กวางโจวเตรียมสร้างเขตนำร่องศูนย์กลางอุตสาหกรรม AI ขนาดใหญ่แห่งแรกของจีน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 รัฐบาลเมืองกวางโจวได้ประกาศความคืบหน้าของการสนับสนุนการสร้างเขตนำร่องการใช้งานโมเดล AI ขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศจีนในพื้นที่ผาโจว เขตไห่จู เมืองกวางโจว พร้อมกับเปิดตัวศูนย์บริการแนะนำแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับโมเดล AI ขนาดใหญ่ในพื้นที่ผาโจว เพื่อส่งเสริม “แผนปฏิบัติการ 3 ปี เพื่อเร่งการสร้างกำลังผลิตที่มีคุณภาพรูปแบบใหม่ของเขตไห่จู” รวมถึงเปิดตัวโมเดลขนาดใหญ่ในเขตไห่จู 4 โครงการ ได้แก่ 1. โมเดลขนาดใหญ่ด้าน Cloud Brain สำหรับการบริการงานภาครัฐในเขตไห่จู 2. โมเดลขนาดใหญ่ด้าน E- Commerce ที่มีชื่อว่า “Chaoche” (朝彻) ของบริษัท VIPshop ซึ่งให้บริการคำแนะนำการช็อปปิงออนไลน์แบบตัวต่อตัวแก่ผู้ใช้ และช่วยค้นหาสินค้าที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว 3. โมเดลขนาดใหญ่ด้าน Text-to-Video ของ InsightGPT 4. โมเดลขนาดใหญ่ด้าน AI ในระบบช็อปปิงอัจฉริยะบน Social E-commerce ของบริษัท Miyuan

ในเดือนมีนาคมของปีนี้ “แผนการดำเนินงานสนับสนุนการก่อสร้างเขตนำร่องการประยุกต์ใช้โมเดล AI ขนาดใหญ่ในเขตไห่จู” ได้เผยแพร่และดำเนินการอย่างเป็นทางการ ซึ่งแผนการดำเนินงานฯ นี้เป็นแผนการแรกที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการประยุกต์ใช้โมเดล AI กับอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศจีน ในแผนการดำเนินงานฯ เสนอให้ส่งเสริมการก่อสร้างเขตนำร่องการประยุกต์ใช้โมเดล AI ขนาดใหญ่ชั้นนำภายในประเทศจีนในเขตไห่จูอย่างเต็มกำลัง โดยกำหนดให้ปี 2569 เกิดการใช้งานโมเดล AI ขนาดใหญ่ในเชิงลึกมากกว่า 8 อุตสาหกรรม ส่งเสริมการประยุกต์ใช้โมเดลต้นแบบไม่น้อยกว่า 30 รูปแบบ คัดเลือกองค์กรที่ได้เกณฑ์มาตรฐาน 50 แห่ง และจัดเก็บอัลกอริธึมมากกว่า 5,000 รายการ รวมถึงขับเคลื่อนรายได้จากธุรกิจหลักในเขตนำร่องมากกว่า 5 แสนล้านหยวน และกลายเป็นพื้นที่ชั้นนำในด้านการประยุกต์ใช้งาน ด้านนโยบาย และด้านบุคลากรที่มีความสามารถของประเทศจีน

กวางโจวเตรียมสร้างเขตนำร่องศูนย์กลางอุตสาหกรรม AI ขนาดใหญ่แห่งแรกของจีน

ทั้งนี้ มีการตั้งเป้าเขตไห่จู่ในการผสมผสานระหว่าง AI กับช่องทางในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรูปแบบใหม่ เกมส์ แฟชั่น การตลาด การคมนาคม การแพทย์ งานภาครัฐ การเงิน เป็นต้น โดยผ่านการขยายการส่งเสริมการลงทุนกับบริษัทชั้นนำที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง การส่งเสริมการลงทุนแบบกำหนดเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนโดยการเชื่อมโยงสถาบันการลงทุน และการส่งเสริมการลงทุนความร่วมมือตามสถานการณ์การใช้งาน ฯลฯ เพื่อเร่งผลักดันองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในช่วงอิ่มตัว เพื่อเป็นผู้นำในการดำเนินงานการประยุกต์ใช้โมเดลอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมุ่งมั่นที่จะสร้าง “สนามทดลองที่ดีที่สุด” สำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโมเดลขนาดใหญ่และการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำ ปัจจุบัน ทั่วทั้งเขตพื้นที่มีแหล่งโครงการประยุกต์ใช้โมเดลขนาดใหญ่ทั้งหมด 21 แห่ง ในปีนี้ ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้มีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 10 แห่งขึ้นไป และมีการขึ้นทะเบียนอัลกอริธึมจำนวน 20 แห่งขึ้นไป รวมถึงแนะแนวทางการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม 50 โครงการขึ้นไป เพื่อสร้างแนวโน้มการพัฒนาแบบคลัสเตอร์

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เขตไห่จูกำหนดเขตนำร่อง AI และเศรษฐกิจดิจิทัลของพื้นที่ผาโจวเป็นพื้นที่แกนกลางในการสร้าง Pazhou Computing Valley และเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อาทิ ศูนย์ประมวลผล แพลตฟอร์มระบบอินเตอร์เน็ตในอุตสาหกรรม เป็นต้น เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โครงการ Pazhou Computing Valley – Shaxi Intelligent Computing Center ได้รับการลงนามอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการประมวลผลอัจฉริยะที่รองรับโมเดลขนาดใหญ่แห่งแรกในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area)

การสร้างเขตนำร่องในพื้นที่ผาโจวของเขตไห่จูครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง และเกิดกระแสดิจิทัลเป็นระลอกคลื่น ในอนาคตเขตนำร่องการประยุกต์ใช้โมเดล AI ขนาดใหญ่ในพื้นที่ผาโจวของเขตไห่จูแห่งนี้ จะช่วยผลักดันให้องค์กรแบบดั้งเดิมหันมาลงทุนในช่องทางใหม่ๆ และมีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ระดับโลก

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

มณฑลกวางตุ้งมีนโยบายสนับสนุนและผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน อุตสาหกรรม AI ของมณฑลกวางตุ้งอยู่ในระดับแนวหน้าของจีน โดยอุตสาหกรรม Al ถูกบรรจุให้อยู่ในรายการ 20 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ของมณฑลกวางตุ้ง ส่งผลให้มณฑลกวางตุ้งกลายเป็นหนึ่งในผู้นําด้านปัญญาประดิษฐ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศของจีนมากที่สุดแห่งหนึ่ง และมีส่วนส่งเสริมให้มณฑลกวางตุ้งมีเศรษฐกิจที่เติบโตเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันนานหลายปี ขณะที่รัฐบาลไทยเองก็ได้สร้างแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) หรือ AI Thailand  ทั้งนี้ หากไทยสามารถทำความร่วมมือกับเขตนำร่องศูนย์กลางอุตสาหกรรม AI ขนาดใหญ่แห่งแรก ในมณฑลกวางตุ้งของจีน เพื่อปรับใช้กับอุตสาหกรรมของไทย อาทิ การใช้เทคโลยี AI ในการจัดเก็บข้อมูลของแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มหรือนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการใช้เทคโลยี AI ในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตให้สูงขึ้น รวมถึงการใช้เทคโลยี AI ในอุตสากรรมการเงิน เพื่อที่จะสามารถส่งเสริมให้ การบริหารจัดการเกี่ยวกับการเงินเกิดการคล่องตัวหรือนำไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การผลักดันให้อุตสาหกรรมไทย เกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงจะเกิดความเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกันผ่านโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ หรือร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง พัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อตอบรับความต้องการในการพัฒนาของเทคโนโลยีในอนาคต รวมถึงส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีและการสร้างเทคโนโลยีรากฐาน (Core Technology) ของไทย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ จนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีศักยภาพต่อไป

ที่มา:

https://sdxw.iqilu.com/w/article/YS0yMS0xNTUwODQ3OA.html

http://gdstc.gd.gov.cn/kjzx_n/gdkj_n/content/post_4403284.html

ภาพ : https://image.baidu.com/

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

thThai