เนื้อหาสาระข่าว: ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 สำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) ได้ออกมาตรการเฝ้าระวังใหม่ ซึ่งจะเป็นผลให้ FDA สามารถยับยั้งการนำเข้าสินค้าอาหารสำหรับมนุษย์ที่ตรวจพบได้ว่ามีการปนเปื้อนของสารเคมีมากมายหลายชนิด ซึ่งอาจมีอันตรายต่อสุขภาพได้ ได้แก่ benzene, dioxins และ polychlorinated biphenyls และ สาร perfluoroalkyl และ polyfluoroalkyl (PFAS)
มาตรการดังกล่าวนี้อาจส่งผลต่อสินค้าอาหารหลากหลายชนิดที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ
PFAS คือกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์ที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงหลังปี 1940 เป็นต้นมา และสามารถพบได้ในสินค้าอุปโภคบริโภคมากมายหลากหลายชนิด สารเคมีกลุ่มนี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน ตั้งแต่ในโฟมดับเพลิง สารเคลือบเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ สารที่ต้องสัมผัสกับอาหาร ไปจนถึงการผลิตสารเคมีและสินค้าอีกมากมาย มีการนำสารเคมีเหล่านี้มาใช้กับสินค้านานาชนิด อาทิ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ลวดและสายเคเบิล ท่อน้ำ เครื่องมือปรุงและอบอาหาร สินค้าเครื่องกีฬา สินค้ายานยนต์ ของเล่น อุปกรณ์ขนส่งและเครื่องดนตรีซึ่งอาจนำเข้ามาในสหรัฐฯ ในลักษณะสินค้าสำเร็จรูปแล้ว
มาตรการเฝ้าระวังใหม่นี้ จะมีการระบุรายชื่อผู้ประกอบการและสินค้าอาหารของพวกเขาที่ FDA ประเมินว่ามีระดับการปนเปื้อนของสาร PFAS หรือสารเคมีชนิดอื่นๆ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีการระบุรายชื่อสินค้าหรือผู้ประกอบการรายใดเลยก็ตาม
FDA แจ้งว่ายังไม่ได้มีการกำหนดระดับของการปนเปื้อนส่วนใหญ่ในสินค้าอาหาร ซึ่งก็รวมถึงระดับการปนเปื้อนของสาร PFAS ด้วย แต่ FDA จะใช้วิธีการประเมินทั่วๆ ไปโดยใช้ดุลยพินิจตามแต่ละกรณีๆ ไป ว่าชนิดและปริมาณของการปนเปื้อนที่ตรวจพบในอาหารนั้นควรจะต้องกังวลถึงภัยต่อสุขภาพถึงขั้นที่จะจัดให้เป็นสินค้าปนเปื้อนสารเคมีได้หรือไม่ โดยการประเมินของ FDA นั้นจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ หลายประการด้วยกัน รวมถึงว่ามีการกำหนดระดับการปนเปื้อนที่ยอมรับได้ไว้แล้วหรือไม่ ปริมาณการบริโภคโดยปกติของอาหารแต่ละชนิด ระดับของการปนเปื้อนที่ตรวจพบและฤทธิ์ของสารเคมีแต่ละชนิดที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ได้
ผู้ประกอบการและ/หรือสินค้าที่มีรายชื่ออยู่ใน “บัญชีแดง” ตามมาตรการเฝ้าระวังนี้ จะถูกกักโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบก่อน ในขณะที่ผู้ประกอบการและ/หรือสินค้าที่มีรายชื่ออยู่ใน “บัญชีเขียว” จะไม่ถูกกักเพราะถือว่าเข้าข่ายผู้ที่ได้รับการยกเว้น ในมาตรการเฝ้าระวังบางกรณีก็อาจมีรายชื่อใน “บัญชีเหลือง” ด้วย โดยผู้ประกอบการ สินค้า และ/หรือ ประเทศที่มีรายชื่ออยู่จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพราะโดยลักษณะของการฝ่าฝืนนี้ อาจจำเป็นต้องมีการลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าในแต่ละครั้ง และ/หรือ การวิเคราห์เชิงลึกเพิ่มเติมต่อไปได้ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับมาตรการเฝ้าระวังเฉพาะกรณีไป สินค้าที่ถูกพิจารณาให้ต้อง “ถูกกักโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบก่อน” นั้น ก็ยังอาจจะสามารถผ่านเข้าสู่สหรัฐฯ ได้ หากผู้นำเข้าแสดงให้เห็นได้ว่าสินค้าของตนถูกต้องตามข้อกำหนดทุกประการแล้ว
หากสินค้า “ถูกกักโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบก่อน” แล้ว ผู้นำเข้าสินค้ามีสิทธิ์ที่จะนำหลักฐานมาแสดงต่อ FDA เพื่อแก้ข้อกล่าวหาว่ามีการฝ่าฝืนได้ แต่หากไม่สามารถแสดงหลักฐานดังกล่าว หรือแม้ว่าหลักฐานที่นำมาแสดงนั้นไม่มีน้ำหนักพอ สินค้าก็จะไม่สามารถนำเข้าสู่เขตแดนสหรัฐฯ ได้
บทวิเคราะห์: บทความนี้เป็นบทความที่คัดมาจากวารสารของสำนักงานกฎหมายที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้กำหนดมาตรฐานผู้ให้บริการคำปรึกษาด้านกฎหมายในวงการการค้าระหว่างประเทศ ชื่อ Sandler, Travis & Rosenberg, P.A. ที่เป็นจดหมายข่าวแจ้งให้บรรดาลูกค้าของสำนักงานเตรียมรับมือกับมาตรการเฝ้าระวังสินค้าที่ FDA เพิ่งจะประกาศใช้ ซึ่งจะมีผลต่อสินค้ามากมายหลายชนิดในวงกว้างมาก แม้จะเน้นเฉพาะสินค้าอาหารเป็นหลักก็ตาม แต่ในวงการสินค้าอาหารนำเข้า ก็อาจต้องกระเทือนกันไปทั่ว เพราะสารเคมีดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นของใช้ประจำวันในอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น จะขอนำเนื้อหาของมาตรการเฝ้าระวังเลขที่ 99-48 ดังกล่าวมาสรุปให้ทราบ ดังนี้
- ผู้ที่ได้รับอำนาจดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว คือ เจ้าหน้าที่สนามของ FDA เอง
- การบังคับใช้มาตรการ: กักสินค้าที่เข้าข่ายโดยไม่ต้องตรวจสอบก่อน
- ชื่อ: มาตรการกักสินค้าอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีโดยไม่ต้องตรวจสอบ
- FDA มีหน้าที่เฝ้าระวังไม่ให้สิ่งที่จะเป็นภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเข้าสู่สหรัฐฯ
- เจ้าหน้าที่ FDA จะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่าสินค้านำเข้าในกรณีใดอาจเข้าข่ายจะต้องดำเนินการกักสินค้า โดยเป็นการพิจารณาแบบเฉพาะแต่ละกรณี เพราะยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานของระดับการปนเปื้อนที่จะต้องบังคับใช้มาตรการและยังไม่มีรายชื่อในบัญชีแดงอย่างชัดเจน
- ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณา ได้แก่ ระดับการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายหากมีการกำหนดไว้อยู่แล้ว ปริมาณการบริโภคโดยปกติ และฤทธิ์ของสารเคมีแต่ละชนิดที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์
- การสำรวจตัวอย่างอาหารทะเล 81 รายการในปี 2022 รวมถึง หอยลาย ปู กุ้ง ปลาค็อด ปลาแซลมอน ปลาพอลล็อค ปลาทูน่าและปลานิล พบว่าหอยลายกระป๋องจากจีนมีระดับการปนเปื้อนของ Perfluorooctanoic Acid (PFOA) ซึ่งเป็นสารเคมีในกลุ่ม PFAS ในระดับที่สูงจนน่ากังวลจะเป็นภัยต่อสุขภาพ
- มาตรการเฝ้าระวังนี้ ไม่ได้ครอบคลุมถึงภัยอื่นๆ ที่มีมาตรการเฝ้าระวังอื่นๆ ครอบคลุมไว้อยู่แล้ว อาทิ ยาฆ่าแมลง สารเมลามีน โลหะหนักหรือสารปรุงแต่งอาหารที่ไม่ปลอดภัย
- การบังคับใช้มาตรการ จะกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของ FDA สามารถกักสินค้าของบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีแดงไว้ได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบสินค้าก่อน ผู้ใดต้องการให้เพิ่มชื่อบริษัทฯ ใดเข้าในบัญชีแดงดังกล่าว สามารถแจ้งไปยัง Division of Import Operations (DIO) เพื่อพิจารณาได้
- สินค้าที่ถูกกักอยู่ เจ้าของหรือผู้รับผิดชอบอาจแสดงหลักฐาน อาทิ ผลการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการเอกชน เพื่อยืนยันว่าสินค้าไม่เป็นอันตรายใดๆ โดย FDA อาจมีการเก็บตัวอย่างและตรวจสอบซ้ำก่อนก่อนตัดสินใจ โดยหากจะนำชื่อบริษัทใดออกจากบัญชีแดงได้นั้น จะต้องมีหลักฐานชี้ชัดว่าปัญหาและข้อสงสัยต่างๆ ได้รับการแก้ไขจนพอใจแล้ว
- ในใบประกาศมาตรการดังกล่าวได้ระบุที่อยู่ อีเมลและหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: มาตรการเฝ้าระวังที่ออกมานี้ เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการเฝ้าระวัง ซึ่งข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการทุกรายก็คือ ยังไม่มีรายชื่อบริษัทใดถูกขึ้นบัญชีแดงดังกล่าว แต่ข่าวร้ายก็คือ ชื่อบริษัทที่จะปรากฎในบัญชีแดง จะถูกเสนอให้เพิ่มชื่อใดๆ ได้ทุกขณะ ซึ่งในทันทีที่มีชื่อบริษัทใดปรากฏแล้ว การบังคับใช้มาตรการก็จะเกิดขึ้นทันที และสินค้าของบริษัทนั้นๆ ที่มีชื่อเพิ่มเข้าไปในบัญชีแดงนั้น ไม่ว่าจะมีสารปนเปื้อนใดๆ อยู่จริงหรือไม่ ก็จะถูกกักไว้ไม่ให้ขนส่งเข้าสู่เขตแดนสหรัฐฯ โดยเจ้าหน้าที่ FDA ไม่ต้องตรวจสอบใดๆ เลย และก็จะเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าของสินค้าที่ถูกกักนั้นเอง ที่จะต้องนำเอกสารหลักฐานมาแสดงเพื่อยืนยันว่าสินค้าของตนเพียบพร้อมบริสุทธ์ปราศจากสารปนเปื้อนตามที่ถูกกล่าวหา เพื่อขอให้พิจารณาว่าจะยอมปล่อยสินค้าออกมาเพื่อนำไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ตามแผนเดิมได้หรือไม่ อีกประการหนึ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ มาตรการดังกล่าวนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ FDA ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่าระดับการปนเปื้อนน่ากังวลว่าจะเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคหรือไม่ แม้จะยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานของระดับการปนเปื้อนว่าสารเคมีใดจะเริ่มเป็นอันตรายเมื่อมีมากเกินระดับใดมาก่อน ดังนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีการปนเปื้อนสารบางชนิดเพียงน้อยนิดและอยู่ในระดับที่ไม่น่าจะเป็นอันตรายใดๆ โดยสิ้นเชิง แต่หากไม่มีการวิเคราะห์วิจัยโดยห้องทดลองหรือหน่วยงานใดๆ ถึงระดับของปริมาณสารดังกล่าวที่สะสมในร่างกายมนุษย์แล้วจะก่ออันตรายได้มาก่อน ก็เป็นการง่ายและปลอดภัยกว่า หากเจ้าหน้าที่ FDA จะใช้ดุลยพินิจตัดสินใจไม่ปล่อยสินค้าออกสู่ตลาดเอาไว้ก่อนเสมอ เพราะการที่จะวิเคราะห์ว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่หรือปนเปื้อนระดับใดนั้น ห้องทดลองเชิงพาณิชย์ทั่วๆ ไปก็อาจจะทำได้แทบทั้งสิ้น แต่มาตรฐานว่าระดับการปนเปื้อนมากน้อยแค่ไหนแล้วจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้นั้น น่าจะมีเฉพาะสารเคมีบางชนิดที่เป็นที่คุ้นเคยในแต่ละอุตสาหกรรมอยู่แล้วเท่านั้น ซึ่งก็อาจมีข้อถกเถียงกันต่อไปได้ว่า แหล่งข้อมูลที่ทำการวิจัยถึงระดับที่จะก่อให้เกิดอันตรายนั้นเชื่อถือได้หรือไม่อีก ทำให้มาตรการนี้ดูเหมือนจะคาดเดาผลสุดท้ายที่ปลายทางการพิจารณาได้ยากยิ่ง
แต่สำหรับผู้ประกอบการไทยก็คงจะพอเบาใจไปได้บ้างจากข้อความในมาตรการดังกล่าวที่ดูเหมือนจะเป็นการชี้เป้าหมายเอาไว้ค่อนข้างชัดว่า มาตรการนี้น่าจะเป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ นำมาใช้เพื่อกีดกันคู่ค้าที่ไม่พึงประสงค์เฉพาะบางรายเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งคงไม่ต้องเอ่ยชื่อไว้ตรงนี้ อย่างไรก็ตามโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะติดร่างแหไปด้วยก็ใช่ว่าจะไม่มีเลยโดยสิ้นเชิง หากเป็นไปได้ บรรดาสมาคมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกอาหารควรเตรียมหามาตรการรองรับร่วมกันเอาไว้ก่อน อาทิ การเฝ้าระวังป้องกันการสวมสิทธิ์ในการส่งออกมายังสหรัฐฯ การควบคุมปริมาณการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอัตรายต่อสุขภาพ การรวบรวมระดับมาตรฐานสากลของสิ่งปนเปื้อนตามรายการดังกล่าวที่ชี้ว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ การเตรียมหาห้องปฏิบัติการไว้ตรวจสอบยืนยันระดับของสารปนเปื้อนต่างๆ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มั่นใจว่าสารปนเปื้อนเหล่านี้หมดไป หรือหากยังมีอยู่บ้างก็ในระดับที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลยอมรับได้ ตลอดไปจนถึงเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่สามารถเตรียมไว้ล่วงหน้าได้และจะต้องใช้นำมาแสดงเป็นหลักฐานในกรณีที่สินค้าของตนถูกกักไว้ เป็นต้น
*********************************************************
ที่มา: Sandler, Travis & Rosenberg, P.A. เรื่อง: “New Import Restrictions on Food Products with Chemical Contaminants” โดย: Newsletter Editorial สคต. ไมอามี /วันที่ 26 มีนาคม 2567