เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP19 เรื่องโอกาสตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ

 

ปัจจุบันรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ EVs (Electronic Vehicles) ได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมเลือกใช้มากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงชาวอเมริกัน เนื่องจากผู้บริโภคต่างเชื่อว่าการเลือกใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและจะช่วยสนับสนุนความยั่งยืน (Sustainability) มากกว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide CO2) ออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยด้านสภาวะทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวจากปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับปัจจัยด้านราคายนต์ไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์พลังงานน้ำมันจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมทำให้ชะลอตัวลงไปบ้างในปีที่ผ่านมา แต่โดยรวมยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ก็ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 918,500 คันในปี 2565 เป็น 1,189,051 คันในปี 2566 และถือเป็นปีที่มียอดจำหน่ายมากกว่าหนึ่งล้านคันเป็นปีแรกอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ข้อมูลรายงานอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าโดยบริษัท J.D. Power ผู้ให้บริการข้อมูลตลาดรถยนต์สหรัฐฯ ระบุว่า ยอดจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะยังมีแนวโน้มขยายตัวในปีนี้ ทำให้มีสัดส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าต่อรถยนต์ทั้งหมดในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.6 ในปีที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 12.4 ในปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมันจะแทบจะไม่ความแตกต่างกันแต่อย่างใด แต่หากพิจารณาถึงปัจจัยด้านน้ำหนักแล้วมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะมีน้ำหนักรวมเฉลี่ยมากกว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมันสูงมาก เช่น รถยนต์ไฟฟ้า GMC รุ่น Hummer ซึ่งมีน้ำหนักรวมมากกว่า 9,000 ปอนด์ ในขณะที่รถยนต์ GMC รุ่น Sierra ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกันมีน้ำหนักรวมเพียงประมาณ 6,000 ปอน์ดเท่านั้น โดยปัจจัยหลักที่ทำให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีน้ำหนักมากกว่ารถยนต์พลังงานน้ำมันคือน้ำหนักของแบตเตอรีเก็บพลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3,400 – 4,300 ปอนด์

 

ดังนั้น ด้วยปัจจัยด้านน้ำหนักที่มากจึงทำให้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจำเป็นจะต้องใช้ยางรถยนต์ที่มีสมรรถนะทนทานสูง สามารถรองรับน้ำหนักของตัวรถได้มากขึ้นแตกต่างจากรถยนต์พลังงานน้ำมัน นอกจากนี้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังต้องเปลี่ยนยางบ่อยกว่ารถยนต์พลังงานน้ำมันด้วยเนื่องจากปัจจัยด้านน้ำหนักของรถยนต์เองส่งผลทำให้ยางยนต์พลังงานไฟฟ้าสึกหร่อไวกว่ายางรถยนต์พลังงานน้ำมันราวร้อยละ 20 โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าควรเปลี่ยนยางใหม่ทุกๆ 30,000 – 40,000 ไมล์ เปรียบเทียบกับรถยนต์พลังงานน้ำมันควรเปลี่ยนยางใหม่ทุกๆ 50,000 ไมล์

 

ด้วยปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ราคายางสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายในตลาดมีราคาเฉลี่ยสูงกว่ายางรถยนต์พลังงานน้ำมันถึงราวร้อยละ 50 อีกทั้ง ยางรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังมีสัดส่วนกำไร หรือ Margin ที่ดีกว่ายางรถยนต์พลังงานน้ำมันเนื่องจากภาวะการแข่งขันสูงในตลาดไม่สูงนัก นอกจากนี้ แนวโน้มการขยายตัวของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในตลาดสหรัฐฯ เอง ยังน่าจะช่วยส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีความต้องการใช้ยางรถยนต์สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ในปี 2566 อุตสาหกรรมยางยานพาหนะสหรัฐฯ มีมูลค่าตลาดทั้งสิ้นประมาณ 5.70 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ชะลอตัวลงร้อยละ 7.13 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มยางรถยนต์สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล (Passenger Vehicle) ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดในตลาดคิดเป็นร้อยละ 65.92 ของมูลค่ายางยานพาหนะทั้งหมดในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเพียงร้อยละ 1.05 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเท่านั้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าตลาดอุตสาหกรรมยางรถยนต์สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือขยายตัวร้อยละ 1 – 2 ในปีนี้ด้วย

 

ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศ แต่ก็ยังคงมีความต้องการนำเข้ายางรถยนต์จากประเทศผู้ผลิตในต่างประเทศซึ่งมีความได้เปรียบด้านการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบการการผลิตและต้นทุนการผลิตมากพอสมควร

 

โดยในปี 2566 สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้ายางรถยนต์ทั้งสิ้น 1.83 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.88 โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะไปสหรัฐฯ ทั้งสิ้น 3,290.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงร้อยละ 7.21 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากผลกระทบด้านอุตสาหกรรมเองประกอบกับต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในตลาดสหรัฐฯ รองลงมา ได้แก่ เม็กซิโก (ร้อยละ 11.44) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 9.54) แคนาดา (ร้อยละ 9.21) และเวียดนาม (ร้อยละ 6.37) ตามลำดับ

 

แนวโน้มการขยายตัวของความต้องการยางรถยนต์พลังงานไฟฟ้าน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่กลุ่มสินค้ายางรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่มีสัดส่วนกำไรสูงกว่ากลุ่มสินค้ายางรถยนต์พลังงานน้ำมัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควาให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุทดแทน การเพิ่มสมรรถนะ การยกระดับมาตรฐานการผลิต และการสนับสนุนความยั่งยืน เพื่อตอบสนองแนวโน้มความต้องการของตลาด

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านอัตราภาษีนำเข้าและการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้ายางยานพาหนะบางรายการ รวมถึงความร่วมมือทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือทั้งเม็กซิโกและแคนาดา ยังมีส่วนส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าจากไทย ดังนั้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถหาโอกาสในการเจรจาและสร้างความร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรมได้ก็น่าจะมีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพการส่งออกสินค้ายางยานพาหนะไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/HS_AxCBKqKw

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

thThai