เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP18 เรื่อง อนาคตตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันยังคงสดใส

 

ตลาดเครื่องดื่มอรรถประโยชน์ หรือ เครื่องดื่มฟังก์ชัน (Functional Beverages) ที่มีคุณสมบัติให้ประโยชน์และเสริมสุขภาพของผู้บริโภค ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน ซึ่งกระแสดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันหันมาดูแลและใส่ใจกับปัจจัยด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกลุ่มผู้ค้าปลีกและห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ ที่ต่างก็ได้พิจารณาเพิ่มรายการสินค้ากลุ่มดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัดเพื่อตอบสนองแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่ต้องการบริโภคเครื่องดื่มฟังก์ชันที่ให้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น

 

จากข้อมูลบริษัท American International Foods ผู้จัดจำหน่ายสินค้าวัตถุดิบการผลิตอาหารและเครื่องดื่มในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า แนวโน้มตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันในเขตภูมิภาคอเมริกาเหนือว่า จะมีแนวโน้มขยายต้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปี ข้างหน้า จากมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 5.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็นทั้งสิ้นประมาณ 7.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2571 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.9 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)

 

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรายสำคัญ เช่น บริษัท Fresh Direct บริษัท Natural Grocers by Vitamin Cottage และ บริษัท KeHE Distributor ต่างก็ให้ความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าสภาวะการแข่งขันในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม

 

ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัท Fresh Direct ผู้จำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายเครื่องดื่มฟังก์ชันของบริษัท มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัวในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้ากลุ่มอื่น โดยสินค้าเครื่องดื่มฟังก์ชันที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดสูงในขณะนี้ ได้แก่ น้ำมะพร้าว เครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink) และน้ำอัดลมฟังก์ชัน (Functional Soda)

 

นอกจากนี้ จากปัจจัยด้านแนวโน้มการขยายตัวของตลาดสินค้าเครื่องดื่มฟังก์ชันจะสังเกตได้ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมค้าปลีกและกลุ่มผู้ประกอบการซูปเปอร์มาร์เก็ตหลายรายได้ปรับกลยุทธ์ เพิ่มมุมจัดวางสินค้าเครื่องดื่มฟังก์ชันที่หลากหลายรายการไว้บริเวณใกล้กับเคาท์เตอร์จ่ายเงินในลักษณะ Grab and Go เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดและเพิ่มโอกาสในการขยายยอดจำหน่ายสินค้ามากขึ้นด้วย

 

ปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าเครื่องดื่มฟังก์ชันในปัจจุบัน ได้แก่

    1. ปัจจัยด้านอรรถประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การเพิ่มโปรตีน การส่งเสริมพลังงาน การช่วยระบบการย่อยอาหาร และการทดแทนอาหารหลัก (Meal Replacement)
    2. ปัจจัยด้านการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาพผู้บริโภคระยะยาว

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ปัจจุบันผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดมีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาเฉพาะปัจจัยด้านราคา คุณภาพ และรสชาติของสินค้า แต่ยังให้ความสำคัญและพิจารณาลงลึกไปถึงปัจจัยอรรถประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงปัจจัยด้านความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการด้วย

 

โดยเฉพาะปัจจัยด้านอรรถประโยชน์ต่อสุขภาพที่ทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ที่เกิดภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักและหันกลับมาให้ความสนใจด้านสุขภาพและเลือกซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้

 

ทั้งนี้ อรรถประโยชน์หรือสรรพคุณในอาหารและเครื่องดื่มที่ชาวอเมริกันนิยมในปัจจุบัน เช่น สรรพคุณที่ช่วยในการนอนหลับ สรรพคุณที่ช่วยลดน้ำหนัก สรรพคุณในการเสริมสร้างสุขภาพ สรรพคุณในการเสริมสร้างพลังงาน สรรพคุณในการช่วยผ่อนคลาย สรรพคุณในการเสริมสร้างสมาธิ สรรพคุณในการบำรุงสมอง และสรรพคุณในการช่วยระบบย่อยอาหาร เป็นต้น

 

โดยผู้ประกอบการไทยเองมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เป็นวงกว้างอยู่แล้ว อีกทั้ง ในปัจจุบันเองยังมีผู้ประกอบการไทยหลายรายที่ได้พัฒนาสินค้าเครื่องดื่มอรรถประโยชน์ที่น่าสนใจเพื่อทำตลาดในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียงอยู่แล้ว ดังนั้น แนวโน้มการขยายตัวของตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันของสหรัฐฯ จึงน่าจะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ในอนาคต

 

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ตลาดสินค้าเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มฟังก์ชัน ที่มีสัดส่วนกำไร (Margin) ค่อนข้างสูง เป็นที่สนใจในกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งในสหรัฐฯ และจากต่างประเทศทั่วโลก จึงทำให้มีสภาวะการแข่งขันในตลาดที่สูง ดังนั้น การพิจารณาสร้างความแตกต่างในสินค้า หรือ Product Differentiation อย่างเหมาะสม เช่น การเลือกวัตถุดิบการผลิตที่สามารถหาได้เฉพาะในท้องถิ่น การบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าเพื่อสร้างจุดขาย หรือ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบแตกต่าง จะช่วยให้สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคในตลาดได้

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยเอง ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชหลายชนิด ที่เป็นที่นิยมของตลาด เช่น มะพร้าว รวมถึงพืชสมุนไพรที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ตะไคร้ และขมิ้นชัน จึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบหรือจุดแข็งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่น่าจะสามารถนำวัตถุดิบเหล่านั้น ไปพัฒนาเป็นสินค้าเครื่องดื่มฟังก์ชันที่น่าสนใจเพื่อทำตลาดในสหรัฐฯ ได้ในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาศึกษาพฤติกรรมและความต้องการบริโภคสินค้าเครื่องดื่มฟังก์ชันของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้บริโภคในเอเชียอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดอย่างแท้จริง เช่น ผู้บริโภคในเอเชียที่มักจะสนใจสินค้าที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพผิวพรรณและความงามสูง ในขณะที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ สนใจสินค้าที่ส่งเสริมสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต เป็นต้น

 

อีกทั้ง การปฏิบัติตามระเบียบการส่งออกอย่างเข้มงวด แสดงฉลากสรรพคุณที่ชัดเจน ไม่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินความจริง ยังจะช่วยให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคและช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาด้านการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าได้ในอนาคต

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/dc9c_2PMh4I

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

thThai