รัฐบาลเช็กให้เงินอุดหนุนในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า

การที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนสำหรับธุรกิจและผู้ประกอบการจะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในสาธารณรัฐเช็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้บริโภคย่อมคำนึงถึงต้นทุนและความคุ้มค่ากับเงินเป็นอันดับแรกในการเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในบริบทนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ หลายประเทศที่มีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระดับสูงต้องอาศัยโครงการอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยสาธารณรัฐเช็กตั้งเป้าที่จะนำการสนับสนุนทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจต่างๆ เพื่อทำให้ “การใช้รถไฟฟ้า” เป็นข้อเสนอที่น่าดึงดูดยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันส่วนแบ่งการขายรถยนต์ไฟฟ้าในสาธารณรัฐเช็กต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปมาก

 

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้นำเสนอโครงการเงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการและธุรกิจที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้สาธารณรัฐเช็กเปลี่ยนรถยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในส่วนของโครงการริเริ่ม “Electric Mobility Warranty” มีการจัดสรรเงินจำนวน 1.65 พันล้านเช็กคราวน์ เพื่อสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ซื้อแต่ละรายจะได้รับเงินอุดหนุนประมาณ 200,000 – 300,000 เช็กคราวน์ สำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคัน ทั้งนี้ รัฐบาลมีกำหนดเปิดให้ลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 โดยคุณสมบัติของรถยนต์ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุน จะต้องมีมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านเช็กคราวน์ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะต้องเป็นรถใหม่หรือมีอายุน้อยกว่า 6 เดือนนับจากการลงทะเบียน และขับขี่ไปแล้วน้อยกว่า 6,000 กิโลเมตร ต้องเป็นเจ้าของยานพาหนะเป็นเวลาอย่างน้อย 24 เดือนหลังจากได้รับเงินอุดหนุน ผู้สมัครเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือองค์กรขนาดเล็ก กลาง และใหญ่จากทุกแห่งในเช็ก

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเงินอุดหนุนอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีมูลค่า 300 ล้านเช็กคราวน์ มีไว้เพื่อการก่อสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จที่เพียงพอมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำยานพาหนะไฟฟ้ามาใช้อย่างแพร่หลาย การมีส่วนร่วมเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทและบุคคลทั่วไปก้าวเข้าสู่ยุคไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ โครงการฯจะให้การอุดหนุนแก่ธุรกิจสถานีชาร์จ สูงสุดถึง 50,000 เช็กคราวน์ สำหรับสถานีชาร์จ AC หรือสูงถึง 150,000 เช็กคราวน์ สำหรับสถานีชาร์จ DC ที่สูงกว่า 40 kW

 

รถยนต์ Mercedes-Benz เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศ โดยมีส่วนแบ่งการขายไฟฟ้ามากกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยของประเทศ รถยนต์ไฟฟ้าของ Mercedes-Benz มีตั้งแต่รถยนต์หรูระดับไฮเอนด์ ไปจนถึงรถยนต์หรูขนาดกะทัดรัดที่มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุน โดยรถสามรุ่นจาก Mercedes-Benz มีสิทธิ์ได้รับอุดหนุน ได้แก่ EQA, EQB และ EQE Sedan ซึ่ง Mercedes-Benz ได้ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการอุดหนุนจึงได้ปรับปรุง โมเดล EQA และ EQB ให้ทุกรุ่นมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเช็ก รวมถึงรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อและรุ่น EQB 7 ที่นั่ง

 

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.

สำนักงานพลังงานสากล หรือ International Energy Agency (EIA) ประมาณการณ์อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าผ่าน Global EV Outlook 2021 โดยเชื่อว่าในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกรวมกัน 145 ล้านคัน ขณะที่ BloombergNEF คาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่ในปี 2030 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าถึงร้อยละ 28 และสูงถึงร้อยละ 58 ในปี 2040 โดยปัจจัยที่ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ เหตุผลด้านเศรษฐกิจและที่มาของแหล่งพลังงาน โดยปัจจุบันยุโรปสามารถผลิตไฟฟ้าได้จากพลังงานทดแทนมากกว่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานฟอสซิลแล้ว ดังนั้น การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าและลดการใช้รถยนต์สันดาปภายใน เพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันที่ต้องนำเข้าจากนอกภูมิภาค จึงเป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า ประกอบกับเหตุผลทางด้านความคุ้มค่าในการใช้งาน แม้การลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในราคาสูงกว่า แต่มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่า ทำให้การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถบัส รถขนส่งสินค้า แท็กซี่ และบริการรถเช่าระยะสั้นที่มีการใช้งานสูง มีแนวโน้มได้ประโยชน์หรือคืนทุนจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วกว่า เป็นต้น

 

กลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นที่อยู่นอกอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผ่นวงจรพิมพ์ เซนเซอร์ เซมิคอนดัคเตอร์ ระบบประจุไฟฟ้า เป็นต้น อุตสาหกรรมพลังงาน ที่ลงทุนในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ สถานีประจุไฟฟ้า และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เนื่องจากมีต้นทุนที่ลดลงจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ อาจส่งผลบวกระยะสั้นต่อผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถบัส รถแท็กซี่ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมในการปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และศึกษาข้อมูลทางการค้าที่มีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที

thThai