เศรษฐกิจของกลุ่ม GCC จะก้าวไปข้างหน้าแม้จะมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Spring World Economic Outlook และแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียกลาง (Regional Economic Outlook for the Middle East and Central Asia) โดยคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 3.2  เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 3.1  ในเดือนมกราคม   การขยายตัวนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะการเติบโตที่คาดหวังจากการฟื้นตัวในสหรัฐอเมริกา การลงทุนของภาครัฐในภูมิภาคตะวันออกกลางนี้ จะยังคงสนับสนุนการเติบโตของภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil) ในปี 2567 และต่อๆ ไป

ภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียกลางปรับลดประมาณการการเติบโตจากร้อยละ 2.9 ในเดือนมกราคม ลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของความขัดแย้งที่มีต่อกิจกรรมทางการค้าและเศรษฐกิจ ระดับหนี้ที่สูงของประเทศที่มีรายได้ต่ำในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างหลังยังเป็นจุดสนใจของรายงานที่ออกโดยธนาคารโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจของ GCC ยังคงแข็งแกร่ง โดยคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ  Non-Oil ในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.6% และการเติบโตของ GDP โดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.4% สอดคล้องกับธนาคาร  Emirates NBD ของรัฐดูไบ คาดการณ์การเติบโตภาค Non-Oil ของ GCC ในปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 3.6 ซึ่งต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ร้อยละ 3.9 เมื่อปีก่อนหน้า

ภาค Non-Oil

ข้อมูลจากการสํารวจแสดงให้เห็นว่าในไตรมาสแรกของปี 2567 ภาค Non-Oil เติบโตอย่างแข็งแกร่ง  ประกอบกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย ที่ขยายตัวกว่าดัชนี PMI  ทั่วโลกในเดือนมีนาคม และจากการสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) พบว่าอุปสงค์ในประเทศยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้สถานการณ์ธุรกิจดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน   ส่วนคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง แม้ว่าการเติบโตของ Non-Oil ของ GCC ในปี 2566 จะยังคงแข็งแกร่ง และอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น แต่คาดว่าผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวจะกดดันการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ ตลาดได้ปรับราคาคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ครั้งใหญ่โดยขณะนี้คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 50 จุด จากเดิม 150 จุดตามที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี จึงส่งผลให้นโยบายการเงินในกลุ่ม GCC ยังคงตึงเครียด ขัดขวางการลงทุนของภาคเอกชนบางส่วนและจำกัดการบริโภค ภาคครัวเรือนอย่างไรก็ตาม IMF คาดว่าการลงทุนของภาครัฐจะยังคงสนับสนุนการเติบโตที่ไม่ใช่น้ำมันในปี 2567 และ  ปีต่อๆ ไป เนื่องจากรัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และงบดุลที่แข็งแกร่งของรัฐบาล GCC ช่วยให้ประเทศเหล่านี้สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคยุทธศาสตร์อื่น ๆ ต่อไปได้ แม้ในบริบทของอัตราดอกเบี้ยที่สูงเนื่องจากระดับหนี้สาธารณะยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศผู้นำเข้าน้ำมันในภูมิภาค

อัตราเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคของ GCC ในไตรมาสแรกชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วและยังคงอยู่ในระดับต่ำตามมาตรฐานทั่วโลก แม้จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของในค่าใช้จ่ายส่วนที่อยู่อาศัยในดูไบและซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้ คาดการ์ณว่าการขนส่งจะเป็นสาเหตุหนึ่งของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น จะส่งผ่านไปยังค่าน้ำมันและค่าขนส่งอื่นๆ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์      อย่างไรก็ตาม IMF คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ GCC ในปีนี้จะลดลงเหลือร้อยละ 2.2 ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

โดยรวมแล้ว แม้ว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคจะทวีความรุนแรงขึ้น แต่แนวโน้มเศรษฐกิจของสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับยังคงอยู่ในระดับปานกลางชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่าแนวโน้มมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะย่างยิ่งการหยุดชะงักของ   การหมุนเวียนการค้าผ่านทะเลแดง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง และเวลาการส่งมอบของซัพพลายเออร์ และราคาพลังงานที่สูงขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงในบางส่วนของ GCC ความไม่แน่นอนที่ขยายออกไปและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น อาจขัดขวางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภูมิภาคในระยะกลางและระยะยาว ทำให้ความต้องการเงินทุนจากภาครัฐ ธนาคารท้องถิ่น และภาคเอกชนในประเทศเพิ่มมากขึ้น

การค้ากับประเทศไทย

การส่งออกไปกลุ่มประเทศ GCC มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี มูลค่าเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 ที่มีมูลค่า การส่งออกรวม 7,231 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 5.4) ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) มูลค่า 1,272 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 0.68)  โดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สัดส่วนร้อยละ 44.2) และซาอุดิอาระเบีย (ร้อยละ 35.0) เป็นลาดส่งออกหลัก สินค้าสำคัญที่ส่งออกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป   เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ  ผลิตภัณฑ์ยาง  เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์

ในขณะที่ไทยนำเข้าจาก GCC ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2567 มูลค่า 3,983 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว  ร้อยละ 26.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า มีตลาดนำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรกคือ สหรัฐอาหรับ   เอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และ กาตาร์ หรือสัดส่วนรวมร้อยละ 93 โดยนำเข้าน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งนี้    มูลค่าที่นำเข้าจาก 3 ประเทศหลักและนำเข้ารวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

thThai