เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP16 เรื่อง โอกาสตลาดสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานในสหรัฐฯ
ชาวอเมริกันมีพฤติกรรมนิยมเลือกเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนสำคัญสนับสนุนให้ตลาดสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ จากข้อมูลสมาคมผู้ประกอบการสินค้าสัตว์เลี้ยงอเมริกัน หรือ American Pet Products Association (APPA) รายงานว่า สุนัขและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ มีจำนวนประชากรสุนัขสูงสุดทั้งสิ้นประมาณ 65 ล้านตัว รองลงมา คือ แมวประมาณ 46.5 ล้านตัว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานก็เป็นหนึ่งในกลุ่มสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันพบว่า มีครอบครัวชาวอเมริกันถึง 4.5 ล้านครอบครัวที่เลือกเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน คิดเป็นจำนวนสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานทั้งสิ้นประมาณ 9 ล้านตัว มูลค่าตลาดสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง ยังคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 6.23% ต่อปีไปจนถึงปี 2568
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้สัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มชาวอเมริกัน ได้แก่
- ปัจจัยด้านขนาด โดยส่วนใหญ่สัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนักสามารถเลี้ยงดูได้ในพื้นที่ขนาดจำกัด โดยเฉพาะในเขตเมือง คอนโดมีเนียม และหอพัก เป็นต้น
- ปัจจัยด้านความสะดวกในการเลี้ยงดู สัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานบางชนิดเมื่อมีขนาดโตเต็มวัยไม่ต้องการอาหารทุกวัน ซึ่งสะดวกสำหรับเจ้าของเมื่อต้องทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ตามลำพัง เช่น งูบอลไพธอน (Ball Python) ที่ต้องการอาหารทุกๆ 1 – 2 สัปดาห์ หรือตุ๊กแกจาก New Caledonia ที่ต้องการอาหารทุกๆ 2 – 3 วัน เป็นต้น
- ปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายในการดูแล ค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานส่วนมากเป็นค่าสัตว์เลี้ยงเองซึ่งจะมีหลายระดับราคาตั้งแต่ราคาสำหรับเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงไปจนถึงระดับราคาสำหรับพ่อแม่พันธุ์ ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับกรงหรือที่อยู่ อาหาร และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีหลากหลายระดับราคา ส่วนค่าใช้จ่ายในการพบแพทย์และการอาบน้ำตกแต่งนั้นน้อยมาก
- ปัจจัยด้านความหลากหลายทางด้านรูปลักษณ์ หรือ Morphs สัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานหลายชนิด เช่น มังกรเครา งูบอลไพธอน ตุ๊กแก ได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลายหลายทั้งขนาด สีสัน และรูปลักษณ์ภายนอก เหมาะกับความชอบของผู้เลี้ยงแต่ละคน
- ปัจจัยด้านความแปลกแตกต่าง สัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานมีความแปลกแตกต่างโดดเด่นเฉพาะตัว จึงทำให้เป็นที่นิยมในกลุ่มชาวอเมริกันรุ่นใหม่ที่มักจะชอบแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองสูง
- ปัจจัยด้านความสะดวกสบายในการหาซื้อ ปัจจุบันมีผู้พัฒนาสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานเพิ่มขึ้นทำให้ชาวอเมริกันสามารถหาซื้อสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง ยังมีช่องทางการค้าปลีกออนไลน์เฉพาะสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานด้วย เช่น morphmarket ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนการขยายตัวของตลาดสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานในสหรัฐฯ
กลุ่มสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานที่ได้รับความนิยมในกลุ่มชาวอเมริกันปัจจุบัน ได้แก่ งูบอลไพธอน (Ball Python) งูข้าวโพด (Corn Snake) กิ้งก่าเครา (Bearded Dragon) เต่าบกซัลคาตา (Sulcata Tortoise) เต่าน้ำ (Red-eared slider) ตุ๊กแกเสือดาว (Leopard Gecko) ตุ๊กแกขนตา (Crested Gecko) กิ้งก่าคามีเลียน (Chameleon) และจิ้งเหลนลิ้นสีน้ำเงิน (Blue-Tongued Skink) เป็นต้น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
แม้ว่าตลาดสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะมีการเพาะพันธุ์ในประเทศจึงไม่ค่อยมีใครนึกถึงมากนัก แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงมีความต้องการนำเข้าสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานอีกอยู่พอสมควร โดยในปี 2566 สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานจากต่างประเทศเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 14.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เอลซัลวาดอร์ (ร้อยละ 19.39) แคนาดา (ร้อยละ 11.18) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 11.08) เยอรมนี (ร้อยละ 9.41) และไทย (ร้อยละ 6.07) โดยไทยส่งออกสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 846,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด โดยสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานที่ไทยส่งออก ได้แก่ มังกรเครา งู และเต่า เป็นต้น นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานกลุ่มตุ๊กแกไทย หรือ Tokay Gecko ก็เริ่มมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นในสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้คาดว่า สินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยน่าจะมีโอกาสในการขยายตลาดในอนาคตตามแนวโน้มจำนวนสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนอีกด้วย เช่น อาหาร อาหารเสริม กรงที่อยู่อาศัย ของเล่น อุปกรณ์ปูพื้น ใบไม้แห้ง ขอนไม้ ของประดับตกแต่งตู้ และต้นไม้เมืองร้อน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าวัสดุปูพื้น เช่น ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าวสับ ซึ่งเป็นกลุ่มวัสดุเหลือใช้ (Byproduct) จากอุตสาหกรรมการแปรรูปมะพร้าวไทยที่มีจำนวนมาก อีกทั้ง ยังมีราคาถูก จึงน่าจะเป็นโอกาสในการแข่งขันในตลาดได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดควรศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในตลาด รวมถึงมาตรฐานสินค้าที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงเลื้อยคลานพื้นฐานแต่ละชนิดอย่างลึกซึ้งเพื่อให้สามารถนำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาด เช่น กลุ่มสินค้าตู้ที่อยู่ขนาด 2X2X4 ฟุต และกาบมะพร้าวสับสำหรับกลุ่มผู้เลี้ยงงูขนาดใหญ่ และกลุ่มสินค้าตู้ที่อยู่ขนาด 18X18X24 นิ้ว และขุยมะพร้าวสำหรับกลุ่มผู้เลี้ยงตุ๊กแกจากแถบ New Caledonia เป็นต้น
นอกจากนี้ การเยือนงานแสดงสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น งานแสดงสินค้า NARBC และงานแสดงสินค้า Global Pet Expo เพื่อศึกษาแนวโน้มความต้องการของตลาดก็ยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดได้ในอนาคตอีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/akgfoqX76hg
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก