พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของชาวอเมริกัน
การสำรวจตลาดของสถาบันวิจัย Pew Research Center พบว่ามีผู้ดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 62 ของชาวอเมริกันทั้งหมดที่มีอายุมากกว่า 21 ปี ในขณะที่ร้อยละ 38 ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย โดยกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันที่มีแนวโน้มที่จะดื่มแอลกอฮอล์สูง คือ กลุ่มลูกค้าอายุ 35 ปีถึง 54 ปีที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย มีรายได้ในครัวเรือนมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาน้อยกว่าอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
การสำรวจความถี่ในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่าร้อยละ 69 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันเพิ่งดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 1 สัปดาห์ก่อนทำแบบสอบถาม โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 32 เพิ่งดื่มแอลกอฮอล์ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาและร้อยละ 37 เพิ่งดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงระยะเวลา 2 – 7 วันที่ผ่านมา และร้อยละ 31 ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1 สัปดาห์แล้ว
ข้อมูลจากสถาบันแห่งชาติสหรัฐฯ ด้านปัญหาการใช้แอลกอฮอล์และโรคที่เกิดจากพิษสุราเรื้อรัง (National Institute on Alcohol Abuse and Alcoholism: NIAAA) พบว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันอายุมากกว่า 21 ปีมีแนวโน้มในการดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของชาวอเมริกันปี 2564 อยู่ที่ 2.83 แกลลอนต่อคนต่อปีหรือเท่ากับ 603 หน่วยดื่มมาตรฐาน โดย 1 หน่วยดื่มมาตรฐานเท่ากับ 0.6 ออนซ์
ในภาพรวมชาวอเมริกันในพื้นที่ตะวันตกของสหรัฐฯ มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงที่สุด ในขณะที่ชาวอเมริกันในตอนใต้ของสหรัฐฯ มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำที่สุด สำหรับในระดับรัฐพบว่าในชาวอเมริกันในรัฐนิวแฮมเชียร์และรัฐเดลาแวร์มีการดื่มแอลกอฮอล์สูงสุด ในขณะที่ชาวอเมริกันในรัฐยูทาห์ดื่มแอลกอฮอล์ต่ำที่สุด อย่างไรก็ดี ปัจจัยอื่นๆ อาจส่งผลต่อปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ภาษีสุราที่แตกต่างกันมากในรัฐใกล้เคียง ทำให้รัฐข้างเคียงที่มีภาษีสุราต่ำกว่าจะมียอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า รวมทั้งความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว เช่น รัฐเนวาดา รัฐฟลอริดา และกรุงวอชิงตันดี.ซี เป็นต้น
ยอดขายของเครื่องดื่มแอลกอฮล์ในสหรัฐฯ
รายงานของสมาคมผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สหรัฐฯ (Distilled Spirits Council of the United States) พบว่าสัดส่วนตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ ปี 2566 เป็นของสุราที่ได้จากการกลั่น (Spirits) ร้อยละ 42.2 ของยอดขายของแอลกอฮอล์ทั้งหมด และยอดขายของเบียร์อยู่ที่ร้อยละ 41.8 และไวน์ร้อยละ 16.1 โดยยอดขายของสุรากลั่นแซงหน้ายอดขายของเบียร์และไวน์ 2 ปีติดต่อกันในปี 2565 และปี 2566 ที่แม้ว่ายอดขายของสุรากลั่นจะมีการเติบโตเพียงเล็กน้อย โดยยอดขายของสุรากลั่นในสหรัฐฯ ปี 2566 อยู่ที่ 37,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มเติมจากร้อยละ 0.2 จากปี 2565
ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค นาย Chris Swonger ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาคมฯ กล่าวว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ ยังคงรักษาความแข็งแกร่งเอาไว้ได้แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลาดสุรากลั่นแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมที่สามารถผ่านพ้นช่วงโควิด-19 และยังรักษาส่วนแบ่งการตลาดในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ ได้ ซึ่งในช่วงโควิด-19 ยอดขายของสุรากลั่นเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
5 อันดับสุรากลั่นยอดนิยมในสหรัฐฯ ได้แก่ วอดก้า เตกีล่าและมาซคาล อเมริกันวิสกี้ เหล้าหวาน (Cordials) และค็อกเทล โดยวอดก้ายังเป็นสุรากลั่นที่ขายดีที่สุดในปี 2566 นาย Swonger มองว่าการนำเสนอสุรากลั่นคุณภาพดีซึ่งมีราคาสูงให้แก่ผู้บริโภคเป็นกลยุทธ์ที่ดีถึงแม้ว่ายอดขายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 จะลดลง โดยในช่วงโควิด-19 ผู้บริโภคมองหาสุรากลั่นพรีเมียมกันมากขึ้น ซึ่งยอดขายของสุรากลั่นพรีเมียมเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 และชะลอตัวลงในเวลาต่อมา
แม้ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมสุรากลั่นจะอ่อนแอลงเล็กน้อย แต่เครื่องดื่มค็อกเทลได้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก โดยยอดขายค็อกเทลปี 2566 อยู่ที่ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตร้อยละ 26.8 จากปี 2565 นาย Marten Lodewijks ผู้อำนวยการด้านคำปรึกษาของบริษัทวิจัยการตลาด IWSR Drinks Market Analysis กล่าวว่า ความต้องการของเครื่องดื่มน้ำโซดาผสมแอลกอฮอล์และน้ำผลไม้หรือ Hard Seltzer Craze เพิ่มขึ้นมากในช่วงปี 2560 – 2564 เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่มีบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบกระป๋องทำให้สามารถพกพาไปดื่มนอกสถานที่ได้ และมีแคลลอรี่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทำให้ผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพนิยมเครื่องดื่มดังกล่าว
บริษัทเครื่องดื่มหลายรายเริ่มเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยบริษัทโคคาโคล่าได้เปิดตัวค็อกเทลพร้อมดื่มร่วมกับสุรายี่ห้อ Jack Daniel นอกจากนี้ ในเรื่องของปัจจัยระหว่างประเทศพบว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงในการขยายการระงับการจัดเก็บภาษีสุราของสหภาพยุโรปไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 ซึ่งจะทำให้การส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สหรัฐฯ ไปยังยุโรปยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว
การนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสหรัฐฯ
ข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่ามูลค่าการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสหรัฐฯ จากทั่วโลกปี 2566 อยู่ที่ 24,684 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือลดลงร้อยละ 7.47 จากปี 2565 โดยสุราเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลักที่สหรัฐฯ นำเข้าจากทั่วโลกสูงสุด ส่วนมูลค่าการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสหรัฐฯ จากประเทศไทยปี 2566 อยู่ที่ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหมดเป็นการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
การติดตามพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของชาวอเมริกัน และภาพรวมอุตสาหกรรมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยในการวางแผนการดำเนินงานและแผนกลยุทธ์ธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของชาวอเมริกันได้อย่างตรงจุด ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยจึงควรติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเพื่อให้ทันตามการเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลอ้างอิง: Pewresearch, CNBC, Global Trade Atlas