ที่มา : สำนักข่าว The Malaysian Reserve
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม Tengku Datuk Seri Zafrul Tengku Abdul Aziz กล่าวว่าโครงการนี้คาดว่าจะเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในเดือนมกราคม พ.ศ. 2570 โดยโครงการเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อชายฝั่งตะวันออก (East Coast Rail Line: ERCL) ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จร้อยละ 62 จะช่วยให้ GDP ของประเทศเติบโตขึ้นร้อยละ 3.8 ภายในปี 2590
โครงการ ECRL จะเป็นผู้เปลี่ยนเกมให้กับประเทศมาเลเซีย โดยเชื่อมโยงระบบขนส่งแบบรถไฟของประเทศกับเครือข่ายรถไฟทั่วเอเชีย และยกระดับการเชื่อมต่อของมาเลเซียกับภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการ ECRL ครอบคลุมระยะทางกว่า 665 กม. และเชื่อมชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของมาเลเซีย เป็นตัวแทนของการบูรณาการที่สำคัญของมาเลเซียเข้ากับเครือข่ายการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่กว้างขึ้น
โครงการดังกล่าวมีมูลค่าเกือบ 15,907,357,500 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นมากกว่าการเชื่อมโยงทางรถไฟที่ตัดผ่านกลันตัน ตรังกานู ปะหัง และสลังงอร์ แต่ยังเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม
โครงการ ECRL จะเป็นรากฐานให้แต่ละรัฐสามารถพัฒนาและมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจทั่วประเทศมาเลเซีย รวมไปถึงยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน และเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าและแรงบันดาลใจอันน่าภาคภูมิใจสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป
โครงการ ECRL สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทอุตสาหกรรมใหม่ปี 2030 โดยเฉพาะภารกิจที่ 4 ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเพื่อเพิ่มการไม่แบ่งแยกและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
บทวิเคราะห์ผลกระทบ
ประเทศมาเลเซียไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อด้านการขนส่งระบบรางภายในมาเลเซียเอง แต่ยัง มองถึงการเชื่อมต่อสู่ประเทศเพื่อนบ้านคือไทยอีกด้วย โดยบริษัท MMC Corporation Berhad ของมาเลเซียที่เป็น บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินกิจการท่าเรือ สนามบิน ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมทั้งธุรกิจการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ได้จัดทำเสนอแก่รัฐบาลไทยเกี่ยวกับโครงการ landbridge เป็นการสร้างเส้นทางรางเพื่อเชื่อมต่อการคมนาคม ระหว่างท่าเรือสงขลาและท่าเรือปีนัง ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการสร้างความเชื่อมโยงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากค่าบริการของท่าเรือสงขลารวมทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ที่จะเกิดขึ้นและยังสามารถรองรับตู้สินค้าที่ยังไม่เต็มตู้แต่ต้องการมารวบรวม (consolidate) เพื่อขนส่งทางเรือต่อไปยังตลาดปลายทางในทวีปอินเดียและตะวันออกกลางหรือจะขนส่งต่อทางรางเข้ามายังมาเลเซียหรือสิงคโปร์ได้อีกด้วย โดยเส้นทางดังกล่าวจึงเป็นเส้นทางโลจิสติกส์อีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถลดต้นทุนการขนส่งเมื่อเทียบกับทางรถยนต์ อีกทั้ง ยังประหยัดเวลาในการขนส่งได้โดยไม่ต้องอ้อมคาบสมุทรมลายู
ความเห็น สคต.
โครงการ ECRL เป็นโอกาสอันดีที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย – มาเลเซีย โดยการเพิ่มช่องทางการขนส่งแบบรางที่มีราคาถูกกว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุกส่งผลให้ราคาค่าขนส่งถูกลง อีกทั้งจะเป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียโดยเฉพาะการค้าชายแดนระหว่างจังหวัดชายแดนใต้และรัฐกลันตันของมาเลเซียที่เป็นจุดเริ่มของโครงการก่อสร้าง อีกทั้ง เส้นทางรถไฟดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในรัฐชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซียโดยรวมจากการคมนาคมขนส่งที่สะดวกมากขึ้น เป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวและการลงทุนในพื้นที่ซึ่งจะมีอานิสงค์มาถึงจังหวัดชายแดนใต้ของไทย
เส้นทางขนส่งทางทะเลในภูมิภาคอาเซียนปัจจุบัน ก็คือ เรือเดินสมุทรจำเป็นต้องอาศัยเส้นทางจากมหาสมุทรอินเดียผ่านเข้ามาทางช่องแคบมะละกา ก่อนที่จะผ่านไปยังทะเลจีนใต้ โดยมีสิงคโปร์คงสถานะเป็นศูนย์กลางของเส้นทางเดินเรือที่มีความสำคัญมานับแต่อดีตกาล แต่โครงการ ECRL ของมาเลเซียกำลังขยับขึ้นมาท้าทายบทบาทและสถานะของสิงคโปร์อย่างไม่อาจเลี่ยง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์