ภาวะขาดดุลการค้าเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวถึง 18.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยรับแรงหนุนจากภาคการส่งออก-นำเข้า ที่ขยายตัว 11.9% และ 12.2% ตามลำดับ

เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ภาวะการขาดดุลการค้าสินค้าอินเดีย มีมูลค่า 18.71 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยนักวิชาการคาดการณ์ว่าภาวะการขาดดุลการค้าจะอยู่ที่ระดับ 18.30 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีมูลค่าการส่งออก 41.40 พันล้าน เหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้า 60.11 พันล้านเหรียญสหรัฐ (Ministry of Commerce and Industry, 2024) ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมาการส่งออกการค้าสินค้าคิดเป็น 36.92 พันล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่า 54.41 ในขณะที่ภาคการส่งออกบริการมีมูลค่า 32.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้ามีมูลค่า 15.39 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยหากเปรียบเทียบสถานการณ์ในเดือนมกราคม 67 การส่งออกสินค้าบริการมีมูลค่า 32.80 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการนำเข้า 16.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เดือนกุมภาพันธ์ 2567 การส่งออกสินค้าของอินเดียมีมูลค่า 41.40 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตขึ้น 11.9% นับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 11 เดือนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ทำสถิติไว้ คือ เดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่า 41.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการนำเข้าสินค้าอินเดียเติบโตสูงสุดในรอบ 4 เดือน

ข้อมูลเพิ่มเติม
1. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบปีต่อปี เป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันภาคการส่งออกสินค้าอินเดียในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ สินค้าด้านวิศวกรรม (15.9%) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (54.81%) สินค้า เคมีภัณฑ์ที่มีสารประกอบอินทรีย์และอนินทรีย์ (33.04%) สินค้ายาและเวชภัณฑ์ (22.24%)
2. เดือนกุมภาพันธ์ 2567 การส่งออกสินค้าจำนวน 22 ภาคส่วนจากทั้งหมด 30 ภาคส่วน ส่งสัญญาณเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการขยายตัวแบบปีต่อปี ภาคการส่งออกถือว่าขยายตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 30.1% เมื่อเปรียบเทียบจากเดือนมิถุนายน 2565 ในขณะที่ ภาคการนำเข้าเติบโตที่ 12.2% ขยับสู่ระดับสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบจากเดือนกันยายน 2565 ทั้งนี้ ระหว่างปี 2565-2566 การส่งออกสินค้า สร้างมูลค่าเฉลี่ย 451.07 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกภาคบริการ 325.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี การส่งออกของอินเดียโดยรวม (สินค้าและบริการ) มีมูลค่า 776.40 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัว 14.8 สูงกว่าช่วงปี 2564 – 2565
3. ระหว่างเดือนเมษายน 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 ภาวะการขาดดุลการค้าของอินเดียมีมูลค่า 225 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดิมที่ 245.94 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2565-2566 มูลค่าดังกล่าวคิดเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่หดตัวลง 8.43% สำหรับการส่งออกภาคบริการ ขยายตัว 17.34% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และการนำเข้าขยายตัวเล็กน้อยที่ 2.81% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
4. การส่งออกภาคบริการ คาดว่าจะสร้างมูลค่าได้ถึง 314.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 294.89 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน(เดือนเมษายน 2566- กุมภาพันธ์ 2567) ในขณะที่ภาคการนำเข้าบริการ ในช่วงปีงบประมาณ 2024 คาดว่า จะสร้างรายได้มูลค่า 161.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจาก 165.09 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2024 โดยภาวะเกินดุลการค้าของ
ภาคบริการ มีมูลค่า 152.96 พันล้าน เพิ่มขึ้นจากเดิม 129.80 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาวะการขาดดุลการค้า ทั้งสินค้าและบริการ คาดว่า มีมูลค่า 72.24 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าเดิมที่ 116.13 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณ 2023 คิดเป็นการหดตัว 37.80%
ข้อคิดเห็น

1. ภาพรวมมูลค่าการค้าแบบสะสม ระหว่างเดือนเมษายน 2566 ถึงกุมภาพันธ์ 2567 ชี้ให้เห็นว่าภาคการส่งออกสินค้าหดตัวลง 3.45% หรือ 395 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ภาคการนำเข้าลดลง 5.3% หรือ 620.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ นำไปสู่การเกิดภาวะขาดดุลการค้าที่มูลค่า 225.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เดือนกุมภาพันธ์ 67 การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผลิตจากปิโตรเลียม และสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (สินค้าหลักของการส่งออก) เติบโตที่ระดับ 17.2% ในขณะที่มีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวขยายตัว 5.2% นอกจากนี้ การเติบโตของภาคการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ถูกขับเคลื่อนด้วยสินค้า อาทิ สินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (54.8%) เนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม สัตว์ปีก (37.8%) เคมีภัณฑ์ (33%) ยาและเวชภัณฑ์ (22.2%) และกลุ่มสินค้าสินค้าด้านวิศวกรรม (15.9%) ในขณะที่ ภาวะการนำเข้าขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตตัวเลข 2 หลัก ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยราคาทองคำ (133.8%) และเงินที่สูงขึ้น (132.34%) คิดเป็นมูลค่า 6.15 และ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

2. ในมุมมองภาวะขาดดุลทางการค้าและการขาดดุลบัญชีเงินสะพัด สื่อถึงสัญญาณบวกว่า ภาวะเศรษฐกิจมีการ พัฒนาไปในทางที่ดี อย่างไรก็ตาม การนำเข้าทองและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีการขยายตัว ในขณะที่ สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กำลังหดตัวลง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเตือนสำหรับการค้าของกลุ่มสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2025 คาดว่า เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นฟูสอดรับกับภาวะการค้าระหว่างประเทศที่กำลังฟื้นตัว ส่งผลให้ภาคการส่งออกอินเดียได้รับแรงผลักดันจากเงื่อนไขทางด้านการค้าดังกล่าว (ธนาคาร Baroda,2024) อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจของอินเดียที่ให้ความสำคัญกับด้านการส่งออกในกลุ่มสินค้าภาคเมกะเทรนด์ อาทิ ภาคการผลิต การควบรวมกิจการ (M&A) และกิจการเงินร่วมลงทุน (VC) ซึ่งการวางระบบธุรกิจดังกล่าวอินเดียคาดหวังที่จะบรรลุเป้าส่งออก 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปีงบประมาณ 2028 ผู้ประกอบไทยอาจพิจารณาการดำเนินธุรกิจดังกล่าวกับอินเดีย ในสาขาธุรกิจที่กำลังมีแนวโน้มมุ่งไปในทิศทางบวก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยาและเวชภัณฑ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรอุตสาหกรรม รวมถึงสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ที่มา:
1. https://www.financialexpress.com/policy/economy-indias-february-trade-deficit-at-18-71-billion-in-line-with-forecast-3426785/
2. https://www.financialexpress.com/policy/economy-boosting-indias-exports-potential-key-to-a-narrower-trade-deficit-3422164/
3. https://www.livemint.com/economy/indias-trade-deficit-increases-to-18-71-billion-in-february-imports-rise-12-yoy-11710498792875.html

 

thThai