เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 บริษัท Sichuan Baicha Baidao Industrial Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่แบรนด์ “ChaPanda หรือ CHABAIDAO” ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้สำเร็จอย่างเป็นทางการ โดยกลายเป็นเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่แบรนด์ที่สองที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ หลังจากแบรนด์ NAIXUE เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายน 2564
ChaPanda ได้เปิดตัวร้านแรกในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวนในปี 2551 ซึ่งก่อตั้งโดยสามีภรรยานายหวังเซียวคุน และนางหลิว เหว่ยหง เนื่องจากนครเฉิงตูเป็นบ้านเกิดของหมีแพนด้า ChaPanda จึงใช้องค์ประกอบหมีแพนด้าในการออกแบบ Logo และบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก
ตามข้อมูลเอกสารการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของ ChaPanda เปิดเผยว่า จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 5 เมษายน 2567 บริษัทมีร้านค้าทั้งหมด 8,016 แห่งในประเทศจีน (รวมถึงร้านค้าที่ดำเนินการโดยตรง 6 แห่ง) โดยครอบคลุมถึง 31 มณฑลทั่วประเทศ นอกจากนี้ ร้านค้าในต่างประเทศแห่งแรกของ ChaPanda ได้เปิดตัวในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้เมื่อเดือนมกราคม 2567
หากพิจารณาในด้านปริมาณการจำหน่าย พบว่า ในปี 2566 ChaPanda มีการจำหน่ายเครื่องดื่มทั้งหมด 1.016 พันล้านแก้วตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 (YoY) โดยปริมาณการจำหน่ายเฉลี่ยของแต่ละร้าน อยู่ที่ 143,500 แก้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 (YoY) ในปี 2566 มูลค่าค้าปลีกรวมของ ChaPanda อยู่ที่ประมาณ 16.9 พันล้านหยวน ทั้งนี้ จากรายงานของ Frost & Sullivan ระบุว่า ChaPanda มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.8 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 ในตลาดร้านชาสำเร็จรูปของจีน รองจากแบรนด์ Mixue และ GOOD ME
หลังจากการพัฒนามาเป็นเวลา 16 ปี ChaPanda ได้สร้างความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีข้อได้เปรียบที่โดดเด่นในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ChaPanda ใช้ “สูตรลับเฉพาะ” ของตนเองเพื่อสั่งทำวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ต้นน้ำ เพื่อแก้ปัญหาความคล้ายคลึง (similarity) ระหว่างแต่ละสินค้าที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มชา ในปี 2566 ChaPanda ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เกือบ 250 รายการ ซึ่งสามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์รายการใหม่เกือบทุกสัปดาห์โดยตลอดทั้งปีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหลักให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง
- ChaPanda นับเป็นผู้เชี่ยวชาญในการประชาสัมพันธ์ผ่านการถ่ายทอดสดในหลายแพลตฟอร์ม เช่น Douyin และ Kuaishou โดยมูลค่าการจำหน่ายได้ติดอันดับหนึ่งในมูลค่าจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายการถ่ายทอดสดบน Douyin ณ วันที่ 10 มีนาคม 2566 การจำหน่ายเครื่องดื่มของ ChaPanda มียอดทะลุ 100 ล้านหยวนในวันเดียว ในขณะเดียวกัน จำนวนสมาชิกของ ChaPanda ก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนสมาชิกที่ลงทะเบียนเกิน 100 ล้านคนในปัจจุบัน
- ChaPanda มีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถส่งวัตถุดิบไปยังร้านค้าร้อยละ 97 ได้สัปดาห์ละสองครั้งขึ้นไป นอกจากนี้ ChaPanda ยังให้ความสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยได้ก่อตั้งโรงงานในนครเฉิงตู เพื่อผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รวมถึงหลอดและแก้วที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งสินค้าที่ผลิตขึ้นนั้นไม่เพียงแต่สามารถนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของ ChaPanda เท่านั้น แต่ยังสามารถตอบสนองความต้องการจากตลาดภายนอกอีกด้วย
- ระบบแฟรนไชส์ที่มั่นคงยังนับเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สนับสนุนให้ ChaPanda ประสบความสำเร็จ โดยผ่านการให้การสนับสนุนแฟรนไชส์อย่างครอบคลุม ปัจจุบัน ChaPanda มีศูนย์ฝึกอบรม 16 แห่งทั่วประเทศ และยังได้จัดตั้งทีมกำกับดูแลระดับภูมิภาค นอกเหนือจากการตรวจสอบร้านค้าแฟรนไชส์เป็นประจำ 3 ถึง 4 ครั้งต่อเดือน สำนักงานใหญ่ ChaPanda และทีมกำกับดูแลระดับภูมิภาคยังดำเนินการสุ่มตรวจสอบร้านค้าเป็นรายวัน และยังจัดจ้างบริษัทฝ่ายที่สามดำเนินหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารอีกด้วย
- ChaPanda ใช้ความพยายามในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิ การบริจาคให้กับกองทุนปฏิบัติการกู้ภัยในช่วงเวลาภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ / การรับเลี้ยงหมีแพนด้า “Cha Cha” ไปตลอดชีวิตที่ Chengdu Research Base of Giant Panda Breeding / การสร้างร่วมมือกับองค์กรการกุศล (charity organization) เพื่อดำเนินโครงการสวัสดิการสังคมสำหรับเด็ก เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต.
นอกจาก ChaPanda แล้ว Mixue / GOOD ME และ Auntea Jenny ยังได้ยื่นหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนอีกด้วย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2567 คาดว่า จะก่อให้เกิดกระแสที่บริษัทเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกัน การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของ ChaPanda ยังสะท้อนให้เห็นว่า แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศที่มีเครือข่ายแฟรนไชส์ได้รับความสนใจและการยอมรับจากตลาดทุน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 หน่วยงานภาครัฐทั้ง 9 แห่งของจีน รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันออกเอกสาร “แนวทางความคิดเห็นในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมการให้บริการด้านอาหาร” โดยระบุว่า การสนับสนุนบริษัทการให้บริการด้านอาหารในการระดมเงินทุนผ่านวิธีต่างๆ เช่น สินเชื่อกู้เงิน (Credit loan) คำปฏิญาณด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Pledge) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าเอกสารฉบับนี้จะส่งเสริมให้บริษัทการให้บริการด้านอาหารหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นในการพิจารณาเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการให้บริการด้านอาหารมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการบริโภค รักษาเสถียรภาพการจ้างงาน ปกป้องการดำรงชีวิตของประชาชน ตลอดจนสืบทอดและพัฒนาวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคต บริษัทการให้บริการด้านอาหารที่เข้าสู่การแข่งขันในตลาดอาหารของจีนจะเพิ่มมากขึ้นอย่างเรื่อยๆ ต่อไป
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
แหล่งข้อมูล :
https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_27131077
https://www.sohu.com/a/486709957_378064