Pride Month ในเดือนมิถุนายน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองสำหรับกลุ่มผู้หญิง หรือ Women’s History Month ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างแล้ว เดือนมีนาคมเองยังถือเป็นเดือนสร้างการรับรู้และกระตุ้นการตื่นตัวสำหรับโภคชนาการแห่งชาติหรือ National Nutrition Month โดยเคมเปญดังกล่าวได้ถูกริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 หรือกว่า 50 ปีมาแล้ว โดยสถาบันนักกำหนดอาหารและโภชนาการ (Academy of Nutrition and Dietetics) ซึ่งเป็นองค์กรสำหรับนักกำหนดอาหารและโภคชนาการที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีสมาชิกทั้งสิ้น 112,000 คน ซึ่งมีจุดประสงค์ เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำแนวทางการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ  ให้กับชุมชนและตามหน่วยงานต่างๆ และเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต

 

โดยปีนี้ ผู้จัดได้กำหนดแคมเปญประชาสัมพันธ์ภายใต้ธีม “Beyond the Table” เพื่อให้ความสำคัญกับอาหารเริ่มตั้งแต่แหล่งผลิตจากฟาร์มจนถูกนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือ Farm to Table อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืน (Sustainable) และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco – Friendly) ด้วย

 

ทั้งนี้ สามารถรวบรวมเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพที่กำลังเป็นกระแสและนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในปีนี้ได้ ดังนี้

 

1. อาหารที่ช่วยกระตุ้นสมอง (Brain-Boosting Foods) ผู้บริโภคชาวอเมริกันนิยมเลือกรับประทานอาหารที่ให้ประโยชน์ด้านการกระตุ้นการทำงานของสมองเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีพฤติกรรมนิยมเลือกบริโภคอาหารที่ประกอบไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) กรดโอเมก้า 3 และวิตามินที่มีส่วนช่วยสนับสนุนด้านอารมณ์และสภาพจิตใจด้วย โดยอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้สูง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ถั่วและธัญพืช ชาเขียว และดาร์กช็อกโกแลต (Dark Chocolate) เป็นต้น

 

2. สินค้าโปรตีนจากพืช (Plant Proteins) ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสุขภาพและด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงทำให้มีพฤติกรรมลดความนิยมเลือกบริโภคอาหารโปรตีนทดแทนจากพืชสังเคราะห์ที่มีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อน และหันไปเลือกบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชตามธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพืชตระกูลถั่วและธัญพืช เช่น ถั่วเลนทิล ถั่วลูกไก่ และควินัว ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากวัตถุดิบกลุ่มดังกล่าวจะมีโภคชนาการสูงทดแทนโปรตีนได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารที่สนับสนุนความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

3. สินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic Products) สินค้าเกษตรอินทรีย์ยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ปลอดจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยสังคราะห์ และเมล็ดพันธ์ที่มาจากการตกแต่งพันธุกรรม (GMO’s) ซึ่งสามารถสนับสนุนพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่ต้องการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

 

4. อาหารสดจากแหล่งผลิตในท้องถิ่น (Fresh and Locally Sourced Foods) กระแสอาหารจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (The Farm-to-table) ยังคงมาแรงในปีนี้ ผู้บริโภคยังคงให้ความสนใจประเด็นด้านแหล่งที่มาของวัตถุดิบการปรุงอาหารและต้องการสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวมีส่วนช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยสารคาร์บอน (Carbon Footprint) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้า อีกทั้ง ยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นว่าสินค้าที่บริโภคยังคงความสดและอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีพฤติกรรมให้ความสำคัญกับสุขภาพมากดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มประเภทเกษตรอินทรีย์ อาหารและเครื่องดื่มจากธรรมชาติ และอาหารและเครื่องดื่มที่มีอรรถประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือ อาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่น ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้ว ซึ่งปัจจัยการแพร่ระบาดได้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงให้ความสนใจเลือกซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย

 

ตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มสหรัฐฯ เองก็ยังถือเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทย โดยมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 รองจาก จีน (ร้อยละ 27.57) และญี่ปุ่น (ร้อยละ 9.58) ในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 3,323.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สินค้าอาหารทะเล (ร้อยละ 25.51) สินค้าอาหารแปรรูป (ร้อยละ 20.07) และข้าวและธัญพืช (ร้อยละ 18.94) ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ แม้ว่าไทยยังมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพไปตลาดสหรัฐฯ ยังไม่มากในขณะนี้ แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยก็เริ่มตื่นตัวและใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการปรับตัวเพื่อรองรับกับแนวโน้มการปรับตัวของพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาด จึงทำให้มีสินค้าที่เหมาะสำหรับเจาะตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้ในอนาคต

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดสหรัฐฯ ยังควรพิจารณาให้ความสำคัญกับการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายเพื่อนำไปใช้สำหรับการออกแบบและพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาด ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจเลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีการดำเนินกิจการทั้งการผลิตและการจัดส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย อีกทั้ง การวางกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์และสื่อสารทางการตลาดร่วมกับเทศกาลการเฉลิมฉลองที่สำคัญและเกี่ยวข้องในตลาดอย่างจริงใจ ตามหลักกลยุทธ์ทางการตลาดด้านการมีส่วนร่วม (Inclusive) อย่างเหมาะสม จะมีส่วนช่วยให้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยสามารถเข้าถึงและชนะใจผู้บริโภคชาวอเมริกันได้ในอนาคต

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/WOJ91Ji5XqQ

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

thThai