ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีได้อนุญาตให้มีการซื้อ – ขายกัญชาเพื่อการสันทนาการ โดยบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (18 ปีขึ้นไป) จะสามารถครอบครอง/เป็นเจ้าของกัญชาได้ 25 กรัม โดยไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้สามารถปลูกต้นกัญชาได้ไม่เกิน 3 ต้นต่อ 1 ครัวเรือน หากผู้บริโภคต้องการที่จะซื้อกัญชาก็สามารถ “ซื้อได้” แต่ต้องผ่าน “Cannabis Club” เท่านั้น โดยกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ Cannabis Club จะออกมาอย่างชัดเจนต่อไป ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2024 ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมผู้ป่วยที่ใช้กัญชาในการรักษาเยอรมัน (BDCan – Der Bund Deutscher Cannabis-Patienten) คาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่กัญชาปริมาณมากจะไหลเข้ามายังตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ และเภสัช-กรรม และคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีประโยชน์ต่อการปฏิรูปกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2024

 

  1. “ใคร…จะสามารถใช้กัญชาในการรักษาในเยอรมนีได้บ้าง ?

สารออกฤทธิ์ในกัญชาจำนวนมากที่ใช้ในด้านเวชภัณฑ์ยานั้น มาจากส่วนของดอกกัญชาตากแห้ง และกัญชาสกัดสำหรับสูดดม ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมร้านขายยา (Abda – Apothekerverband) เปิดเผยว่า ในปี 2022 ได้มีการสั่งจ่ายยาที่มีส่วนผสมของกัญชาจำนวน 338,000 ครั้ง และมีการจำหน่ายยาที่มีส่วนผสมของกัญชา 93,000 ครั้ง (โดยประมาณ) อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ได้จากข้อมูลประกันสังคม ไม่ได้นำตัวเลขของประกันเอกชนมารวมเข้าไปด้วย นาย Thomas Preis ผู้บริหารของสมาคมร้านขายยาประจำภูมิภาค Nordrhein กล่าวว่า “เราคาดการณ์ว่าตลาดยาที่เกี่ยวข้องกับกัญชาของผู้ป่วยเอกชนนั้นสูงพอ ๆ กับของผู้มีประกันสังคม” โดยผู้ผลิตอย่าง Demecan คาดการณ์ว่า ขณะนี้ในเยอรมนีมีผู้ป่วยที่ใช้ยาจากกัญชากว่า 200,000 คน

 

  1. อะไรจะเปลี่ยนแปลงบ้าง…หลังจากที่มีการปรับกฎหมาย

นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ได้มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์อยู่แล้ว แต่หลังจากที่มีการปรับกฎหมายก็จะทำให้สามารถสั่งยาที่มีส่วนผสมของกัญชาได้เหมือนกับการสั่งยาตามปกติ ขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษาทั่วไป ซึ่งนั่นจะหมายความว่า ยาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติดอีกต่อไป

 

  1. ความต้องการจะขยายตัวหรือไม่

นาย Preis กล่าวว่า “ความต้องการสินค้าน่าจะเพิ่มขึ้น” โดยคาดว่าผู้ป่วยเอกชนน่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว และ “กัญชาทางการแพทย์จะไม่ถูกดูว่าเป็นยาเสพติดอีกต่อไป และสั่งจ่ายยาได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ความต้องการจากผู้ป่วยก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” ด้านนาง Christiane Neubaur จากสมาคมผู้จัดหากัญชาเพื่อเภสัชกรรม (VCA – Verband der Cannabis versorgenden Apotheken) กล่าวว่า ใบสั่งยาเอกชนจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งในช่วงแรกคาดว่า ใบสั่งยาจากผู้ที่มีประกันตนตามกฎหมายไม่น่าจะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เพราะแพทย์ที่จะสั่งจ่ายยาเหล่านี้ยังคงต้องส่งใบสมัครไปยังบริษัทประกันสุขภาพเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายดังกล่าวก่อนจึงจะสามารถสั่งยาได้

 

  1. แล้วจะมีผลอะไรกับแพทย์และเภสัชกร

เภสัชกรไม่จำเป็นที่จะต้องจัดเก็บกัญชาและผลิตภัณฑ์ไว้ในตู้เซฟอีกต่อไป นอกจากนี้เอกสารบางรายการก็จะหายไปจากสารบบด้วย จนถึงปัจจุบันตาม พ.ร.บ. ยาเสพติด แพทย์จะต้องสั่งจ่ายกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชาผ่านใบสั่งยา จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกจะต้องเก็บไว้ที่สถานพยาบาลของแพทย์ ผู้จ่ายสั่งยา และใบที่สองจะต้องถูกเก็บไว้ที่ร้านขายยาอย่างน้อย เป็นเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม นาย Preis คาดว่า น่าจะมีใบสั่งยาปลอมเพิ่มขึ้น และ “ใบสั่งยาตาม พ.ร.บ. ยาเสพติด นั้นปลอมยาก แต่ใบสั่งยาที่เป็นกระดาษธรรมดานั้นปลอมง่ายกว่า” แม้ว่าในปีนี้จะมีการบังคับให้ใช้ใบสั่งยาดิจิตอลแล้ว แต่ก็ยังบังคับใช้เฉพาะกับผู้ประกันตนผ่านประกันสังคมอยู่ แต่ผู้ประกันตนแบบเอกชนยังสามารถใช้ใบสั่งยาแบบเป็นกระดาษได้

 

  1. ร้านขายยาร้านแบบไหนบ้าง…ที่สามารถจำหน่ายกัญชาและผลิตภัณฑ์ได้

ในทางทฤษฎีแล้ว ร้านขายยาทุกแห่งสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาให้กับผู้ป่วยได้แล้ว แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่ทำได้อย่างนั้น โดยสมาคม VCA คาดการณ์ว่า ในช่วงแรกน่าจะมีร้านขายยาประมาณ 2,000 แห่ง จากทั้งหมด 17,000 แห่ง ในเยอรมนีที่สามารถจำหน่ายกัญชาผลิตภัณฑ์ได้ แต่ในอนาคตน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น

 

  1. กัญชาทางการแพทย์ช่วยเรื่องอะไรบ้าง

จากข้อมูลการสำรวจโดยสถาบันด้านสินค้าเวชภัณฑ์ยา และสินค้าทางการแพทย์ (BfArM – Bundesinstitut für Arzneimittel und Medizinprodukte) พบว่า 75% กัญชาทางการแพทย์ถูกสั่งเพื่อไว้สำหรับอาการเจ็บป่วย (ปวด) เรื้อรัง อาการเกร็ง และอาการเบื่ออาหาร และจากข้อมูลของ BfArM ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ผู้ป่วยโดยเฉลี่ยมีอายุอยู่ที่ 57 ปี และส่วนใหญ่เป็นสตรี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การศึกษาเรื่องการใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ยังไม่สอดคล้องกันหมด จากข้อมูลสมาคมเภสัชกรฯ มีหลักฐานที่ดีว่า ยานี้มีประโยชน์ในการรักษาความเจ็บปวดที่เกิดจากมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีอาการปวดเรื้อรังอย่างโรคเก้าการใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการปวดเรื้อรังได้เพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่ช่วยเลย

 

จาก Handelsblatt 26 เมษายน 2567

thThai