ประเทศจีนมีมหาเศรษฐีวัย 40 ปีที่เป็น Low Profile (ไม่ทำตัวเด่น) จำนวน 4 คน ได้แก่ นายจาง ยีหมิง (อายุ 41 ปี) นายหวง เจิง (อายุ 44 ปี) นายไช่ ห้าวหยู่ (อายุ 36 ปี) และนายซู่ หย่างเทียน (อายุ 40 ปี) ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ก่อตั้ง ByteDance Pinduoduo miHoYo และ SHEIN ตามลำดับ โดยนายซู่ หย่างเทียนนับเป็นผู้ก่อตั้งที่ลึกลับที่สุด และมีข้อมูลประวัติและรูปถ่ายของเขาทางออนไลน์ค่อนข้างน้อย ตามข้อมูลของ Baidu พบว่า นายซู่ หย่างเทียนเกิดที่เมืองจือปั๋ว มณฑลซานตง สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชิงเต่าในปี 2550 ซึ่งเขาเป็นคนขยันหมั่นเพียรและทำงานหนักมาก
ในช่วงแรก นายซู่ หย่างเทียนเคยทำธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายชุดแต่งงาน แว่นตา ฯลฯ หลังจากการลองผิดลองถูกเป็นเวลา 2 ปีแล้ว เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจไปยังวงการค้าปลีกแฟชั่น และได้ก่อตั้งบริษัท SHEIN ในนครหนานจิงในปี 2555 ซึ่งชื่อบริษัทนำมาจากการออกเสียงคำว่า “She in” มีความหมายที่เน้นธุรกิจแฟชั่นผู้หญิง หลังจากนั้น นายซู่ หย่างเทียนได้ย้ายสำนักงานจากนครหนานจิงไปยังนครกวางโจวในปี 2566 ทั้งนี้ SHEIN ได้มีการพัฒนาจากบริษัทการค้าต่างประเทศรายเล็กที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และได้ขยายตัวเป็นแพลตฟอร์มช้อปปิ้งรายใหญ่ชั้นนำของโลกในเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น ด้วยการพึ่งพา ข้อได้เปรียบที่สำคัญ คือ นำเสนอสินค้าใหม่อย่างรวดเร็วและในราคาที่ต่ำ ซึ่งถือว่าได้คว้าโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากการแสวงหาความคุ้มค่าของผู้บริโภคทั่วโลก
โรงงานผู้จัดหาของ SHEIN
(แหล่งที่มา : https://tech.caijing.com.cn/20240402/5001604.shtml)
ตามข้อมูลจาก Zhongjin Research ระบุว่า SHEIN ใช้เวลาเพียง 7-15 วันในการออกแบบและเปิดตัวสินค้าใหม่ โดยมีการเสนอสินค้าใหม่มากกว่า 1 ล้านรายการทุกปี ในขณะที่ ZARA เปิดตัวสินค้าใหม่เพียงประมาณ 12,000 รายการในแต่ละปี ซึ่งหมายความว่า อัตราการเสนอสินค้าใหม่ของ SHEIN นั้นสูงกว่า ZARA ประมาณร้อยเท่า ในแง่ด้านราคาจำหน่าย SHEIN มีการจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่า ZARA มาก ส่วนด้านคุณภาพสินค้าของ 2 แบรนด์นี้ เคยมี KOC โพสต์วิดีโอบน TikTok เปรียบเทียบเสื้อผ้าชุดเดียวกันที่ซื้อจาก SHEIN และ ZARA โดยมียอดวิวมากกว่า 10 ล้านครั้ง ในวิดีโอนี้ เสื้อผ้าที่ซื้อจาก 2 แบรนด์นี้มีการออกแบบและคุณภาพของเนื้อผ้าใกล้เคียงกันมาก แต่ราคาของ ZARA อยู่ที่ 79 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ SHEIN ราคาเพียง 15 เหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ SHEIN มีความสามารถในการเปิดตัวสินค้าอย่างรวดเร็ว ก็เกิดจากความแตกต่างกันของห่วงโซ่อุปทานของ SHEIN ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแบบดั้งเดิม กระบวนการสั่งซื้อโดยทั่วไป คือ จะต้องมีการสั่งซื้อตามปริมาณก่อนแล้วจึงสามารถผลิตสินค้าได้ โดยปกติแล้ว ปริมาณการสั่งซื้อขั้นต่ำนั้นค่อนข้างสูง แต่ SHEIN ใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างออกไป โดยมีปริมาณการสั่งซื้อขั้นต่ำที่ให้โรงงานเพียง 100-200 ชิ้นก่อนเท่านั้น จากนั้นจะมีการติดตามยอดขายเสื้อผ้าแต่ละชิ้นแบบเรียลไทม์ในบนแพลตฟอร์ม เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าแต่ละชิ้นเป็นที่นิยมจากผู้บริโภคหรือไม่ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับปริมาณการผลิตขั้นสุดท้าย ทั้งนี้ กระบวนการนี้สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดและลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งลดราคาจำหน่ายในตลาด SHEIN ร่วมมือกับโรงงานมากกว่า 3,000 แห่งในจีน โดยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ นครกวางโจว เมืองฝอซาน มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และนครเซี่ยงไฮ้
SHEIN ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ จากข้อมูลของ Coresight ระบุว่า ในปี 2565 SHEIN มีสัดส่วนเกือบหนึ่งในห้าของตลาดฟาสต์แฟชั่นทั่วโลก ซึ่งแซงหน้าแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่อย่าง H&M (น้อยกว่า 5%) และ ZARA (ประมาณ 15%) ทั้งนี้ SHEIN ยังไม่ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และยังไม่ได้เปิดเผยรายได้ต่อสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่แน่ชัดคือ รายได้ของบริษัทมีการเติบโต อย่างรวดเร็ว ในปี 2563 SHEIN เคยเปิดเผยยอดจำหน่ายของในปี 2562 เกินกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เคยระบุด้วยว่า บริษัทได้ประสบความสำเร็จด้านผลกำไรสูงสุดเท่าที่เคยมีมา
ปัจจุบัน SHEIN/TEMU/Tiktok Shop และ AliExpress ได้รับการยกย่องว่าเป็นมังกรสี่ตัวแห่ง อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน หากพิจารณาด้านมูลค่า GMV (Gross Merchandise Volume) SHEIN จะอยู่ในอันดับแรก ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา SHEIN ไม่เพียงแต่รักษาการเติบโตของรายได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ในปี 2566 SHEIN ได้เข้าซื้อกิจการของแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอเมริกา Forever 21 และแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอังกฤษ Missguided ในเวลาเดียวกัน SHEIN ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2566 SHEIN ได้รับเงินทุนทั้งหมด 9 รอบ ซึ่งผู้ที่ลงทุนรวมถึงสถาบันการลงทุนที่มีชื่อเสียง เช่น IDG Capital/Hongshan China และ Tiger Global Management ในปี 2567 SHEIN กำลังให้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ หากเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และประสบความสำเร็จ สถาบันที่ได้ร่วมลงทุนจะได้รับผลตอบแทนมหาศาล
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
SHEIN ซึ่งมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วนั้น จริงๆ แล้วยังเผชิญอุปสรรคหลายด้านในปี 2566 ที่ผ่านมา SHEIN ให้ความสำคัญในด้านการอัปเดตสินค้ารายการใหม่ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมต้องการต้นทุนต่ำด้วย แต่ความเร็วของการอัปเดตนั้น ยังทำให้เกิดข้อพิพาทด้านการละเมิดอีกด้วย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา SHEIN มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทด้านการละเมิดหลายครั้งกับแบรนด์แฟชั่นและศิลปินอิสระ โดยในปลายเดือนมกราคม 2567 SHEIN ถูกฟ้องในข้อหาละเมิดโดย Fast Retailing Co., Ltd. (ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ Uniqlo) และแบรนด์แฟชั่นของอเมริกา For Love & Lemons นอกจากนี้ แบรนด์ Levi’s และ Ralph Lauren ยังได้ขึ้นศาลกับ SHEIN ในข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้าอีกด้วย
ในเวลาเดียวกัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ TEMU ที่จำน่ายสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงเสื้อผ้า อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องสำอาง และอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้เครือของ Pinduoduo ที่กำลังกลายเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งของ SHEIN เนื่องจาก SHEIN มีความเข้มงวดมากขึ้นใน การควบคุมคุณภาพสินค้า ขณะที่ยังมีกฎเกณฑ์ปรับเงินที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กำไรของโรงงานลดลง ซึ่งทำให้บางโรงงานต้องหันไปร่วมมือกับ TEMU ทั้งนี้ TEMU ก็เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีนเหมือนกัน ผู้จัดหาของ TEMU ก็มาจากโรงงานขนาดเล็กถึงขนาดกลางในประเทศ พร้อมทั้งยังตั้งราคาจำหน่ายที่ต่ำเช่นเดียวกัน ซึ่งได้สร้างแรงกดดันเป็นอย่างมากให้กับบริษัทอีคอมเมิร์ซ เช่น Amazon และ Wal-Mart จากข้อมูลของ Earnest Analytics พบว่า TEMU ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในอเมริกาเหนือเป็นเวลาไม่ถึง 1 ปี ก็เกิดยอดขายแซงหน้า SHEIN ไปแล้วในตลาดสหรัฐอเมริกา หากพิจารณาด้านจำนวนผู้ใช้บริการจากข้อมูลของ Sensor Tower ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 จำนวนผู้ใช้บริการของ SHEIN ต่อเดือนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่จำนวนผู้ใช้บริการของ TEMU จะมีอัตราเติบโตเร็วกว่า หลังจากเปิดตัวไม่ถึง 1 ปี จำนวนผู้ใช้ทั้งหมดของ TEMU ก็แซงหน้า SHEIN และกลายเป็นหนึ่งในแอพช้อปปิ้งที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา เพื่อเผชิญกับแรงกดดันและความท้าทายจาก TEMU ทาง SHEIN จึงตัดสินใจขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องนอกเหนือจากการขายเสื้อผ้าสตรี โดยขยายสายธุรกิจไปยังเครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน สินค้าสัตว์เลี้ยง และสาขาอื่นๆ ทั้งนี้ สิ่งที่แน่นอนคือ การแข่งขันระหว่างอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจะดุเดือด มากขึ้นในปี 2567
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
แหล่งข้อมูล : https://www.163.com/dy/article/ISR4QSAR051991GN.html#