แบงค์ชาติแคนาดาออกเตือนระดับผลิตภาพของประเทศเข้าขั้นวิกฤต

ธนาคารกลางแห่งประเทศแคนาดาออกมาเผยระดับผลิตภาพ (Productivity) ของประเทศอยู่ในระดับต่ำน่ากังวลเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศ ภายหลังที่สำนักงานสถิติแคนาดาแสดงข้อมูลผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ปีก่อนหน้าลดลงต่อเนื่อง 6 ไตรมาสติดต่อกัน   ในการนี้ ธนาคารชาติจึงขอให้ภาคเอกชนในประเทศเร่งขยายการลงทุนโดยเฉพาะด้านเครื่องจักรสำหรับการผลิต เทคโนโลยี และการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจแคนาดาเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวนหรือสภาวะเงินเฟ้อ

 

แบงค์ชาติแคนาดาออกเตือนระดับผลิตภาพของประเทศเข้าขั้นวิกฤต

 

ผลิตภาพแรงงาน คือ ผลผลิตต่อหน่วยของแรงงาน โดยมีหน่วยนับแรงงานอาจเป็นจำนวนคน หรือชั่วโมงการทำงานก็ได้ โดยถือเป็นตัวกำหนดศักยภาพของเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ ซึ่งรัฐบาลแต่ละชาติจะพยายามหาหนทางในการทางเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพราะถือเป็นการยกระดับรายได้และมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงานในประเทศให้ดีขึ้น

 

ซึ่งคุณ Carolyn Rogers รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศแคนาดา กล่าวในงานพบปะนักธุรกิจรัฐโนวาสโกเชียถึงความจำเป็นของผลิตภาพ (Productivity) ว่า การเพิ่มผลิตภาพถือเป็นการสร้างองค์กรสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน และลดความเสี่ยงธุรกิจจากภาวะเงินเฟ้อ และความผันผวนอัตราดอกเบี้ยที่กำลังพุ่งสูง โดยขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศแตะระดับสูงในรอบ 22 ปี และยังไม่มีท่าทีจะปรับลดลงได้อีก โดยผู้เกี่ยวข้องในประเทศต้องหันมาให้ความสำคัญด้านการฝึกทักษะแรงงานที่ต้องการในประเทศให้ดีขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีการแข่งขันมากขึ้น

 

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สาเหตุของผลิตภาพที่ต่ำในแคนาดามาจากปัญหาหลัก 3 ประเด็น คือ (1) การลงทุนภาคเอกชนต่ำ (2) ขาดการแข่งขันทางการค้า โดยมีการกระจุกตัวของผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้น (3) ขาดการนำทักษะและความสามารถของผู้อพยพย้ายถิ่นมาใช้งานอย่างเหมาะสม นอกจากนั้น ทางคุณ Carolyn ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แคนาดาขาดการลงทุนด้านเครื่องจักร อุปกรณ์และทรัพย์สินทางปัญญามานานหลายปี ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังโดยเร็ว จะยิ่งส่งผลต่อภาคแรงงานและขาดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นในอนาคต

 

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ในประเทศบางรายมองว่า ตัวเลขผลผลิตที่ลดลงอย่างมากเป็นผลลัพธ์มาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพราะการทำงานแบบทางไกล (Remote work) เป็นสาเหตุที่ทำให้ผลผลิตลดลง แต่ทว่าสถานการณ์โควิดก็ได้คลี่คลายลงมาสักพัก ซึ่งแบงค์ชาติเคยคาดว่าระดับผลิตภาพ (Productivity) จะดีขึ้น กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ จนเกิดความกังวลจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศระยะยาว เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัว และนำไปสู่รายได้ที่ไม่เพียงพอจนส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตชาวแคนาดาในภาพรวมต่อไป

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ ปัญหาเรื่องผลิตภาพของแคนาดาที่อยู่ในระดับต่ำนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นประเด็นใหม่ แต่ขณะนี้กำลังกลายเป็นความกังวลของธนาคารกลางแห่งประเทศแคนาดาและนักเศรษฐศาสตร์ในประเทศ เนื่องจากระดับผลิตภาพมีการปรับลดลงอย่างมากตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยข้อมูลปี 2566 แสดงผลิตภาพแรงงานของแคนาดาอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิด 19 และหากพิจารณาเทียบกับเพื่อนบ้านในสหรัฐฯ ที่มีระดับผลิตภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งโดยไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่ง รวมถึงสร้างข้อเปรียบเทียบค่าแรงให้แตกต่างจากชาวแคนาดาชัดเจนขึ้น

 

แบงค์ชาติแคนาดาออกเตือนระดับผลิตภาพของประเทศเข้าขั้นวิกฤต
กราฟแสดงการขยายตัวของผลิตภาพ  (productivity) ของกลุ่ม G7 โดยแคนาดาอยู่ในลำดับ 5 จากทั้งหมด 7 ประเทศ

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องผลิตภาพเป็นสิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขและพัฒนา โดยแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มผลิตภาพได้ คือ การให้ความสำคัญกับปัญญาประดิษฐ์และนวัตกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงภาครัฐต้องเร่งลดอุปสรรคต่างๆ เพิ่มผลิตภาพในกระบวนการทำงานของรัฐและเอกชน และส่งเสริมการทำงานของตลาดการค้าและตลาดทุนมีผลิตภาพสูงสุด

 

ที่มาของบทความ https://www.reuters.com/markets/bank-canada-sounds-alarm-low-productivity-cites-inflation-risks-2024-03-26/

โดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

thThai