1. ภาพรวมเศรษฐกิจสำคัญ/ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
1.1 การเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฟิลิปปินส์ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.6 หดตัวจากร้อยละ 7.1 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2565 สำหรับ GDP เฉลี่ยทั้งปีในปี 2566ขยายตัวร้อยละ 5.6 โดยภาคส่วนหลักที่มีส่วนร่วมในการเติบโตของ GDP ได้แก่ ภาคการเงินและการประกันภัยขยายตัวร้อยละ 11.8 ภาคค้าส่งและค้าปลีก; การซ่อมแซมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 5.2 ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 8.5 สำหรับภาคเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ภาคเกษตรกรรมป่าไม้และประมงขยายตัวร้อยละ 1.4 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.2 และภาคการบริการขยายตัวร้อยละ 7.4 ในส่วนของด้านอุปสงค์ พบว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 5.3 ขณะที่ การใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวร้อยละ 1.8 ในส่วนการส่งออกสินค้าและบริการหดตัวร้อยละ 2.6 และการนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.9 สำหรับรายจ่ายเพื่อการสะสมทุนรวมเบื้องต้น (Gross Capital Formation) ขยายตัวร้อยละ 11.2 รายได้ประชาชาติ (Gross National Income) ขยายตัวร้อยละ 11.1 และรายได้ปฐมภูมิ (Net Primary Income ) ขยายตัวร้อยละ 97.7
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566)
1.2 ภาวะการลงทุน
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ฟิลิปปินส์มีการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment: FI) มูลค่ารวม 3.94 แสนล้าน เปโซ เพิ่มขึ้นร้อยละ 127.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.74 แสนล้านเปโซ โดยเป็นการลงทุนผ่าน หน่วยงานส่งเสริมการลงทุน 5 หน่วยงาน ได้แก่
– Authority of the Freeport Area of Bataan (AFAB)
– Board of Investments (BOI)
– Clark Development Corporation (CDC)
– Philippine Economic Zone Authority (PEZA)
– Subic Bay Metropolitan Authority (SBMA)
ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 พบว่าเป็นการลงทุนจากประเทศเนเธอร์แลนด์มากที่สุด คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 3.46 แสนล้านเปโซ หรือคิดเป็นร้อยละ 87.7 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุน 3.14 หมึ่นล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 8.0 และสิงคโปร์ มีมูลค่าการลงทุน 4.99 พันล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 1.3 สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ ไอน้ำ และการปรับอากาศ คิดเป็นร้อยละ 85.1 รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต (ร้อยละ 12.4) และอุตสาหกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร (ร้อยละ 1.4) ตามลำดับ โดยผลจากการลงทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ก่อให้เกิดการจ้างงาน 23,596 งาน หรือคิดเป็นร้อยละ 82.7 ของการลงทุนจาก ในประเทศและต่างประเทศทั้งหมด
1.3 การบริโภคภายในประเทศ
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 5.3 ลดลงจากร้อยละ 7.0 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2565 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยการใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีมูลค่ามากที่สุด อยู่ที่ 1.62 ล้านล้านเปโซ ขยายตัวร้อยละ 0.5 รองลงมาได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านสินค้าเบ็ดเตล็ดบริการอื่นๆ มีมูลค่า 705,274 ล้านเปโซ ขยายตัวร้อยละ 10.4 และค่าใช้จ่ายในครัวเรือนค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเชื้อเพลิง มีมูลค่า 484,024 ล้านเปโซ ขยายตัวร้อยละ 4.4 ตามลำดับ
1.4 อัตราเงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2567 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 2.8 แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.6 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีสาเหตุหลักมาจากราคาอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาในกลุ่มสินค้า โภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเชื้อเพลิง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาสูบ เป็นต้น
แผนภูมิ 1 – อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2567)
1.5 อัตราการจ้างงานและอัตราการว่างงาน
อัตราการจ้างงานในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 95.5 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2566 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 96.9 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2566 ที่มีอัตราจ้างงานอยู่ที่ร้อยละ 95.2 สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2566 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 3.1 แต่ลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 4.8
ตารางที่ 1 – สถิติด้านแรงงานของฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2567
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2567)
2. สถานการณ์การค้า (การส่งออก-นำเข้า)
2.1 การส่งออก
การส่งออกของฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่ารวม 5,935.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่าส่งออก 5,440.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ตารางที่ 2 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์ โดยจำแนกตามประเภทของสินค้า และตารางที่ 3 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้า ส่งออกหลักของประเทศฟิลิปปินส์จำแนกตามตลาด
ตารางที่ 2 – มูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์ แยกตามประเภทของสินค้า ในเดือนมกราคม 2566/2567
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2567)
ตารางที่ 3 – มูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออกหลักของประเทศฟิลิปปินส์ แยกตามตลาดในเดือนมกราคม 2566/2567
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2567)
2.2 การนำเข้า
การนำเข้าของฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 10,157.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 10,997.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 7.6 ตารางที่ 4 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าหลักของฟิลิปปินส์ โดยจำแนกตามประเภทของสินค้าและตารางที่ 5 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าหลักของฟิลิปปินส์จำแนกตามแหล่งนำเข้า
ตารางที่ 4 – มูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าหลักของฟิลิปปินส์ แยกตามประเภทของสินค้าในเดือนมกราคม 2566/2567
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2567)
ตารางที่ 5 – มูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าหลักของฟิลิปปินส์ แยกตามแหล่งนำเข้าในเดือนมกราคม 2566/2567
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2567)
2.3 มูลค่าการค้าระหว่างไทย – ฟิลิปปินส์
มูลค่าการค้ารวมของไทยกับฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 888.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566ที่มีมูลค่า 819.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.85 ของการค้าไทยไปทั่วโลก สำหรับ การส่งออกจากไทยไปยังฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 623.41ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 567.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.75 ของการส่งออกไปทั่วโลก
ในขณะเดียวกันไทยมีการนำเข้าจากฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 265.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 5.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่านำเข้า 252.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.05 ของการนำเข้าจากทั่วโลก
สรุปการค้าระหว่างไทย – ฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2567 ปรากฏว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าฟิลิปปินส์ เป็นมูลค่า 357.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ตารางที่ 6 – สรุปการค้าระหว่างประเทศของไทยกับฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2566/2567
2.4 การส่งออกสินค้าของไทยไปยังฟิลิปปินส์
เมื่อพิจารณาสินค้า 5 อันดับที่ไทยส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2567 พบว่า สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 186.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.70 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 รองลงมา ได้แก่ ข้าว แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ตามลำดับ
ตารางที่ 7 – การส่งออกสินค้า 5 อันดับของไทยไปยังฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2566/2567
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2567)
2.5 การนำเข้าของไทยจากฟิลิปปินส์
เมื่อพิจารณาการนำเข้าสินค้า 5 อันดับของไทยจากฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2567 พบว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และ ส่วนประกอบ มีมูลค่าสูงสุด 74.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 80.02 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 รองลงมา ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ตามลำดับ
ตารางที่ 8 – การนำเข้าสินค้า 5 อันดับของไทยจากฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2566/2567
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2567)
3.สถานการณ์และภาวะสินค้าเป้าหมายของไทยในตลาดฟิลิปปินส์
แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยมายังฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม 2567 ประเภทสินค้าหลักของไทยที่มีการขยายตัวในการส่งออกมายังตลาดฟิลิปปินส์ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และข้าว โดยสรุปข้อมูลสถานการณ์และภาวะสินค้าโดยสังเขป ดังนี้
3.1 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
สถานการณ์ตลาดรถยนต์ของฟิลิปปินส์มีการขยายตัวที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักมาจากแนวโน้ม การเติบโตเศรษฐกิจเชิงบวก ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค สภาวะอุปทานที่ดีขึ้นในทุกแบรนด์รถยนต์ การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ การเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เงินดาวน์ที่ลดลง ตลอดจนการจัดโปรโมชันและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์เสนอให้กับลูกค้าช่วยกระตุ้นความต้องการรถยนต์ให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสาธารณะที่ยังจำกัดได้ผลักดันให้ ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อรถยนต์อีกด้วย ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกรถยนต์สำคัญของไทย และเป็นสินค้าที่ไทย ส่งออกมายังประเทศฟิลิปปินส์เป็นอันดับ 1 โดยในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 186.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.70 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 183.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และด้วยปัจจัยหนุนต่างๆ หลายประการทำให้คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ในฟิลิปปินส์จะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากแรงหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ทำให้ตลาดรถยนต์ในฟิลิปปินส์ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและสามารถเติบโตได้อีกมากสำหรับการส่งออกรถยนต์ของไทยในอนาคต
3.2 ข้าว
ฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่มีบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยมีการบริโภคเฉลี่ยมากถึงปีละประมาณ 16 ล้านตัน แต่สามารถผลิตข้าวได้เพียงปีละประมาณ 12 ล้านตัน ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวปีละกว่า 3 ล้านตัน ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ยังเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่สุดในเอเชียเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักพื้นฐานของประเทศที่มีความท้าทาย หลายประการในการผลิตข้าวให้เพียงพอกับความต้องการและการขยายตัวของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละปี และล่าสุดฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศลดลง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ ฟิลิปปินส์อาจต้องนำเข้าข้าวมากถึง 4.1 ล้านตัน เพื่อเสริมอุปทานข้าวในประเทศและสำรองข้าวไว้ใช้ในยามขาดแคลน ทั้งนี้ ปัจจุบันฟิลิปปินส์เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกข้าวศักยภาพของไทย โดยไทยเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้าข้าวสำคัญของฟิลิปปินส์รองจากประเทศเวียดนามที่ครองส่วนแบ่งตลาดข้าว นำเข้าในฟิลิปปินส์มากกว่าร้อยละ 80 โดยในปี 2566 ไทยfส่งออกข้าวมายังฟิลิปปินส์ปริมาณ 210.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 184.23 จากปี 2565 ที่มีมูลค่า 74.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2567 (เดือนมกราคม) ไทยส่งออกข้าวมาฟิลิปปินส์มูลค่า 60.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2,259.14 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่าส่งออก 2.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ข้าวไทยยังคงมีข้อได้เปรียบสำคัญในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานที่เป็นที่เชื่อมั่นใจของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ และราคาข้าวไทยปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับคู่แข่ง แต่ยังคงต้องแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนามที่มีพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและผลิตพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่มเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดฟิลิปปินส์จึงจะมีโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้นต่อไป
ข้อสังเกตเพิ่มเติม
เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 4/2566 ขยายตัวร้อยละ 5.6 ซึ่งเติบโตช้ากว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6 – 7 เนื่องจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่หดตัวลง รวมถึง การส่งออกสินค้าและบริการ และผลกระทบจากการขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ถึงแม้ว่าตัวเลขการเติบโตนั้นจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้แต่การขยายตัวร้อยละ 5.6 ของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ นั้นนับเป็นการเติบโตที่เหนือกว่าบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย (ร้อยละ 5.04) มาเลเซีย (ร้อยละ 3.4) จีน (ร้อยละ 5.2) ซึ่งเป็นรองแค่ เวียดนาม (ร้อยละ 6.7) เนื่องด้วยการได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงการขยายตัวของภาคการเงินและการประกันภัยและภาคการก่อสร้าง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะยังคงเติบโตได้ดีในระยะต่อไป เนื่องจากปัจจัยนหนุต่างๆ อาทิ ภาวะเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง การเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง การฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยมายังตลาดฟิลิปปินส์คาดว่าจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่ดี โดยในเดือนมกราคม 2567 การส่งออกของไทยมายังฟิลิปปินส์ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยนอกจากสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และข้าว แล้วยังมีสินค้าที่มีศักยภาพและสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์ มูลค่า 15.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(+ร้อยละ 31.41) น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่า 12.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 26.67) ผลิตภัณฑ์ยางมูลค่า 12.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 14.37) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 8.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 1,883.47) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 7.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 30.41) นมและผลิตภัณฑ์นม มูลค่า 7.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 11.69) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ มูลค่า 6.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 19.90) เป็นต้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
13 มีนาคม 2567