รถพลังงานไฮโดรเจนจีนมาแรง ภาครัฐเร่งสนับสนุนการพัฒนา

 

รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานในการขับเคลื่อน ซึ่งต่างจากเครื่องยนต์สันดาปที่โดยทั่วไปที่จะใช้การอัดฉีดด้วยน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน รถยนต์ไฮโดรเจนจะใช้ก๊าซไฮโดรเจนแทน และจะใช้เซลล์เชื้อเพลิง มอเตอร์ไฟฟ้ามาแทนเครื่องยนต์แบบสันดาป ซึ่งการใช้พลังงานรูปแบบนี้เป็นพลังสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากจะปล่อยไอน้ำออกมาแทนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในช่วงที่ผ่านมา ภาคพลังงานไฮโดรเจนได้รับความนิยม และเป็นที่สนใจเพิ่มมากขึ้นในจีน รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนการใช้และการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่  โดยนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการใช้พลังงานรถยนต์ไฮโดรเจน อย่างเช่น กรมการขนส่งมณฑลซานตง คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลซานตง  กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมณฑลซานตงได้ร่วมกันออกประกาศเกี่ยวกับการยกเว้นค่าผ่านทางหลวงชั่วคราวสำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป  ซึ่งนโยบายนี้เป็นการทดลองใช้ 2 ปี  นอกจากนี้ ภาครัฐจีนยังมีการช่วยสนับสนุนทางด้านการเงิน

สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ส่งผลให้การพัฒนารถยนต์ไฮโดรเจนในประเทศจีนเติบโตอย่างมีศักยภาพ รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มผู้บริโภคจีนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงาน ทำให้ความต้องการของตลาดรถยนต์ไฮโดรเจนในจีนเติบโตสูงขึ้น     จากการรายงานของ iiMedia Consulting ชี้ว่า ขนาดตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ของจีนจะอยู่ที่ 1.15 ล้านล้านหยวน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบปีก่อนหน้า และคาดว่าจะสูงถึง 2.31 ล้านล้านหยวนในปี 2568

ปัจจุบันนี้รถไฮโดรเจนในจีนมีหลายรุ่น หลายแบรนด์ อาทิ รถยนต์ไฮโดรเจนจาก แบรนด์ฉางอันได้มี การออกรถยนต์ไฮโดรเจน เช่น รุ่น Changan Deep Blue SL03 และแบรนด์ SAIC MAXUS ออกรถยนต์ไฮโดรเจน 3 รุ่นด้วยกัน เช่น SAIC MAXUS MIFA Hydrogenและ รุ่น SAIC MAXUS FUNIO7 ซึ่งเป็นรถยนต์  MPV ขนาดกลางถึงใหญ่ 7 ที่นั่ง  อีกทั้งยังมีรถบัสขนาดเล็กอย่าง SAIC MAXUS V80 ก็เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเช่นกัน นอกจากนี้แบรนด์ต่างชาติ อย่างเช่น Toyota Mirai , Honda Clarity และ Hyundai NEXO ก็ยังเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนที่มีปล่อยออกมาสู่ตลาดโลกมาก่อนหน้านี้แล้ว

ภาคอุตสาหกรรมไฮโดรเจนในประเทศจีนมีการปฏิบัติการเชิงรุก มีการสร้างโรงงานการผลิต และจัดเก็บไฮโดรเจน  อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการสร้างสถานีการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนอีกด้วยเช่นกัน ในบางเมืองของจีนมีการนำรถโดยสารและแท็กซี่พลังงานไฮโดรเจนมาเริ่มใช้งาน การได้รับการสนับสนุนการพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนและการช่วยเหลือจากนโยบายของรัฐบาลจีน ทำให้การพัฒนารถยนต์ไฮโดรเจนขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ส่วนแบ่งของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนในตลาดจีนยังค่อนข้างน้อย เนื่องจาก  ต้นทุนการผลิตและการจัดเก็บไฮโดรเจนที่สูง แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและการลดต้นทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนจะค่อยๆเพิ่มขึ้น

รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์สันดาปแบบดั้งเดิม ยังนับได้ว่ารถยนต์ไฮโดรเจนนั้นมีข้อได้เปรียบ กล่าวคือ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเครื่องยนต์เงียบ เสียงไม่ดังรบกวน   เนื่องจาก รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนปล่อยเฉพาะไอน้ำและไม่มีมลพิษอื่นๆ อีกทั้งประสิทธิภาพการใช้งานยังดีกว่ารถยนต์เครื่องสันดาป หรือจะเป็นในด้านของการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที  ระยะการขับขี่ยังใช้ได้เทียบเท่าหรืออาจจะนานกว่ารถยนต์ทั่วไป  ในส่วนของข้อจำกัดที่ทำให้รถยนต์ไฮโดรเจนยังคงไม่แพร่หลาย เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงส่งผลให้ราคาของรถยนต์ไฮโดรเจนยังค่อนข้างสูง อีกทั้งสถานีการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนยังมีน้อย ในส่วนทางด้านความปลอดภัย เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นสารไวไฟและระเบิดได้ จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์จัดเก็บและขนส่งพิเศษ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการใช้งาน ตลอดจนความหนาแน่นของพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนค่อนข้างต่ำ ส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมของรถยนต์

รถพลังงานไฮโดรเจนจีนมาแรง ภาครัฐเร่งสนับสนุนการพัฒนา

ที่มา : SAIC Maxus official website

        ปัจจุบันจีนมีความพร้อมในการผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนตลอดทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฮโดรเจน อันประกอบด้วย การผลิตไฮโดรเจน การจัดเก็บและการขนส่งไฮโดรเจน การผลิตระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน การผลิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน   การก่อสร้างสถานีเติมไฮโดรเจน และการขายและบริการหลังการขาย เนื่องจากมีบริษัทมากมายที่เข้ามาเป็นผู้เล่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฮโดรเจน อาทิ  Sinopec , PetroChina , Chongqing Changan Automobile , SAIC และGuangzhou Automobile Group เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทั้งภาคส่วนการผลิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน การก่อสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิง    การขายและบริการหลังการขาย รวมถึงอุปกรณ์การขนส่งที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบวงจร

        ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนจะเป็นทางเลือกของพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต ไม่เฉพาะแต่ในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งแนวโน้มนานาประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงพลังงานสีเขียว เพื่อคุณภาพชีวิตรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันในประเทศไทยรถยนต์ EV กำลังอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกสายสีเขียว และรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนก็ได้นำมาเริ่มใช้ขับเคลื่อนรถยนต์       ในประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมมวลชน อาทิ  การทดลองให้บริการรถรับส่งนักท่องเที่ยวระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นรถยนต์ โตโยต้า มิไร (Mirai) นอกจากนี้โตโยต้ายังได้ร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนที่ผลิตเชื้อเพลิงจากมูลไก่ และจะนำมาใช้ในการขนส่งสินค้าแทนการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันแทน และประเทศไทยมีสถานีเติมเชื้อเพลงพลังไฮโดรเจนแห่งแรกที่จังหวัดชลบุรี   (แหล่งอ้างอิงจากข่าวไทยรัฐ) ข้อแตกต่างด้านเทคโนโลยีระหว่างยานยนต์ไฟฟ้าและไฮโดรเจนคือ รถยนต์ไฮโดรเจน จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน แปลงไฮโดรเจนเป็นไฟฟ้า ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เก็บพลังงานในแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ไฮโดรเจนยังต้องมีการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องและต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในหลายภาคส่วนเพื่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย  ในอนาคตความต้องการตลาดที่เพิ่มมากขึ้นจากทิศทางที่ผู้บริโภคทั้งไทยจีนเริ่มให้ความสนใจกับรถยนต์พลังงานสะอาด จึงมีโอกาสที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ จับคู่ธุรกิจกับบริษัทจีนพัฒนาในห่วงโซ่อุตสาหกรรม  แนวโน้มรถยนต์ไฮโดรเจนในไทยคาดว่าจะมีการพัฒนาอย่างแข็งขัน ทั้งนี้ภาครัฐบาลต้องมีการส่งเสริมการพัฒนารถยนต์ไฮโดรเจนอย่างรอบด้าน ในภาคประชาชนทั่วไป รถยนต์ไฮโดรเจนนับว่ายังอยู่ขั้นเริ่มต้น ยังคงต้องการการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งระบบต่อไป

https://www.iimedia.cn/c1087/99172.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

12 มีนาคม 2567

thThai