ตามรายงานสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นแห่งประเทศเยอรมนี (Gesamtverband der deutschen Textil- und Modeindustrie e. V.) เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีภาพรวมที่ไม่ค่อยดีนัก แม้ว่าตัวเลขในส่วนมูลค่าการค้า การจ้างงาน และการค้าปลีกจะแสดงออกในเชิงบวก แต่ผู้ผลิตสินค้าสิ่งทอกลับต้องเผชิญกับปัญหาด้านผลกำไร เนื่องจากต้นทุนการผลิตและค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยแม้ว่าจะมีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแล้วแต่ก็ไม่สามารถชดเชยตรงส่วนนี้ได้ นอกจากนี้ อัตราการส่งออกและการนำเข้าสินค้ายังหดลงตัวจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ จากการสำรวจภาพรวมพบว่าตลาดสิ่งทออาจไม่สามารถปรับตัวดีขึ้นในเร็ววันนี้
1. มูลค่าการค้า
ในปี พ.ศ. 2566 ภาพรวมมูลค่าการค้าสิ่งทออยู่ที่ 29,217 ล้านยูโร ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +2.7 อย่างไรก็ตาม เมื่อแบ่งกลุ่มสินค้าพบว่าการจำหน่ายผ้าต่าง ๆ ลดลงร้อยละ -1.9 (17,628 ล้านยูโร) ในขณะที่กลุ่มสินค้าเครื่องแต่งกายปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ +10.8 (11,589 ล้านยูโร) ทั้งนี้ สินค้าที่เป็นตัวแปรให้ตัวเลขการค้าผ้าลดลงในปีที่ผ่านมา ได้แก่ ผ้าไม่ถักไม่ทอหรือผ้าใยสังเคราะห์ (Nonwoven fabric) (-4.0%) และสิ่งทอเทคนิค (Technical Textile) (-11.2%) ในขณะที่กลุ่มเสื้อผ้า มีอัตราการจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มเสื้อผ้าชั้นนอก (Outerwear) (+10.2%) เสื้อผ้าทำงาน เสื้อผ้าสำหรับวิชาชีพ (+10.0%) และถุงเท้า ถุงน่องต่าง ๆ (+6.9%) นอกจากนี้ มูลค่าการค้าสินค้าผ้าไปยังตลาดต่าง ๆ มีอัตราลดลง โดยเฉพาะการจำหน่ายสินค้าผ้าไปยังตลาดนอกเขตยูโรโซน (-8.8%) แต่ตลาดภายในประเทศยังมีการเติบโต (+2.0%) ในทางกลับกัน การจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าในประเทศและต่างประเทศมีการขยายตัวทั้งคู่ โดยเฉพาะการจำหน่ายเสื้อผ้าไปยังประเทศนอก ยูโรโซน (+14.9%) ซึ่งต่างจากกลุ่มสินค้าผ้าอย่างมาก
2. การผลิตและการจ้างงาน
อัตราการผลิตสินค้าสิ่งทอภายในประเทศลดลงทั้งสองส่วน กล่าวคือ การผลิตสินค้าผ้าลดลง -7.0% เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าเสื้อผ้าลดลง -3.9% สำหรับต้นทุนการผลิต แม้ว่าราคาวัตถุดิบหลายอย่างจะปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ แต่ราคาต้นทุนพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ขั้นกลางที่สำคัญ เช่น เส้นใยสังเคราะห์จากสารเคมี สีย้อม และวัสดุสังเคราะห์ต่าง ๆ มีราคาสูง ในขณะที่ ค่าขนส่งทางเรือกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นก่อนวิกฤติการณ์ไวรัสโคโรนาซึ่งเป็นผลดีต่อการนำเข้าสินค้า ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตหรือราคาขายสินค้าภายในประเทศ (Producer Price Index (PPI)) ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ราคาสินค้าผ้า +5.3% ราคาสินค้าเสื้อผ้า +4.8%
สำหรับอัตราการจ้างงานไม่ต่างจากปีก่อนหน้านัก โดยอัตราการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปตามมูลค่าการจำหน่ายสินค้าของแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสินค้าเสื้อผ้ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย +1.5% กลุ่มสินค้าผ้าและสิ่งทอลดลง -1.9% โดยรวมแล้วอัตราการจ้างงานเฉลี่ยลดลง -0.8%
3. การนำเข้า-ส่งออก
ปี พ.ศ. 2566 อัตราการนำเข้าและส่งออกสินค้าสิ่งทอของประเทศเยอรมนีลดลงทั้งสองทางอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคที่สำคัญที่สุดหดตัว ได้แก่ ตลาดภายในสหภาพยุโรป ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย การส่งออกไปยังประเทศจีนก็ลดลงเช่นกัน โดยมีเพียงบางตลาดที่ขยายตัว เช่น ประเทศยูเครน และตุรกี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าสิ่งทอรวมอยู่ที่ 37,240 ล้านยูโร (-2.5%) แบ่งออกเป็นสินค้าผ้า 12,012 ล้านยูโร (-6.3%) และสินค้าเสื้อผ้า 25,228 ล้านยูโร (-0.6%)
มูลค่าการนำเข้าสินค้าสิ่งทออยู่ที่ 48,053 ล้านยูโร (-16.5%) แบ่งออกเป็นสินค้าผ้า 11,424 ล้านยูโร (-17.4%) และสินค้าเสื้อผ้า 36,629 ล้านยูโร (-16.3%) ตัวเลขที่ลดลงนี้อาจเป็นผลมาจากการกักตุนสินค้าในช่วงปี พ.ศ. 2565 ก่อนหน้า ทำให้เหลือสินค้าคงคลังมาก จึงมีการนำเข้าลดลงในปี พ.ศ. 2566 และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อย ๆ ในปีต่อไป
สำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าวัตถุดิบสำหรับผลิตสิ่งทอในปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1,006 ล้านยูโร (-16.9%) การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบมีมูลค่า 978 ล้านยูโร (-24.5%)
สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นแห่งประเทศเยอรมนี ได้สำรวจและประเมินสถานการณ์ตลาดสินค้าสิ่งทอมีแนวโน้มถดถอยและยังไม่ฟื้นตัวในปีต่อไป และสภาวะตลาดสินค้าผ้ามีทีท่าในเชิงลบมากกว่าตลาดสินค้าเสื้อผ้า นอกจากนี้ ifo สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมัน ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Climate indicator) ของกลุ่มสินค้าสิ่งทอ คาดว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวอาจยังต้องเผชิญกับภาวะถดทอยในอนาคต เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศเยอรมนี
ที่มา:
สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นแห่งประเทศเยอรมนี (Gesamtverband der deutschen Textil- und Modeindustrie e. V.)
NewMenuCom
Cover photo by Julien Lanoy on Unsplash