สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี มีนโยบายกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยจะไม่ยึดอยู่กับอุตสาหกรรมน้ำมันเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ทำให้ประเทศนี้แสวงหาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่น่าลงทุน เช่น นวัตกรรมเทคโนโลยี นวัตกรรมอาหารและสุขภาพ มีนโยบายดึงดูดการลงทุนต่างชาติ (FDI) ลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย พลิกโฉมยูเออี สู่เศรษฐกิจใหม่ และการลงทุนในต่างประเทศ
นาย Jamal Bin Saif Al Jarwan เลขาธิการสภานักลงทุนระหว่างประเทศของยูเออี (UAE International Investors Council : UAEIIC) เปิดเผยว่ายูเออีได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของตน ในเศรษฐกิจโลก มีการลงทุนในต่างประเทศที่ดำเนินไปได้ดีแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะผันผวนก็ตาม ในช่วงต้นปี 2567 คาดว่ามูลค่ารวมของสินทรัพย์ของยูเออีในต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และยูเออีกำลังขยายพอร์ตการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้คนรุ่นใหม่ในอนาคต ด้วยโครงการที่มีแนวโน้มสดใส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการจัดการทางเศรษฐกิจที่ดี มีความมุ่งมั่นในความร่วมมือและการพัฒนา ในด้านการลงทุนยูเออีสามารถครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาหรับและเอเชียตะวันตก เป็นอันดับที่ 15 ของโลก และอันดับที่สองของโลกในด้านการลงทุนในโอกาสใหม่ๆ
การลงทุนโลก
สหรัฐอเมริกาครองตำแหน่งการลงทุนมูลค่าสูงสุด โดยมีการลงทุนตราสารหนี้ 65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และการลงทุนทางตรง (Direct Investment) 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อียิปต์ตามมาอย่างใกล้ชิดด้วยมูลค่า 65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่อังกฤษและอินเดียดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงประเทศละ 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โมร็อกโกมูลค่า 30 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และยุโรปกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางในอนาคตอันสดใสเนื่องจากเสถียรภาพของค่าเงิน
ยูเออีลงทุนใน 90 ประเทศ คาดว่าจะลงทุนในประเทศอินเดีย (ประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ) อินโดนีเซีย ประเทศกลุ่มอาเซียน อียิปต์ โมร็อกโก กลุ่มประเทศในเอเชียกลาง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา และบางประเทศในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะเซอร์เบีย กรีซ และตุรกี ที่เป็นจุดสนใจของยูเออี
ในส่วนของการเป็นเจ้าของและผู้ถือทุน นาย Al Jarwan อธิบายว่ายูเออีลงทุนทั่วโลกแบ่งออกเป็น กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth funds) ร้อยละ 72 ร่วมกับสำนักงานการลงทุนอาบูดาบี (Abu Dhabi Investment Authority :ADIA), Mubadala Investment Corporation, Dubai Investment Corporation, UAE Investment Agency และ Abu Dhabi Developmental Holding Company (ADQ) ตามมาด้วยบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ และ องค์การกึ่งอิสระของรัฐบาล (Quasi-government companies) สัดส่วนร้อยละ 18 ธนาคารของยูเออี ร้อยละ 2.5 บริษัท ที่เจ้าของเป็นคนยูเออีและบริษัทเอกชน ร้อยละ 7.5
กองทุนของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อนำสภาพคล่องส่วนเกินของประเทศไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ที่เรียกว่า “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” ยูเออีเป็นเจ้าของรวม 7 แห่ง มีมูลค่าสินทรัพย์มากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทําธุรกรรมมากมาย ตัวอย่างสินทรัพย์ที่โดดเด่นที่กองทุนยูเออีลงทุน คือ UniVar Solutions ศูนย์โซลูชันมุ่งส่งเสริมนวัตกรรมระดับโลก ด้วยมูลค่า 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
การลงทุนของ Quebec Deposit and Investment Fund รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา เข้าซื้อกิจการของ DP World ใน Jebel Ali Port, Jebel Ali Free Zone และ National Industries Park มูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยถือหุ้นร้อยละ 22
นอกจากนี้มีการลงทุนที่สำคัญของยูเออีอื่นๆ ได้แก่ การเข้าซื้อกิจการโดย e& group และบริษัทในเครือ Atlas 2022 Holdings ซื้อหุ้นร้อยละ 9.8 ของกลุ่ม Vodafone group ในอังกฤษ ด้วยมูลค่า 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และการเข้าซื้อกิจาการโดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี ( Adnoc ) ด้วยมูลค่า 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และซื้อหุ้นร้อยละ 24.9 ของบริษัทน้ำมันและก๊าซออสเตรีย OMV AG
การลงทุนข้ามพรมแดน
ยูเออีมีโครงการลงทุนข้ามพรมแดนในภูมิภาคตะวันอออกกลาง เช่น ประเทศอียิปต์ด้วยการพัฒนาเมือง Ras El-Hekma ด้วยเงินลงทุนของฝ่ายยูเออีและอียิปต์รวม 35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินงอกเงยจากการลงทุนได้ถึงมูลค่า 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในส่วนของเงินหมุนเวียนการลงทุนข้ามพรมแดนของยูเออีในปี 2565 มูลค่า 24.83 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราขยายตัวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับในปี 2564 ที่มีมูลค่า 22.55 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เว็บไซต์ aseanhouse.org เสนอรายงานเรื่อง “ตะวันออกกลางเปลี่ยนทางมุ่งเอเชียปี 2565” พบว่า มีแนวคิดสอดคล้องกับ ความต้องการเงินทุนต่างประเทศของกลุ่มอาเซียนและไทย ส่วนรัฐอ่าวอาหรับก็ต้องการกระจายการลงทุนออกไปต่างประเทศ และในปี 2565 เป็นปีที่คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ( Gulf Cooperation Council) หรือ GCC กับกลุ่มอาเซียน มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น มูลค่าการค้าระหว่างกลุ่ม GCC กับอาเซียน เพิ่มขึ้นเป็น 85,230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.7 ต่อปี และคาดว่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน จะเพิ่มขึ้นอีก เพราะมีสัญญาณดีคือ การสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างยูเออีกับประเทศในอาเซียน ผ่านข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หรือ CEPA ซึ่งเป็นเครื่องมือในการบุกตลาดและเพิ่มการลงทุน เป็นกลยุทธ์การค้าที่สำคัญในแผนการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูเออี ที่มุ่งลดการพึ่งพาเชื้อเพลิง ฟอลซิล โดยจะมีการยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นปริมาณมาก ลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงส่งเสริมการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกัน ที่ได้ลงนามกับประเทศในอาเซียนแล้ว คือ อินโดนีเซีย และกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีประเทศฟิลิปปินส์ เวียตนาม และอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการเจรจารวมถึงประเทศไทยด้วย
ความเห็นของ สคต.ดูไบ
ขณะนี้มีบริษัทการค้าของยูเออีมากกว่า 61 แห่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ บริษัท Mubadala Petroleum เป็นบริษัทในเครือ 100% ของ Mubadala Development Company (MDC) จัดตั้งโดยรัฐบาลกรุงอาบูดาบี เป็นบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมในไทยหลายแปลง เป็นผู้สำรวจพบจนสามารถพัฒนาแหล่งน้ำมันดิบขนาดเล็กชื่อว่าแหล่งจัสมินและบานเย็น
บริษัท DP World Thailand (Laem Chabang International Terminal Co., Ltd.) ของรัฐดูไบ ได้รับสัมปทานจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 30 ปี เพื่อ “สร้าง ดำเนินการ และบริหารจัดการ” ท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ B5 และการท่าเทียบเรือ C3 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง LCIT
กองทุนอาบูดาบี Abu Dhabi Fund for Development (ADFD) ที่มีการลงทุนใน 26 ประเทศทั่วโลก ร่วมกับบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)ประเทศไทย ลงทุน 104.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร่วมถือหุ้นโรงแรม 4 แห่ง ศูนย์การค้า 1 แห่ง ในประเทศไทย
การลงทุนของฝ่ายไทยในยูเออีมีธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางจนถึงนักลงทุนรายเล็กหลายราย อาทิ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับบริษัท Eni Abu Dhabi ในกรุงอาบูดาบี สำรวจทรัพยากรปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของอาบูดาบี ในภาคบริการ มีโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีกและส่ง บริการสุขภาพและความงาม และธุรกิจจัดงานแสดงสินค้า ในภาคการผลิตบริษัทไทยร่วมกับกลุ่ม Dubai Holdings ของรัฐบาลดูไบ ประกอบธุรกิจประเภท การผลิตทองแดงและผลิตภัณฑ์ทองแดง ในงานก่อสร้าง เป็นต้น
——————————————————-