โอกาสในการเจาะตลาดสินค้านมมะพร้าวในสหรัฐฯ

1. ภาพรวมตลาดนมมะพร้าวในสหรัฐอเมริกา

ข้อมูลจากบริษัท Industry Research Biz ระบุว่าการจำหน่ายนมมะพร้าวในสหรัฐฯ ปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 194.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2575 ตลาดนมมะพร้าวน่าจะมีการขยายตัวถึง 589.7 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้บริษัท Future Market Insights ยังได้มีการคาดการณ์ถึงส่วนแบ่งทางการตลาดของนมมะพร้าวในสหรัฐฯ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 28.2% ในช่วงระหว่างปี 2566-2576 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุปสงค์สินค้านมมะพร้าวในตลาดสหรัฐฯ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

กระแสความนิยมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและอรรถประโยชน์ของนมมะพร้าว เช่น ไม่มีน้ำตาล มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ มีกากใยสูง มีแร่ธาตุอาหารที่ดีและสามารถผลิต MCT (medium-chain triglycerides) ซึ่งเป็นพลังงานที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที ล้วนทำให้นมมะพร้าวได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ นอกจากนี้นมมะพร้าวยังถูกใช้เป็นอาหารทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น ผู้ที่แพ้นมวัว ผู้ที่นิยมบริโภคมังสวิรัติและวีแกน ตลอดจนผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ช่วยผลักดันให้นมมะพร้าวมีการเติบโตและได้เข้ามาแทนที่นมจากพืชชนิดอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น และน่าจะมีการขยายการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ประเภทของนมมะพร้าวในตลาดสหรัฐฯ

-ประเภทพร้อมดื่ม: เครื่องดื่มประเภทแช่เย็นพร้อมรับประทานเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้บริโภคที่มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ

-ประเภทของเหลว: สินค้าในกลุ่มนี้มีส่วนแบ่งประมาณ 88% ของตลาด โดยมีตั้งแต่นมมะพร้าวที่ใช้เป็นส่วนประกอบของการผสมเครื่องดื่ม ทำอาหารและอบขนม

-ประเภทผง: สินค้าในกลุ่มนี้กำลังมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกและมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน นิยมใช้ในกาแฟและเครื่อมดื่มที่ต้องการความเข้มข้น

2. นวโน้มตลาดนมมะพร้าวในสหรัฐอเมริกา

2.1 จากกระแสความนิยมสินค้าจากพืชมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้นมมะพร้าวเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น จากข้อมูลของ Veganconomist ระบุว่าครัวเรือนสหรัฐฯ ร้อยละ 44 นิยมบริโภคนมจากพืช โดยนมจากพืชที่ได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ นมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต นมอัลมอนด์ นมถั่วลันเตา นมมะพร้าว นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ นมงาและนมถั่วแมคคาเดเมีย

2.2 อัตราผู้บริโภคชาวอเมริกันที่แพ้นมมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาสินค้าทดแทนมีคุณค่าอาหารใกล้เคียง จากข้อมูลของ CDC พบว่าเด็กร้อยละ 1.9 ในสหรัฐฯ แพ้นมวัว และอีกร้อยละ 20 ของเด็กที่แพ้นมวัวจะยังคงแพ้ต่อเนื่องเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งนมมะพร้าวเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่แพ้แลคโตสหรือแพ้นมวัว

2.3 ผู้บริโภคมองหาสินค้าทางเลือกจากธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ตลอดจนข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่สนับสนุนการรับรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของนมมะพร้าวว่าเป็นสินค้าทางเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีประโยชน์สูง ช่วยหนุนให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการที่จะบริโภคสินค้าที่มาจากนมมะพร้าวเพิ่มมากขึ้น

2.4 นวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้สินค้าจากนมมะพร้าวสามารถเข้าถึงผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้โดยสะดวกมากขึ้นและสามารถตอบสนองรสนิยมและความต้องการที่หลากหลายได้

 

  1. ข้อมูลผู้บริโภคนมมะพร้าวและนมจากพืชในสหรัฐอเมริกา

3.1.กลุ่มผู้บริโภคนมมะพร้าวในสหรัฐฯ

-กลุ่มครัวเรือน เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของสินค้านมมะพร้าว โดยมีการนำนมมะพร้าวไปใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การปรุงอาหาร การทำผลไม้ปั่นและการประกอบอาหาร

-กลุ่มธุรกิจบริการอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการอาหารเอเชีย แคริบเบียนและละตินอเมริกานิยมใช้นมมะพร้าวและกะทิในการประกอบอาหารเป็นอย่างมาก

-กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหารมีการนำนมมะพร้าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตสินค้าอาหาร และอุตสาหรรมความงามมีการใช้นมมะพร้าวหรือสารสกัดจากมะพร้าวเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ประทินผิว ซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยมในเนื่องจากสอดคล้องกับแนวโน้มความสวยสะอาดจากธรรมชาติ (clean beauty) ที่เป็นเทรนด์นิยมในตลาดสหรัฐฯ

3.2.วิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคนมจากพืชในสหรัฐฯ

-ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Millenial และ Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักที่ขับเคลื่อนเทรนด์การบริโภคสินค้าจากพืช โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเป็นลำดับต้น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนมจากพืชได้รับความนิยมมากขึ้นและได้มีการแผ่ขยายเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างทุกช่วงอายุมากขึ้น

-ผู้บริโภคให้ความสนใจในเรื่องคุณค่ามากกว่าราคา แม้ว่านมทางเลือกจากพืชมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับนมวัว แต่เมื่ออุปสงค์ในตลาดมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้ราคานมจากพืชมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น

-เขตเมืองและชานเมืองมีแนวโน้มที่จะมีผู้บริโภคที่นิยมนมจากพืชเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและแหล่งจำหน่ายสินค้าได้ง่ายและสะดวกสบายมากกว่าเดิม โดยการขยายตัวของร้านค้าบน E-Commerce จะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภคได้และน่าจะช่วยหนุนให้นมจากพืชสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ในมุมกว้างต่อไป

 

  1. กฎระเบียบในการนำเข้านมมะพร้าวมายังตลาดสหรัฐฯ

นมทางเลือกจากพืช (Plant-Based Milk Alternatives: PBMA) แม้จะมีการควบคุมน้อยกว่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมวัว (Dairy Milk) แต่ยังคงจะต้องดำเนินการตามกฎระเบียบการนำเข้าอาหารมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) ที่ได้กำหนดไว้ ดังนี้

-การแจ้งล่วงหน้าต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ก่อนการส่งสินค้ามายังสหรัฐฯ (prior notification) ตามพระราชบัญญัติ Bioterrorism Act of 2002 รายละเอียดในการแจ้งข้อมูลสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ https://www.fda.gov/food/importing-food-products-united-states/prior-notice-imported-foods

-ปฏิบัติตามแนวทางการติดฉลาก (labeling) ของ FDA โดยร่างคำแนะนำสำหรับการติดฉลากของนมทางเลือกจากพืชของสหรัฐฯ ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา FDA ได้มีการเผยแพร่คำแนะนำให้กับผู้ผลิตเกี่ยวกับการติดฉลากบนสินค้านมทางเลือกจากพืชเพื่อให้มีความชัดเจนสำหรับผู้บริโภค  โดยให้ผู้ผลิตสินค้านมทางเลือกจากพืชสามารถใช้คำว่า “นม” ในชื่อสินค้าของตนได้แต่จะต้องระบุแหล่งที่มาของอาหารให้ชัดเจน เช่น นมถั่วเหลืองหรือนมอัลมอนด์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตสามารถระบุข้อมูลเสริมเพิ่มเติมบนฉลากโภชนาการตามความสมัครใจเพื่อให้บริโภคเข้าใจความแตกต่างระหว่างนมทางเลือกจากพืชและนมจากสัตว์ในกรณีที่สินค้ามีปริมาณสารอาหารที่แตกต่างกัน เช่น ปริมาณแคลเซียม แมกนีเซียมหรือวิตามินดี เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูลฉบับเต็มสามารถไปศึกษาได้เพิ่มเติมที่ https://www.fda.gov/regulatory-information/search-fda-guidance-documents/draft-guidance-industry-labeling-plant-based-milk-alternatives-and-voluntary-nutrient-statements

  1. ช่องทางการจัดจำหน่ายนมมะพร้าวและนมจากพืชต่างๆ ในสหรัฐฯ

5.1.ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็นช่องทางหลักและสำคัญในตลาดสหรัฐฯ ตามข้อมูลของ Mordor Intelligence พบว่าปี 2565 การจำหน่ายผ่านช่องทางนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด โดยร้านค้าเหล่านี้จัดจำหน่ายนมจากพืชหลากหลายยี่ห้อเพื่อรองรับฐานลูกค้าขนาดใหญ่ โดยร้านค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ Walmart, Target, Stop and Shop, Wegmans, Krogers, Trader Joe’s และ Safeway เป็นต้น

5.2.ร้านค้าเฉพาะทาง (specialty store) เป็นร้านที่เน้นการจำหน่ายสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ร้านจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ ร้านจำหน่ายสินค้าจากธรรมชาติและออร์แกนิก ร้านจำหน่ายสินค้าสำหรับกลุ่มที่นิยมการออกกำลงกาย เป็นต้น ซึ่งร้านค้าเฉพาะทางดังกล่าวนับว่าเป็นช่องทางที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนมเฉพาะกลุ่ม หรือนมจากพืชระดับพรีเมียม

5.3.ร้านสะดวกซื้อ (convenience store) ร้านสะดวกซื้อมีการเติบโตอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยร้านสะดวกซื้อมีสินค้าและตัวเลือกของนมจากพืชที่หลากหลายเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องเดินทางและมีกิจวัตรประจำวันที่เร่งรีบ โดยสินค้าที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อจะเป็นสินค้าขนาดเล็กสะดวกต่อการพกพา

5.4.การจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ (E-Commerce platform) มีการเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ผู้ค้าปลีกออนไลน์ เช่น Amazon.com, Walmart.com, Target.com, Foodfirect.com, Veganessentials.com และอื่นๆ พยายามที่จะมอบความสะดวกสบายและการนำเสนอสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้นให้กับผู้บริโภค ตลอดจนพยายามที่จะแข่งขันกันในเรื่องราคาและการจัดส่งเพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น

5.5.ธุรกิจบริการด้านอาหาร (Foodservice) จากอุปสงค์ความต้องการของผู้บริโภคส่งผลให้นมจากพืชได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและได้มีการแผ่ขยายเข้าสู่ธุรกิจบริการร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น และน่าจะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้นมจากพืชมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของ IBISWORLD ระบุว่าในปี 2566 สหรัฐฯ มีจำนวนธุรกิจบริการโรงแรมและร้านอาหาร ประมาณ 1.13 ล้านแห่ง

  1. วิเคราะห์โอกาสของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ

จุดแข็ง:

  1. ไทยมีชื่อเสียงในด้านแหล่งวัตถุดิบและการผลิตมะพร้าวคุณภาพสูง ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าสินค้าจากไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ
  2. ไทยมีประเภทสินค้าที่หลากหลายทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกันในตลาดสหรัฐฯ
  3. ประสิทธิภาพด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทานทำให้สินค้าจากไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ

จุดอ่อน:

  1. แบรนด์กะทิไทยขาดการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับคุณภาพ มาตรฐาน ทำให้แบรนด์สินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ เสียเปรียบคู่แข่งขันจากประเทศอื่นๆ
  2. ข้อกังวลด้านความยั่งยืนของผู้บริโภคเกี่ยวกับการจัดหาสินค้าอย่างมีจริยธรรมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยควรให้ความใส่ใจและให้ความรู้กับผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการเจาะกลุ่มเป้าหมายในสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในเรื่องจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม
  3. ต้นทุนการขนส่งและช่องทางการจัดจำหน่ายของสินค้าไทยค่อนข้างจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด อาจเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันและการขยายเครือข่ายทางการตลาดในสหรัฐฯ

โอกาส:

  1. การเติบโตของอุปสงค์ของการรับประทานอาหารจากพืชในตลาดสหรัฐฯ น่าจะสร้างโอกาสที่สำคัญให้กับนมมะพร้าวพร้อมดื่มที่จะเข้ามาเป็นสินค้าทางเลือกทดแทนนม
  2. คุณประโยชน์ของนมมะพร้าวและกะทิสามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
  3. การแนะนำผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยน่าจะช่วยในการขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น

อุปสรรค:

  1. ผลิตภัณฑ์ทดแทนจากพืชชนิดอื่นๆ ในตลาด อาจคุกคามส่วนแบ่งการตลาดของนมมะพร้าว
  2. ความชอบของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไทยต้องตื่นตัวและปรับตัวให้เข้ากับความต้องการในตลาดอยู่เสมอ

 

แหล่งที่มาของข้อมูล:www.futuremarketinsights.com/https://straitsresearch.com/

www.globenewswire.com/www.webmd.com/www.cdc.gov/https://vegconomist.com/www.fda.gov/www.ibsworld.com และ สคต. นิวยอร์ก

 

 

thThai