(ที่มา : สำนักข่าว Pulse by Maeil Business News Korea ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2566)

ความนิยมในสินค้าอาหารไซส์ยักษ์ (Oversized Food) เป็นกระแสอยู่ในตลาดเกาหลีใต้ปัจจุบัน และได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรงามให้กับร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตในยุคที่ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 ร้าน CU ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ตามกระแสอาหารไซส์ยักษ์ดังกล่าว เป็นฮอทด็อกขนาดยักษ์ 2 ชนิด ปริมาณอันละ 200 กรัม หรือใหญ่กว่าฮอทด็อกขนาดทั่วไปที่มีปริมาณ 80 กรัมถึง 2.5 เท่า โดยมีไส้กรอกขนาด 130 กรัม ใหญ่กว่าที่จำหน่ายทั่วไปอยู่ในฮอทด็อกนั้นด้วย ซึ่งเป็นเปิดตัวหลังจากผลสำเร็จของคิมบับ (ข้าวปั้น) ทรงสามเหลี่ยมขนาดยักษ์ที่วางจำหน่ายเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่มียอดขายมากกว่า 5,000 ชิ้นในวันที่เปิดตัว ทั้งนี้ CU เริ่มจำหน่ายสินค้าอาหารไซส์ยักษ์ครั้งแรกในปี 2557 และจนถึงปัจจุบัน ได้รับความนิยมในฐานะสินค้าที่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย โดยมียอดขายสะสมทะลุ 80 ล้านชิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ในส่วนของ GS25 ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่อีกเจ้าหนึ่ง ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากกับบะหมี่สำเร็จรูปไซส์จัมโบ้ (Jumbo Instant Cup Ramyun) ที่เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีปริมาณเท่ากับที่เสิร์ฟปกติ 8 ที่ ตามแผนเดิมจะสามารถผลิตได้ในจำนวนจำกัดเพียง 50,000 ถ้วยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สินค้าดังกล่าวจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็วภายในสามวัน GS25 จึงได้ตัดสินใจเพิ่มรายการสินค้าดังกล่าวให้จำหน่ายในร้านอย่างถาวร ซึ่งมียอดขายจนถึงปัจจุบันทั้งสิ้น 1.7 ล้านถ้วย ซึ่ง GS25 ยังคงใช้ประโยชน์จากกระแสนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการเปิดตัวสินค้าไซส์จัมโบ้ รุ่นที่ 2 และ 3 ซึ่งสินค้าทั้งสามรุ่นมียอดขายรวมทั้งสิ้น 2.7 ล้านถ้วย

 

สำหรับ Emart Traders มาร์ทขายส่งที่ขึ้นชื่อเรื่องผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงในด้านแพ็กขายปลีกสินค้าปศุสัตว์ ได้เสนอขายเนื้อสัตว์ในราคาที่ต่ำกว่าร้านขายเนื้อทั่วไปร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 15 โดยลูกค้าสามารถซื้อหมูสามชั้นชิ้นใหญ่ขนาดราว 2 กิโลกรัมได้ในราคาประมาณ 30,000 วอน (23 เหรียญสหรัฐ) และเนื้อฮันอู (วัวเกาหลี) สันนอกเกรด 1 – 2 ปริมาณ 1.5 กิโลกรัมได้ในราคากลางปานกลางไม่เกิน 80,000 วอน ซึ่งยอดขายของมาร์ทในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ความเห็น สคต.  สคต. ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง ร้านค้าต่างๆ ได้นำกลยุทธ์ต่างๆ มาจูงใจผู้บริโภคเพื่อให้เลือกซื้อสินค้าของตัวเอง ร้านสะดวกค้าและร้านค้าปลีกในเกาหลีใต้ก็กำลังเดิมพันกับอาหารไซส์ยักษ์เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่รัดตัว และมีแนวโน้มที่จะเลือกสินค้าที่คุ้มค่า อิ่มได้มากกว่า โดยไม่สร้างภาระทางการเงินมากนัก นอกจากนี้ จากการที่จะจำหน่ายสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น ก็เป็นอีกวีธีหนึ่งในการดึงเงินออกจากกระเป๋าของผู้บริโภคให้เข้าสู้ร้านที่จำหน่ายสินค้าไซส์ยักษ์มากกว่าเดิมด้วย เนื่องจากการที่ราคาต่อหน่วยของสินค้าสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริโภคสินค้านั้นๆ สูงขึ้น ส่งผลให้เงินจำนวนดังกล่าวก็จะไปสู่ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้านั้นๆ ทั้งนี้ คาดว่า กระแสความนิยมสินค้าไซส์ยักษ์จะยังคงอยู่กับผู้บริโภคเกาหลีใต้ไปอีกระยะหนึ่ง

ผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของไทยควรใช้ประโยชน์จากกระแสดังกล่าว โดยนอกจากการพัฒนาสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สะดวกในการแยกขยะ และนำไปรีไซเคิ้ลได้สะดวกแล้ว ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเกาหลีใต้ที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่ โดยต้องพิจารณาประเด็นความคุ้มค่า ราคาที่เหมาะสม และมีปริมาณที่ตรงใจผู้บริโภค เช่น แพคเกจใหญ่พิเศษ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคเกาหลีใต้ต่อเนื่อง

********************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

 

thThai