เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP17 เรื่อง ราคาโกโก้ในตลาดปรับตัวสูงขึ้น
ช็อคโกแลตเป็นขนมหวานที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลกทั้งในกลุ่มผู้บริโภคเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่มาเป็นระยะเวลายาวนานหลายศตวรรษ โดยในปี 2566 ชาวอเมริกันบริโภคช็อคโกแลตเป็นปริมาณสูงถึงกว่า 3,070 ล้านกิโลกรัม ซึ่งโกโก้เองก็ถือเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญที่ใช้ในการผลิตช็อคโกแลต อีกทั้ง โกโก้ยังเป็นวัตถุดิบการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมหลายรายการ เช่น นม เค้ก คุ๊กกี้ และขนมอัดแท่งธัญพืช เป็นต้น รวมถึงวัตถุดิบสำคัญสำหรับกระบวนการผลิตเครื่องสำอาง ยา และเวชภัณฑ์บางรายการอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาราคาจำหน่ายโกโก้ในตลาดล่วงหน้า (Cocoa Continuous Contract หรือ CCOO) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตัวจากราคา 4,275 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในช่วงวันที่ 2 มกราคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 9,633 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา อีกทั้ง ยังเป็นสถิติราคาที่สูงที่สุดในรอบ 44 ปี โดยสถิติสราคาสูงที่สุดเดิมอยู่ที่ 5,379 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนกรกฎาคม ปี 2520
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่ายโกโก้ในตลาดส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านสภาพอากาศที่แปรปรวนในเขตแอฟริกาตะวันตก ที่ต้องเผชิญกับภาวะเอลนีโญ ที่ทำให้เกิดภาวะน้ำมากและแห้งแล้งในระยะเวลากระชั้นชิด ส่งผลกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตโกโก้ในปีนี้ลดลงมาก ส่งผลกระทบต่อปริมาณอุปทานโกโก้ในตลาดโลก โดยเฉพาะในประเทศโกตติวัวร์ หรือที่เรามักจะรู้จักในนามไอวอรี่โคสต์ และประเทศกานา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกโกโก้หลักสำคัญของโลก
แนวโน้มราคาโกโก้ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากส่งผลกระทบทำให้ราคาจำหน่ายสินค้าขนมหวาน โดยเฉพาะกลุ่มช็อคโกแลตในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นระหว่างร้อยละ 5 – 15 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลวันอีสเตอร์ช่วงปลายเดือนนี้ด้วย ในขณะที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันเองก็ยังคงเผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออยู่ในปัจจุบันแม้ว่าจะไม่รุนแรงเหมือนในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม แต่ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและกำลังการซื้อของผู้บริโภคได้ในอนาคต
ปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้ ผู้ประกอบการในตลาดบางราย ได้ตัดสินใจปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ด้วยการปรับสูตรการผลิตสินค้าลดปริมาณโกโก้ลงและเพิ่มวัตถุดิบชนิดอื่นทดแทน เช่น ผลไม้แห้ง ถั่ว และธัญพืช เป็นต้น เพื่อรักษาระดับราคาจำหน่ายในตลาดและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มราคาโกโก้ในตลาดจะรักษาระดับสูงใกล้เคียง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันแค่เพียงในช่วงระยะสั้น ก่อนที่จะปรับตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม โดยรวมราคาโกโก้ในตลาดน่าจะยังคงสูงกว่าราคาเฉลี่ยในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระหว่าง 3,500 – 4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ในภาพรวมคาดว่า แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลทำให้ปริมาณผลผลิตโกโก้ทั่วโลกจะปรับตัวลดลงประมาณ 469,967 แสนตันหรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของปริมาณผลผลิตทั่วโลกในปีที่ผ่านมาเหลือปริมาณผลผลิตทั้งสิ้นประมาณ 5,404,615 ล้านตันในปีนี้
จากข้อมูลองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization หรือ FAO) แหล่งผลิตโกโก้ที่สำคัญของโลก ได้แก่ โกตติวัวร์ (ร้อยละ 37.96) กานา (ร้อยละ 18.87) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 11.36) เอกวาดอร์ (ร้อยละ 5.74) และแคเมอรูน (ร้อยละ 5.11) ตามลำดับ ส่วนไทยนั้นมีปริมาณการผลิตไม่มากนักเป็นปริมาณทั้งสิ้นประมาณ 124 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.02 ของปริมาณผลผลิตโกโก้ทั้งหมดทั่วโลกเท่านั้น
ในส่วนของการนำเข้าของสหรัฐฯ นั้น ในปี 2566 สหรัฐฯ นำเข้าโกโก้เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 6,174.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.52 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยนำเข้าจากแคนาดา (ร้อยละ 32.91) โกตติวัวร์ (ร้อยละ 11.37) เม็กซิโก (ร้อยละ 9.91) กานา (ร้อยละ 4.29) และมาเลเซีย (ร้อยละ 4.05) ตามลำดับ
แม้ว่าโกโก้จะไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักของไทยในตลาดสหรัฐฯ แต่ก็มีมูลค่าพอสมควร ประมาณ 8.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.14 ของมูลค่าการนำเข้าโกโก้ทั้งหมดของสหรัฐฯ (ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 16.39) โดยเกือบทั้งหมดเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าโกโก้แปรรูป
ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ไทยค่อนข้างเหมาะสำหรับการเพาะปลูกปลูกโกโก้ได้เกือบทุกพื้นที่เนื่องจากเป็นพืชที่มีความทนทานต่อภาวะความชื้นและความแห้งแล้งได้ดี เหมาะที่จะเพาะปลูกทั้งในรูปแบบฟาร์มเดี่ยวหรือฟาร์มสวนผสมร่วมกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น มะพร้าว หรือปาล์มน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้ แนวโน้มความต้องการบริโภคโกโก้ในตลาดโลกยังคงอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการผลักดันการผลิตโกโก้เพื่อสนับสนุนอุปทานในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตโกโก้ไทย ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงยังไม่เป็นที่รับรู้ในตลาดโลก ดังนั้น การดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรไทยประกอบกับการทำการประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมการผลิตโกโก้ไทยในตลาดสากลน่าจะช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการนำเข้าโกโก้จากไทยมากขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมโกโก้ไทยกับอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เองยังให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการดำเนินกิจการและการรับผิดชอบต่อธรรมชาติและชุมชนที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูกสูง ดังนั้น การสนับสนุนให้ผู้เพราะปลูกไทยดำเนินกิจการเพาะปลูกโกโก้ตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น FairTrade International จะช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตโกโก้ไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้ในอนาคต อีกทั้ง การสนับสนุนทำฟาร์มเพาะปลูกโกโก้แบบเกษตรอินทรีย์และการเกษตรเพื่อความยั่งยืน ก็น่าจะช่วยให้สินค้าไทยมีจุดเด่นแตกต่างเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการได้ในอนาคตด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://www.youtube.com/watch?v=Pq4xNo5DVOE
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก