สายการเดินเรือ MSC ทุ่มทุนพัฒนาคลังสินค้าห้องเย็นที่แอฟริกาใต้
สายการเดินเรือ MSC (หรือ Mediterranean Shipping Company) ได้ลงทุน 350 ล้านแรนด์ (ประมาณ 665 ล้านบาท) เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคลังสินค้าห้องเย็นที่ สามารถรองรับสินค้าได้มากถึง 10,000 พาเลท
กัปตัน Salvatore Sarno ประธาน MSC สาขาแอฟริกาใต้ และคุณ Nomusa Dube-Ncube ผู้ว่าราชการจังหวัดควาซูลู-นาทาล ได้เข้าร่วมพิธีเปิดคลังสินค้าห้องเย็น เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ณ เมืองเดอร์บัน จังหวัดควาซูลู-นาทาล (KwaZulu-Natal) โดยคลังสินค้าห้องเย็นดังกล่าวบริหารจัดการโดย Medlog จากสวิสเซอร์แลนด์ (ทีมโลจิสติกส์ของ MSC) ซึ่งมีชื่อเสียงในยุโรป แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในแอฟริกาใต้
แอฟริกาใต้เป็น จุดเชื่อมโยงพิเศษสำหรับ MSC เนื่องจากเมื่อปี 2514 เรือ MSC ลำแรกได้เข้าเทียบท่าเรือเดอร์บัน และตลอด 50 ปีที่ผ่านมา MSC ได้ลงทุนมหาศาลในแอฟริกาใต้ อาทิ สำนักงาน คลังสินค้า ล่าสุดเมื่อปี 2566 MSC กับผู้ร่วมทุนได้เปิดตัวท่าเรือโดยสารเนลสัน เมนเดล่า (Nelson Mandela passenger terminal) ที่ท่าเรือเดอร์บัน ปัจจุบัน MSC เป็นสายการเดินเรือใหญ่อันดับต้นของโลก บริหารจัดการเรือกว่า 800 ลำ 300 เส้นทาง เชื่อมโยงท่าเรือต่างๆกว่า 520 แห่ง ของ 150 ประเทศ
การลงทุนพัฒนาคลังสินค้าห้องเย็น เพิ่มประสิทธิภาพซัพพลายเชนของสินค้าที่ต้องการรักษาอุณภูมิ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่เมืองเดอร์บันอีกด้วย
คุณ Justin Chadwick ผู้บริหารสมาคมผู้ปลูกส้มแห่งแอฟริกาใต้คาดว่าการส่งออกส้มจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปี 2568 คาดว่าจะมีการส่งออกส้มมากถึง 200 ล้านกล่อง ดังนั้นการมีเปิดตัวคลังสินค้าห้องเย็นจะช่วยรักษาคุณภาพของส้มที่จะส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า
ความเห็น สคต. : ปี 2566 ท่าเรือเดอร์บัน มีประมาณตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่ามากที่สุดในแอฟริกาใต้ (2.54 ล้านทีอียู) รองลงมาคือ ท่าเรือเคปทาวน์ (0.77 ล้านทีอียู) เมื่อปี 2566 ธนาคารโลกได้เปิดเผยรายงานประสิทธิภาพท่าเรือคอนเทนเนอร์ประจำปี 2565 (The Container Port Performance Index 2022) ปรากฏว่า ท่าเรือเดอร์บัน และเคปทาวน์ ถูกจัดอันดับ ที่ 341 และ 344 ตามลำดับ (จากจำนวนทั้งหมด 348 ท่าเรือ โดยท่าเรือ Yangshan ที่เซี่ยงไฮ้ อันดับที่ 1 ท่าเรือ Tanjung Pelepas มาเลเซีย อันดับที่ 6 ท่าเรือสิงคโปร์ อันดับที่ 18 ท่าเรือแหลมฉบัง อันดับที่ 27) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ท่าเรือเดอร์บันและท่าเรือเคปทาวน์จำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ ดังนั้น การเพิ่มคลังสินค้าห้องเย็นที่ท่าเรือเดอร์บันโดยสายการเดินเรือ MSC จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาคุณภาพของสินค้านำเข้าและส่งออกที่เน่าเสียง่ายซึ่งต้องการรักษาอุณภูมิ
ที่มา www.freightnews.co.za
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย
e-Mail: main@thaitradeofficesa.co.za
มีนาคม 2567