ราคาอาหารในเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศ OECD

(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Herald ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2567)

ราคาอาหารในเกาหลีใต้เฟ้อขึ้นถึงร้อยละ 6.95 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

จากข้อมูลของ OECD ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 รายงานว่า เกาหลีใต้เป็นอันดับ 3 ในกลุ่มสมาชิก OECD 38 ประเทศที่มีราคาอาหารและเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์เฟ้อสูง รองจากประเทศตุรกีที่ร้อยละ 71.12 และไอซ์แลนด์ที่ร้อยละ 7.52 โดยมีค่าเฉลี่ยทุกประเทศที่ร้อยละ 5.32 และนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ราคาอาหารเกาหลีใต้เฟ้อเกินค่าเฉลี่ยของ OECD

สถานการณ์ราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เริ่มขึ้นหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ประกอบกับราคาพลังงานที่สูงขึ้นและภาวะแล้งอย่างรุนแรง ส่งผลให้อัตราเฉลี่ยของราคาอาหารในกลุ่มประเทศ OECD ที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในปี 2564 เพิ่มเป็นร้อยละ 16.19 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังจากนั้น อัตราดังกล่าวก็กลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว โดยลดลงต่ำกว่าร้อยละ 10 ในเดือนกรกฎาคมของปี 2566 และต่ำถึงร้อยละ 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เท่ากับอัตราก่อนที่รัสเซียจะโจมตียูเครน

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อราคาอาหารของเกาหลีใต้ก็เพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ลดลงเหลือร้อยละ 3.81 ในเดือนกรกฎาคม 2566 โดยอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 7 อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 และมาสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

นักวิเคราะห์ประเมินว่า ราคาอาหารในประเทศที่สูงขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล และสาลี่ โดยราคาแอปเปิลพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 88.2 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่มีการรายงานทางสถิติอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนมกราคม 2523

เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาผลไม้ รัฐบาลได้ออกมาตรการขยายโควตาภาษีสำหรับผลไม้ 21 ชนิด รวมถึงกล้วย และมะม่วงในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนยังได้ขยายมาตรการให้ครอบคลุมผลไม้เพิ่มเติมอีก 8 ชนิด เช่น กีวี และเชอร์รี่

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ขยายขอบเขตการกระจายสินค้าที่ดำเนินการโดยองค์กรการค้าเกษตรกรรมและการประมงของประเทศเกาหลี (Korea Agro-Fisheries & Food Trade Corporation: aT-Center) โดยได้นำเข้าผลไม้โดยตรง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อผลไม้ได้ในราคาที่เหมาะสม โดย aT-Center ได้ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2567 ผลไม้ที่นำเข้าโดยตรงดังกล่าว ได้ถูกจัดส่งไปยังพื้นที่กว่า 12,000 แห่งทั่วประเทศ ในราคาส่วนลดร้อยละ 20-30 แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลไม้ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความผันผวนของราคาน้ำมันต่างประเทศและการแข็งตัวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจส่งผลให้ราคาผู้บริโภคสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งวัตถุดิบนำเข้า และอาหารแปรรูป เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ช็อคโกแลต และขนบขบเคี้ยว

ท่ามกลางความไม่แน่ใจของสาธารณชนที่เพิ่มมากขึ้น นาย คิมกวางซุก หัวหน้าทีมวิจัยสถาบันเพื่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเกาหลี เตือนว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ และอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ความน่าเป็นห่วงของ “second-round inflation” ถัดจากเมื่อปี 2565

ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ สาธรณรัฐเกาหลีใต้ นาย ชเวซังมก ย้ำจุดยืนของรัฐบาล หลังจากการเยือนวอชิงตันเพื่อเข้าร่วมการประชุม G-20 ของหัวหน้าฝ่ายการเงินและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง และแสดงความเชื่อมั่นว่าในที่สุดราคาจะ “เสถียรในแนวโน้มขาลง” ในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าอาจจะมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น

ความเห็น สคต.

สคต. ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า วิกฤตราคาอาหารสูงขึ้นในเกาหลีใต้ส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดเตรียมมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าดังกล่าว และช่วยแบ่งเบาภาระในการจับจ่ายสินค้าบริโภคอุปโภคของประชาชน ซึ่งมาตรการในการขยายโควตาในการนำเข้าสินค้าอาหาร โดยเฉพาะสินค้าประเภทผลไม้ มีสินค้าที่ประเทศไทยได้ประโยชน์ เช่น มะม่วง มังคุด กล้วย ทุเรียน น้ำมะพร้าว เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยควรใช้โอกาสดังกล่าวและเร่งรัดการส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังเกาหลีใต้ให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จากการที่ราคาสินค้าอาหารเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้น หากผู้ผลิตไทยพัฒนาสินค้าโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านราคา จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้สินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น

thThai