หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีแรงสั่นทะเทือน 7.2 ตามมาตราริกเตอร์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฮัวเหลียน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะไต้หวัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 13 ราย บาดเจ็บ 1,146 ราย และสูญหาย 6 ราย ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปีของไต้หวัน ประมาณการมูลค่าความเสียหายในภาคอุตสาหกรรม 1,100 ล้านบาท มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำนวน 126 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหิน ในขณะที่มูลค่าความเสียหายของผลิตผลทางการเกษตรมีมูลค่า 83.6 ล้านบาท

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่จากเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประมาณการมูลค่าความเสียหายมากถึง 5,830 ล้านบาท เนื่องจากเมืองฮัวเหลียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในภาคตะวันออกของไต้หวัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากหัวใจทางธุรกิจ การเงินและอุตสาหกรรมของไต้หวันจะอยู่ทางซีกตะวันตกของเกาะแทบทั้งสิ้น ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไต้หวันแทบไม่ได้รับผลกระทบ ในส่วนของอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมของไต้หวันที่เป็นที่ต้องการของทั่วโลกแทบไม่ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ดี เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่มีการหยุดเดินเครื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทำให้มีรายงานข่าวว่าอาจส่งผลกระทบทำให้ผลประกอบการโดยรวมของทั้งอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ลดลงประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็ถือเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ในขณะที่ผลประกอบการของห้างสรรพสินค้าในช่วงดังกล่าวกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลเชงเม้ง โดยห้าง Far Eastern ชี้ว่า ผลประกอบการของห้างโดยรวมมีการขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าที่มียอดขายได้รับความนิยมจากผู้บริโภคได้แก่ เครื่องสำอาง สินค้าแบรนด์เนม ของเล่นเด็กและเสื้อผ้าเด็ก ส่วนห้าง Global Mall ก็ชี้ว่า ผลประกอบการในช่วงวันหยุดยาวมีการการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยที่ยอดขายของร้านอาหารเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จึงคาดว่าผลประกอบการในเดือนเมษายนปีนี้จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วด้วย

แม้เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้จะใหญ่ที่สุดในรอบ 25 ปี แต่ทั้งภาครัฐและประชาชนของไต้หวันมีการเตรียมตัวล่วงหน้าทำให้มีความพร้อมในการรับมือ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ได้อนุมัติเงินกู้เร่งด่วนด้วยวงเงินรวมจำนวน 22,000 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยนต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ โดยที่รัฐบาลจะเป็นผู้ค้ำประกันให้ นอกจากนี้ กองทุนเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ของไต้หวันก็ยังมีเงินกู้พิเศษสำหรับผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 550,000 บาทต่อราย ซึ่งรัฐบาลจะอุดหนุนค่าดอกเบี้ยบางส่วนให้ตามความเหมาะสมด้วย

ที่มา: Economic Daily News / Yahoo! News / ETtoday (April 4-10, 2567)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของชาวไต้หวันส่วนใหญ่ ในทางกลับกัน การบริโภคกลับเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล โดยเฉพาะในส่วนของร้านอาหารและห้างสรรพสินค้า ต่างมียอดขายเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ถือเป็นช่วงที่คนไต้หวันจะนึกถึงประเทศไทย เพราะเป็นช่วงของเทศกาลสงกรานต์ที่ชาวไต้หวันรู้จัก ทำให้บรรดาโรงแรมและห้างสรรพสินค้านิยมจัดเทศกาลไทย/อาหารไทย รวมทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาวหลายแห่ง เช่น Grand Hyatt, Howard Plaza Hotel ต่างมีการจัดเทศกาลอาหารไทย ในขณะที่ห้างสรรพสินค้า HonHui Plaza มีการจัดสัปดาห์สินค้าไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 26-28 เมษายน 2567 นี้ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป จะจัด Thai Festival ร่วมกับห้างสรรพสินค้า Far Eastern สาขา A13 ด้วย โดยมีการออกร้านของผู้นำเข้า/ผู้ประกอบการในสินค้าอาหาร/ไลฟ์สไตล์จำนวนมาก เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มความรับรู้เกี่ยวกับสินค้าไทยให้ผู้บริโภคไต้หวันได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

thThai