ที่มา : สำนักข่าว Free Malaysia Today (FMT)
ปัญหาความยากจนในมาเลเซียถูกมองว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนอย่างหนึ่ง เนื่องจากถูกจำกัดการเข้าถึงสวัสดิการที่จำเป็น ที่พักอาศัย ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆนอกเหนือจากการขาดแคลนเงินมาเป็นเวลานาน ฝ่ายบริหารแผนเศรษฐกิจ MADANI จึงมีเป้าหมายหลักในการขจัดความยากจนของคนในประเทศมาเลเซีย
นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ เสรี อันวาร์ อิบราฮิมได้นำแผนเศรษฐกิจ MADANI ของมาเลเซีย ซึ่งมีรากฐานมาจากค่านิยมที่สำคัญ 6 ประการ ได้แก่ IHSAN (ความเห็นอกเห็นใจ) KEMAMPANAN (ความยั่งยืน) KESEJAHTERAAN (ความเจริญรุ่งเรือง) DAYA CIPTA (นวัตกรรม) HORMAT (ความเคารพ)และ KEYAKINAN (ความไว้วางใจ) เข้ามาปรับใช้
แผนเศรษฐกิจ MADANI ได้รับการพัฒนาเพื่อทดแทนแผนเศรษฐกิจ Shared Prosperity Vision 2030 แนวปฏิบัติที่ถูกกำหนดโดยภาครัฐของประเทศมาเลเซียเพื่อส่งเสริมความเจริญร่วมในช่วงเวลาจากปี 2021 ถึง 2030 โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดความต่างระหว่างกลุ่มที่มีรายได้สูงและกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ เนื่องจากมีการดำเนินการที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจในปัจจุบันมากกว่า โดยแผนเศรษฐกิจ MADANI ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางการคลังและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็ยังมีอุดมคติ
ที่มีมนุษยธรรม นอกจากนี้ยังช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายโดยรวมและคำนึงถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น แผนอุตสาหกรรมใหม่ปี 2030 แผนการเปลี่ยนพลังงานแห่งชาติ (NETR) และแผนทบทวนระยะกลางของมาเลเซียฉบับที่ 12 (MP MTR) ที่ซึ่งจะได้รับการแนะนำทั้งหมดในปีนี้
รองนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ เสรี ฟาดิลลาห์ ยูซอฟได้นำแผนเศรษฐกิจ MADANI มาใช้ในประเทศมาเลเซียตามต้นแบบของประเทศจีน ซึ่งจีนประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งในการดึงผู้คน 800 ล้านคน ออกจากความยากจนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ เสรี ฟาดิลลาห์กล่าวว่า แผนเศรษฐกิจ MADANI ในมาเลเซียสอดคล้องกับเป้าหมายของการประชุม Belt and Road Symposium Malaysia โดยตามกรอบแผนเศรษฐกิจ MADANI รัฐบาลจะใช้มาตรการ 2 ประการเพื่อต่อสู้กับความยากจน ได้แก่ การเพิ่มรายได้ ยกระดับมาตรฐานการครองชีพ และการให้การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ยากจน
ทั้งในเขตเมืองและในชนบท
17 มาตรการใหญ่ 71 กลยุทธ์หลักและความริเริ่ม
แผนเศรษฐกิจ Malaysia MADANI ได้นำเสนอมาตรการ Big Bold ที่มี 17 ประการ ซึ่งประกอบด้วย 71 กลยุทธ์ ซึ่งจะทำหน้าที่ผลักดันในการเร่งการปฏิรูปการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศตามปณิธานของ MADANI มาเลเซีย
มาตรการ Big Bold เริ่มต้นด้วยการขจัดความยากจนขั้นรุนแรง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การปรับปรุงคลินิกและโรงเรียนที่ด้อยโอกาส การรับประกันน้ำประปาสะอาด และการพัฒนาเศรษฐกิจอิสลาม นอกจากนี้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการสื่อสาร รวมถึงน้ำสะอาด ไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ตก็จะได้รับการพัฒนา ในขณะเดียวกัน โครงการการแพทย์ MADANI และโครงการฟื้นฟูโภชนาการสำหรับเด็กที่ขาดสารอาหารจะได้รับการปรับปรุงและดำเนินการ
สุดท้ายรัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยุติปัญหาความยากจนในปีนี้ ด้วยการดำเนินงานต่างๆและเสริมการคุ้มครองทางสังคม
บทวิเคราะห์ผลกระทบ
จากการที่รัฐผลักดันแผนเศรษฐกิจ MADANI ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยากจนและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ทำให้ประชากรในประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีกำลังในการซื้อสินค้ามากขึ้นสิ่งนี้อาจเป็นประโยชน์ให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการชาวไทยที่มีความสนใจในการลงทุนหรือประกอบธุรกิจต่างๆที่ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากผลตอบแทนมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น จึงอาจส่งผลให้ธุรกิจการส่งออกจากไทยมายังมาเลเซียเพิ่มขึ้นตาม นอกจากนี้ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนหน้าใหม่ๆเข้ามาร่วมลงทุนหรือเปิดธุรกิจในมาเลเซีย เช่น ธุรกิจด้านการบริการ การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ความคิดเห็น สคต.
นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ เสรี อันวาร์ อิบราฮิมได้นำแผนเศรษฐกิจ MADANI ที่มีเป้าหมายหลักคือพัฒนาการคลังและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจโดยมีมนุษยธรรม เข้ามาใช้ทดแทนแผนเศรษฐกิจ Shared Prosperity Vision 2030 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีผลให้คนจนในประเทศมีจำนวนลดน้อยลงและส่งเสริมให้ประชากรในประเทศมีกำลังในการซื้อสินค้า เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศก้าวหน้า สิ่งนี้อาจเป็นประโยชน์ให้กับนักลงทุนชาวไทยที่อยากจะส่งออกสินค้าไปยังประเทศมาเลเซีย เนื่องจากประชากรในประเทศมาเลเซียมีฐานะที่ดีขึ้นจึงมีความสามารถ ในการซื้อสินค้ามากขึ้นและอาจทำให้ธุรกิจส่งออกสินค้าจากไทยไปยังมาเลเซียสามารถเติบโตได้มากยิ่งขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์