จากงานวิจัยของ 1Lattice บริษัทวิจัยข้อมูลการตลาด คาดการณ์ว่าตลาดรองเท้าของอินเดียจะเติบโตด้วยเลขสองหลักต้นๆ คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 22,894,902,600 เหรียญสหรัฐ หรือ 1.91 ล้านล้านรูปีอินเดีย ภายในปีงบประมาณ 2571 โดยจากข้อมูลสถิติปีงบประมาณ 2567 ตลาดรองเท้าอินเดียมีมูลค่า 14,803,772,110 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.23 ล้านล้านรูปีอินเดีย
โดย Ashish Dhir ผู้อำนวยการอาวุโสของ 1Lattice กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมรองเท้าของอินเดียมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี อันเป็นผลมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความต้องการความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น และการเกิดขึ้นของตลาดขายต่อสินค้า (Resale Market) ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าตลาดเพิ่มสูงขึ้นถึง 22.89 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2571
ตลาดรองเท้าของอินเดีย มีความหลากหลายครอบคลุมตั้งแต่รองเท้าผลิตเองแบบท้องถิ่นดั้งเดิม ไปจนถึงรองเท้ากีฬาที่มีแบรนด์ และรองเท้าไลฟ์สไตล์
- ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีหลากหลายประเภท อาทิ ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก การออกแบบและรูปแบบสไตล์ที่หลากหลาย
- นอกจากนี้ ตลาดยังมีความหลากหลายในแง่ของวัตถุดิบในการผลิต อาทิ รองเท้าที่ผลิตจากหนังแท้ หนังเทียมหรือหนังสังเคราะห์ รวมถึงวัตถุดิบอื่นที่ไม่ใช่หนัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้บริโภคอินเดียที่มีความหลากหลาย
ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดรองเท้า
ตลาดรองเท้าอินเดียคาดว่ามีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องมาจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิ รายได้หลังจ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การเข้าสู่ความเป็น premiumization ของอุตสาหกรรม ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวของชุมชนเมือง ตลอดจนความตระหนักถึงแนวโน้มและทิศทาง การเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น
- รายได้หลังหักภาษีที่เพิ่มขึ้น และจำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลางที่มากขึ้น กระตุ้นให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์มากขึ้น รวมไปถึงรองเท้า
- การขยายตัวของชุมขนเมือง และการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคส่งผลให้มีความต้องการสินค้ารองเท้าที่มีแบรนด์และรองเท้าแฟชั่นเพิ่มสูงขึ้น
- การเติบโตของการค้าออนไลน์ก็ถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการขยายตลาดเช่นกัน เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีความหลากหลายได้ง่ายขึ้น
- กระแสความเป็น premiumisation จะส่งผลให้รองเท้าพรีเมี่ยมครองสัดส่วนทางการตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 49 ในปี 2568
- นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่อัตราร้อยละ 5.5 ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะส่งผลให้ราคารองเท้าเพิ่มสูงขึ้น และทำให้มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมรองเท้าเติบโตขึ้นด้วย
แนวโน้มตลาดสินค้ารองเท้าอินเดียในปัจจุบัน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรองเท้าของอินเดียมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น โดยมีแนวโน้มเติบโตจากปัจจัย ดังนี้
- ความยั่งยืนและความมีจริยธรรม: โดยผู้บริโภคในปัจจุบันมีความตระหนักรู้และให้ความใส่ใจในเรื่องของความยั่งยืนและความมีจริยธรรมมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกระบวนการผลิตที่มีการบริหารจัดการอย่างมีจริยธรรมและเป็นธรรม เป็นผลให้บริษัทรองเท้าค้นคว้าวิจัยวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หนังจากเส้นใยพืช และกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะนำไปสู่ความต้องการรองเท้าที่ไม่ได้ผลิตจากหนัง เนื่องจากราคาไม่แพง มีความทนทาน และใช้งานได้หลากหลาย
- การบูรณาการเทคโนโลยี: การนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และเกิดเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม เช่น การพิมพ์ภาพ 3 มิติ การทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยใช้ข้อมูล (machine learning) และระบบอัตโนมัติ รวมไปถึงการทดลองใช้เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง ร่วมกับ AR เพื่อเพิ่มประสบการณ์แบบใหม่ในการเลือกซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น
- การเติบโตของ E-Commerce: จากการขยายตัวของแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่เพิ่มมากขึ้น ร้านค้าปลีกออนไลน์จึงเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าหลักของรองเท้าที่มีแบรนด์ เป็นการนำเสนอความสะดวกสบาย และทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการขยายตัวของแพลตฟอร์ม E-Commerce นอกจากจะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้ารองเท้าได้หลากหลายประเภทมากขึ้น และลูกค้ายังได้รับส่วนลดจำนวนมากในการซื้อสินค้าด้วย
- การปรับเปลี่ยนสินค้าให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า (Customization) และการผลิตสินค้าสำหรับเฉพาะบุคคล (Personalization): ผู้บริโภคมองหาตัวเลือกรองเท้าที่ปรับตามความต้องการหรือปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการตอบโจทย์ความด้องการของลูกค้า ช่วยในการออกแบบรองเท้าเฉพาะบุคคลและตัดเย็บตามความต้องการของลูกค้า
- ความร่วมมือระหว่างบริษัทแบรนด์แฟชั่นหรูหราและบริษัทรองเท้ากีฬา: โดยจากรายงานของ 1Lattice ได้แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มของความร่วมมือระหว่างบริษัทแบรนด์แฟชั่นหรูหราและบริษัทรองเท้ากีฬาเพิ่มขึ้น ทิศทางคู่ขนานไปกับการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของวัฒนธรรมที่ผู้คนนิยมใส่รองเท้าผ้าใบ ส่งผลให้เกิดสินค้ารุ่นลิมิเต็ด และตลาดขายต่อสินค้าเพิ่มมากขึ้น
- รองเท้ากีฬาและรองเท้าเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มได้รับความนิยม จากกลุ่มคนที่ชื่นชอบกีฬาและการออกกำลังกาย ส่งผลให้รองเท้ากีฬาเป็นที่ต้องการมากขึ้นและทำให้อุตสาหกรรมรองเท้าในอินเดียเติบโตสูงขึ้นในปี 2566 นอกจากนี้ กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเท้า ก็มีความต้องการรองเท้าเพื่อสุขภาพที่สวมใส่สบายด้วยเช่นกัน
ผู้เล่นหลักในตลาด:
ตัวอย่างรายชื่อแบรนด์รองเท้าที่ครองสัดส่วนการตลาดหลักในอินเดีย อาทิ Bata, Relaxo Footwear, Liberty Shoes, Metro Shoes, Woodland, Puma, Adidas, Reebok, Skechers และ Fila
สำหรับปัญหาอุปสรรคของอุตสาหกรรมรองเท้าในตลาดอินเดีย ได้แก่ การปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบสินค้า การบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ อัตรากำไรต่ำ และกระบวนการผลิตที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายธุรกิจของผู้ค้าปลีก โดยข้อมูลจากรายงานกล่าวว่า ประมาณร้อยละ 70 ของอุตสาหกรรมรองเท้าไม่มีการจัดการที่ดี ทำให้ผู้ค้าปลีกบริหารจัดการด้านราคาและการตลาดได้ยาก นอกจากนี้ การแข่งขันระหว่างแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาดแล้วและผู้เล่นรายใหม่ทำให้มีการแข่งขันทางด้านราคาสูง และส่งผลต่ออัตรากำไร
ความเห็นของสคต. ณ เมืองเจนไน
อินเดียเป็นศูนย์กลางของการผลิตรองเท้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 ของการผลิตทั่วโลก นับเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่อันดับสองของโลก โดยมากกว่าร้อยละ 85 ของการผลิตในอินเดียเป็นการผลิตจากผู้ดำเนินธุรกิจในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME)
อย่างไรก็ดี แม้อินเดียจะเป็นผู้ผลิตรองเท้า แต่ก็มีการนำเข้าสินค้ารองเท้าด้วยเช่นกันทั้งในส่วนของรองเท้าหนัง และรองเท้าที่ไม่ใช่หนัง โดยจากสถิติการนำเข้าของอินเดียในปีงบประมาณ 2566-67 (เม.ย. 66 – ม.ค. 67) อินเดียมีการนำเข้ารองเท้าหนังคิดเป็นมูลค่า 410.13 ล้านเหรียญสหรัฐ และรองเท้าที่ไม่ใช่หนัง คิดเป็นมูลค่า 249.47 ล้านเหรียญสหรัฐ (ที่มา: Global Trade Atlas)
ทั้งนี้ อินเดียได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ ASEAN – India FTA ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดรองเท้าในอินเดีย สามารถตรวจสอบรายการสินค้าเพื่อขอลดหย่อนอัตราภาษีภายใต้กรอบดังกล่าวได้ โดยยื่นฟอร์ม AI กับกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าเครื่องหนังและรองเท้าภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 0-5 ขึ้นกับรายการสินค้า
แหล่งที่มา:
- The Economic Times: India footwear market to grow to Rs 191K cr by FY28: Report – April 8, 2024
- The Logic ERP Report – Footwear Industry in India: Trends, Challenges & Solutions
- 6Wresearch Report – Stepping into Success: Exploring India’s Thriving Footwear Market