ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับ 5 ไปยังตลาดสิงคโปร์ ตามหลังมาเลเซีย นอร์เวย์ อินโดนีเซีย และจีน โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกอาหารทะเลของเวียดนามไปยังตลาดสิงคโปร์มีมูลค่ามากกว่า 24 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 17.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.22 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อีกทั้ง สำนักงานการค้าเวียดนามในสิงคโปร์ ระบุว่า ตามสถิติของสำนักงานบริหารธุรกิจสิงคโปร์ ในไตรมาสแรกของ
ปี 2567 สิงคโปร์นำเข้าอาหารทะเลจากประมาณ 100 ประเทศ โดยมีมูลค่าการนำเข้ารวมเกือบ 340 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (249.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้าคือ กุ้ง ปู สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง (คิดเป็นร้อยละ 25)  ปลาสด ปลาแช่เย็น (คิดเป็นร้อยละ 19.86) เนื้อปลา เนื้อปลาแช่เย็นหรือแช่แข็ง (คิดเป็นร้อยละ 18.15) ปลาแช่แข็ง (คิดเป็นร้อยละ  15.45) หอย (คิดเป็นร้อยละ 11.02)

นอกจากนี้ จากข้อมูลหน่วยงานของสิงคโปร์ Accounting and Corporate Regulatory Authority แสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าแต่ละประเภทแตกต่างกัน จากแหล่งต่างๆ เช่น มาเลเซียมีจุดแข็งในด้านปลาสด กุ้ง ปู และอาหารทะเลที่มีเปลือกแข็ง โดยมีส่วนแบ่งการตลาดในสองกลุ่มนี้ที่ร้อยละ 28.34 และ 21.30 ตามลำดับ จีนมีความได้เปรียบในสินค้าอาหารทะเลประเภทหอยมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 35.62 และญี่ปุ่นมีความได้เปรียบในสินค้าสัตว์น้ำต่างๆ เป็นร้อยละ 41.77 ของส่วนแบ่งตลาด ในขณะเดียวกัน เวียดนามได้เปรียบในผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเนื้อปลาแช่แข็งร้อยละ 26.85 และปลาแปรรูปร้อยละ 16.88 โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ผู้ส่งออกอาหารทะเลที่มีส่วนแบ่งตลาดไปยังสิงคโปร์ ได้แก่ มาเลเซียร้อยละ 13.6 นอร์เวย์ร้อยละ 11.45 อินโดนีเซียร้อยละ 11.13 จีนร้อยละ 10.15 เวียดนามร้อยละ 8.58 และญี่ปุ่นร้อยละ 8.34

นาย Cao Xuan Thang ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าเวียดนามในสิงคโปร์กล่าวว่า สิงคโปร์ได้ขยายและกระจายแหล่งนำเข้าอย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งสิ่งนี้ยังส่งผลต่อการแข่งขันระหว่างผู้ส่งออกอาหารทะเลไปยังสิงคโปร์มากขึ้น นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อภาคสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมประมงของทุกประเทศที่ส่งออกไปยังสิงคโปร์ รวมถึงเวียดนาม อย่างไรก็ดี หากเวียดนามใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านโลจิสติกส์และลดต้นทุนได้ จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้นในการส่งออกไปยังสิงคโปร์เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และเพิ่มมูลค่าการส่งออกในตลาดนี้ เวียดนามจึงจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลไปยังตลาดสิงคโปร์ สำนักงานการค้าแนะนำให้ธุรกิจอาหารทะเลของเวียดนามทำการวิจัยและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่เวียดนามเป็นสมาชิก รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพ ฉลากผลิตภัณฑ์ ฯลฯ อีกทั้งแนะนำให้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า ส่งเสริมแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของสินค้าเวียดนามในตลาดต่างประเทศ

(จาก https://en.vietnamplus.vn/)

ข้อคิดเห็น สคต

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าของเวียดนามจำนวนมากที่ส่งออกไปยังสิงคโปร์มีการเติบโตที่อย่างมีนัยสำคัญ เช่นสินค้าประมงและสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อปลาแช่แข็ง ปลาแปรรูปและข้าวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกรวมระหว่างเวียดนามและสิงคโปร์มีมูลค่ามากกว่า 2,540 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
(1,870 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.29 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ปัจจุปันตลาดส่งออกหลักของสิงคโปร์ ได้แก่ จีน มาเลเซีย สหรัฐฯ อินโดนีเซีย ไทย เกาหลีใต้และอื่นๆ ซึ่งเวียดนามได้เป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 9 ในสิงคโปร์ นอกจากนี้ สิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารจึงมีนโยบายหาแหล่งนำเข้าสินค้าที่มีความหลายหลายมากขึ้น โดยเวียดนามได้ใช้โอกาสนี้ ในการส่งเสริมการส่งออก สินค้าส่งออกที่สำคัญของเวียดนาม ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถแสวงหาโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสิงคโปร์ได้ด้วยเช่นกัน

 

thThai